posttoday

"ซูจี"เยือนไทย ล็อกเป้าแรงงานต่างด้าว

23 มิถุนายน 2559

การเดินทางมาเยือนของซูจีในครั้งนี้ นับว่ามีนัยทางการเมืองอย่างมาก เพราะเป็นการเยือนเพื่อมาพบฐานเสียงสนับสนุนจากแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อแขกวีไอพีของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะเดินทางมาเยือนระหว่างวันที่ 23-25 มิ.ย.นี้ คือ อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา พร้อมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกอบด้วย เต็งส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากร จ่อวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการคลัง และ จ่อติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการต่างประเทศของเมียนมา

การเดินทางมาเยือนของซูจีในครั้งนี้ นับว่ามีนัยทางการเมืองอย่างมาก เพราะเป็นการเยือนเพื่อมาพบฐานเสียงสนับสนุนจากแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาในไทย ที่ให้การสนับสนุนซูจีจนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งที่ผ่านมา 

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. ให้การต้อนรับอย่างมากและยังมีกำหนดจะลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน ความตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน และความตกลงว่าด้วยการข้ามแดน เพื่อประโยชน์ร่วมกันของภาคเอกชนไทยและแรงงานเมียนมาที่ทำงานใน
ไทยด้วย

บัณฑิต แป้นวิเศษ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า ซูจีจะมาเยือนไทยเพราะมีนัยทางการเมืองจากเสียงสนับสนุนแรงงานเมียนมาในประเทศไทย หากจำกันได้ซูจีเคยมาไทยครั้งก่อน ที่มาเยือนตอนนั้นเป็นฝ่ายค้าน ประกาศว่าจะนำแรงงานเมียนมากลับประเทศให้หมด แต่ในความเป็นจริงคงทำไม่ได้แบบนั้น แต่ตอนนี้ซูจีมาในฐานะผู้นำรัฐบาล ย่อมต้องการให้ความหวังแก่ประชาชนของตัวเอง เพราะเป็นการพบกันแบบรัฐต่อรัฐ โดยเฉพาะเรื่องการลดกระบวนการให้แรงงานเมียนมาที่ต้องการงานและเงินในประเทศไทย สามารถเข้าถึงกระบวนการแรงงานถูกกฎหมายได้รวดเร็วและสะดวกได้อย่างไรโดยปราศจากการแสวงหาประโยชน์จากบรรดาบริษัทนายหน้า

“แรงงานต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาตสูงมาก เพราะระบบในเมียนมามีหลายขั้นตอนซ้ำซ้อน กลายเป็นช่องว่างให้พวกบริษัทหาประโยชน์และเอาเปรียบคนงานต่างด้าว” บัณฑิต กล่าว

บัณฑิต กล่าวว่า การมาเยือนของซูจี ย่อมเกิดผลดีต่อสถานการณ์แรงงานต่างด้าวมากขึ้น เพราะจะเกิดการตื่นตัวมากขึ้นในกลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าวย่อมจะดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาเกิดปัญหาสำคัญ 2 เรื่อง ที่ยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร คือ 1.ระบบนายหน้าในประเทศเมียนมา แรงงานที่ต้องการหางานต้องผ่านระบบนายหน้าอยู่เพื่อหางานและพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทาง ทั้งเมื่อออกไปทำงานในประเทศไทยหรือกลับประเทศซึ่งระบบดังกล่าวยังไม่เป็นศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน หรือ วัน สต็อป เซอร์วิส เพราะยังล่าช้าระบบยังแยกย่อยและซ้ำซ้อน จึงก่อให้เกิดช่องโหว่ช่องว่างให้บริษัทนายหน้าหาประโยชน์จากแรงงาน

บัณฑิต กล่าวว่า อีกเรื่องคือความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ระหว่างประเทศเมียนมา ที่ถือเป็นประเทศต้นทางแรงงานกับประเทศไทยที่ถือเป็นประเทศปลายทาง ถือเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหา “เทียร์ 3” ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ไทย ให้สถานะของไทยดีขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาเทียร์ 3 หรือขบวนการค้ามนุษย์ ต้องได้รับความร่วมมือและความรับผิดชอบจากประเทศต้นทางด้วยในการพิสูจน์สถานะ หรือรับรองสัญชาติแรงงาน ระบบต้องรวดเร็วเพราะแรงงานต่างด้าวต้องการงานและเงินจากประเทศปลายทาง คือประเทศไทย ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศต้นและปลายทางไปพร้อมๆ กัน 

ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าขณะนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจภายในประเทศไทยต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวอย่างมาก แต่ยังมีเรื่องสำคัญที่ไทยควรให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนแรงงานต่างด้าว คือ 1.สิทธิแรงงานต่างด้าวกับแรงงานไทยควรจะเท่าเทียมกันทั้งสิทธิ สวัสดิการหรือค่าจ้าง และ 2.ขณะนี้เศรษฐกิจไทยต้องการแรงงานที่มีฝีมือ หรือมีคุณภาพสูงขึ้น ดังนั้นควรมีการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานต่างด้าวด้วย เช่น ควรมีศูนย์ฝึกอบรมภาษาไทย ที่แรงงานต่างด้าวสามารถเรียนฟรีหรือการสนับสนุนการรวมกลุ่มเหมือนกับกลุ่มมอญปากลัด หรือมอญที่อาศัยอยู่บริเวณพระประแดง สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญที่อพยพเข้ามายังประเทศไทย นับว่าเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งอย่างมาก

“ภาครัฐกับนายจ้างต้องให้ความสำคัญกับการดูแลแรงงานต่างด้าว ไม่ใช่ปล่อยให้นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ขณะที่บทบาทและหน้าที่ของภาครัฐเองก็ไม่สนใจ โดยเฉพาะปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ ทั้งการค้าผู้หญิง แรงงานผิดกฎหมาย หรือเด็กขอทาน ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่”

ณรงค์ กล่าวว่า รูปแบบการค้ามนุษย์ในปัจจุบันแบ่งได้ 3 แบบ คือ 1.การค้ามนุษย์เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศ ลักษณะนี้คือการค้ามนุษย์เพื่องานบริการทางเพศ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง หรือเด็ก ซึ่งจะถูกหลอกหรือบังคับให้มาทำงาน โดยมีข้อผูกมัดเรื่องภาระหนี้สิน 2.การค้ามนุษย์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและแรงงาน มักจะมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ การบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ การทำงานในอุตสาหกรรมการเกษตร หรือการทำงานในอุตสาหกรรมประมง เป็นต้น และสุดท้ายคือ 3.การค้ามนุษย์เพื่อให้มาเป็นขอทาน โดยผู้ที่จะตกเป็นเหยื่อในการค้ามนุษย์กลุ่มนี้ มีได้หลากหลายวัยไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้หญิง

พล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กล่าวว่าการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของซูจี ถือเป็นการมาเพื่อมาดูแลประชาชนในประเทศของท่าน ขณะที่ ศปมผ.ในฐานะหน่วยปฏิบัติได้ ทำงานดูแลแรงงานประมงในทะเลหรือแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดการค้ามนุษย์โดยเด็ดขาด โดยเป็นการทำงานร่วมกันกับกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือไอยูยู นับว่าประสบผลสำเร็จในการทำงานอย่างมาก

“ทุกครั้งหรือทันทีที่ท่านซูจีมาเมืองไทยก็จะมุ่งตรงมาที่ จ.สมุทรสาคร เป็นที่แรกทันที เพราะเป็นพื้นที่ที่มีแรงงานชาวเมียนมาพักอาศัยอยู่จำนวนมาก” พล.ร.ท.จุมพล กล่าว