posttoday

สงครามโซเชียลมีเดีย ชี้ขาดประชามติ

21 มิถุนายน 2559

สมรภูมิการต่อสู้ยกใหม่ส่อเค้าเคลื่อนย้ายไปขับเคี่ยวกันในสังคมออนไลน์แถมมีแนวโน้มจะดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ หลัง “ศูนย์ปราบโกงประชามติ”

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สมรภูมิการต่อสู้ยกใหม่ส่อเค้าเคลื่อนย้ายไปขับเคี่ยวกันในสังคมออนไลน์แถมมีแนวโน้มจะดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ หลัง “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มีอันต้องถูกปิดตายก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ

เหตุผลเนื่องมาจาก เข้าข่ายผิดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 3/58 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ แถมยืนยันชัดเจนว่าหากยังฝืนดึงดันดำเนินการต่อจะเอาผิดกับแกนนำ

ทำให้ศูนย์ปราบโกงฯ ในแต่ละจังหวัดที่เริ่มทยอยเปิดตัวไปบ้างแล้วต้องพับแผนและเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหวต่อไป สอดรับกับท่าทีของ จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ที่ประกาศชัดจะเดินหน้าภารกิจของศูนย์ปราบโกงฯ ต่อไปในรูปแบบต่างๆ

คุณปิดศูนย์ปราบโกงประชามติได้ คุณปลดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติได้ แต่ศูนย์ปราบโกงประชามติได้ไปเปิดในหัวใจประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” 

ก่อนทิ้งท้ายว่า จากนี้ขอให้ติดตาม เฟซบุ๊ก “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” ที่เชื่อว่าจะเป็นช่องทางการเคลื่อนไหวของทางกลุ่มนับจากนี้ เนื่องจากเป็นช่องทางที่เปิดกว้างขวาง เข้าถึงประชาชนได้รวดเร็ว และยากจะเข้าไปควบคุมได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของทางกลุ่ม นปช.หรืออาจจะรวมถึงกลุ่มการเมืองกลุ่มด้วย ถูกสกัดไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวใดๆ ที่สุ่มเสี่ยงจะสร้างปัญหา จนอาจกระทบกับเส้นทางตามโรดแมปของ คสช.ที่วางไว้ ด้วยการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือเข้าไปดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

รวมไปถึงมาตรการควบคุมตัวแกนนำ ตลอดจนแนวร่วมหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมาปรับทัศนคติ ตามยุทธศาสตร์ “ตัดไฟแต่ต้นลม” ป้องกันไม่ให้ทุกอย่างบานปลายจนยากเกินกว่าจะควบคุม  

แม้แต่รอบนี้กับการเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ที่เดิมทีได้รับไฟเขียวจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. แถมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังออกมาขานรับเห็นว่ายิ่งมีการร่วมตรวจสอบกับออกเสียงประชามติ ย่อมช่วยทำให้การทำประชามติโปร่งใสและเพิ่มความน่าเชื่อถือ

เดิมที คสช.เชื่อว่าด้วยสถานะของศูนย์ปราบโกงฯ ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เพียงแต่เป็นตัวกลางที่รับเรื่องร้องเรียนการออกเสียงประชามติ และส่งต่อไปยัง กกต.เพื่อพิจารณาชี้ขาด โดยไม่คิดว่าจะสร้างปัญหาในอนาคต

แต่เมื่อประเมินแล้วช่องทางการเคลื่อนไหวของ คสช. นอกจากจะทำให้เจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวังตัวในการลงพื้นที่ชี้แจงประชาชนมากขึ้นแล้ว อีกด้านหนึ่งยังห่วงว่าจะกลายเป็นช่องทางนำไปสู่ความ
ปั่นป่วน และบั่นทอนความน่าเชื่อถือของการออกเสียงประชามติในอนาคตได้

สุดท้ายศูนย์ปราบโกงฯ จึงไม่ได้รับอนุญาตให้เดินหน้าต่อไปได้ แต่ความพยายามตามเจตนารมณ์เดิมยังคงมีอยู่ต่อไป เฟซบุ๊กศูนย์ปราบโกงประชามติจึงถือเป็นช่องทางการรับเรื่องราวการทุจริตที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดต่อจากนี้

ปัญหาส่อเค้ารุนแรงเพราะช่องทางโซเชียลมีเดียยากต่อการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นข้อความจริง ข้อความเท็จ หรือข้อความที่ถูกบิดเบือน ตลอดจนการอาศัยช่องทางนี้ปลุกปั่นยุยงให้เกิดความวุ่นวาย

แม้จะถูกปิดก็สามารถเปิดใหม่ได้รวดเร็ว บางกรณีถึงยากจะเอาผิดได้แต่ก็สามารถสร้างกระแสปลุกปั่นหรือนำไปสู่ความวุ่นวายแบบไม่สามารถเอาผิดได้

คู่ขนานไปกับท่าทีจากฝั่งแกนนำพรรคเพื่อไทย เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้ายังอาศัยช่องว่างที่ปราศจากการควบคุม พร้อมใจกันออกแสดงความเห็นคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งประเมินแล้วนี่น่าจะเป็นเพียงแค่ยกแรกที่จะใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการเคลื่อนไหว

พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. ออกมาชี้แจงว่าสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่มีอะไร การเปิดศูนย์ดังกล่าวในแต่ละจังหวัดและแต่ละอำเภอไม่ได้ แล้วมาเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดีย ก็ไม่ได้นอกเหนือความคาดหมาย เพราะเขาต้องทำเพื่อสร้างกระแสให้เกิดความสนใจในสังคม

ที่สำคัญเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะใน พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีการระบุเจาะจงถึงการเผยแพร่เนื้อหาทางช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไว้แล้ว หากจะเอาผิดจริงๆ ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องยากอยู่ที่การประเมินว่าจะใช้หรือไม่ใช้ เพราะอีกมุมหนึ่งการปิดกั้นแม้กระทั่งโซเชียลมีเดียอาจทำให้เกิดกระแสตีกลับกลายเป็นแรงกระเพื่อมรุนแรง

การใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียนำเสนอข้อมูลหักล้างกันอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าทั้งฝั่งสนับสนุนและต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในช่วงโค้งสุดท้ายนี้จึงน่าจะได้เห็นการต่อสู้กันในสนามไซเบอร์ที่จะดุเดือดยิ่งขึ้นและอาจถึงขั้นเป็นตัวชี้ขาดผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้