posttoday

ยุทธศาสตร์งบสมดุล 5 ปี เพิ่มดีกรีการแข่งขันสนองรัฐสวัสดิการ

11 สิงหาคม 2553

กระทรวงการคลังถือฤกษ์ดี ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับปลัดกระทรวง ที่กระทรวงการคลัง จรดปลายปากกาลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับสำนักงบประมาณจัดทำงบประมาณให้สมดุลภายใน 5 ปี เพื่อสร้างยุทธศาสตร์การคลังยั่งยืนเพื่อเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง

กระทรวงการคลังถือฤกษ์ดี ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับปลัดกระทรวง ที่กระทรวงการคลัง จรดปลายปากกาลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับสำนักงบประมาณจัดทำงบประมาณให้สมดุลภายใน 5 ปี เพื่อสร้างยุทธศาสตร์การคลังยั่งยืนเพื่อเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง

โดย.......ทีมข่าวการเงิน

 

ยุทธศาสตร์งบสมดุล 5 ปี เพิ่มดีกรีการแข่งขันสนองรัฐสวัสดิการ

การถือโอกาสให้นายกรัฐมนตรีเป็นสักขีพยาน เป้าหมายแรกเพื่อประกาศเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล ในการสร้างยุทธศาสตร์ทางด้านการคลังกับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้เดินไปในทิศทางเดียวกันสร้างยุทธศาสตร์ประเทศ

เป้าหมายที่สอง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นการเงินการคลัง ที่กำลังถูกโหมวิจารณ์จากนักวิชาการ และฝ่ายค้าน ในการใช้เงินจำนวนมหาศาลจ่ายแจกสร้างรัฐสวัสดิการ แทนนโยบายประชานิยมของรัฐบาลขั้วอำนาจเก่า

เป้าหมายที่สาม เพื่อรองรับแผนการลงทุนของรัฐบาลที่เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการลงทุนรถไฟความเร็วสูงจากหนองคายนราธิวาส โคราชแหลมฉบัง กรุงเทพฯภาคตะวันตก เพื่อลดต้นทุนในการเดินทางการขนส่งที่เป็นต้นทุนค่อนข้างสูงถึง 30% ให้ลดลงมาอยู่ในระดับที่แข่งขันกับต่างประเทศได้

เป้าหมายที่สี่ เพื่อเป็นเข็มทิศในการกำกับการหารายได้ของกระทรวงการคลังให้สอดรับกับแผนการใช้จ่ายของรัฐบาลในแต่ละปี

การออกมาการันตีของนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ว่า การเซ็นเอ็มโอยูดังกล่าวมีเป้าหมายที่ต้องการให้ทุกคนรับรู้ใน 3 เรื่องด้วยกัน คือ เพื่อสะท้อนความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะบริหารประเทศด้วยความยั่งยืนและมั่นคงทางการคลัง

เรื่องที่สอง ให้ประชาชนมั่นใจว่า รัฐบาลมีเงินพอที่จะดูแลสวัสดิการด้านต่างๆ ยังเพียงพอ ไม่ว่ารัฐบาลจะมีงบประมาณขาดดุล หรือสมดุล ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นโครงการเบี้ยยังชีพคนชราเดือนละ 500 บาท โครงการเรียนฟรี 15 ปี การประกันรายได้เกษตรกร การรักษาพยาบาลฟรี จะต้องเดินหน้าเป็นโครงการถาวรต่อไป ไม่มีวันล้มเลิก

แม้ว่าจะต้องใช้เงินจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นทุกปีก็จะมีเงินมารองรับตามยุทธศาสตร์ที่ลงนามกันไว้

เรื่องที่สาม ต้องการยืนยันว่าการจัดงบ ประมาณของรัฐบาลต่อไปจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเหลื่อมล้ำในสังคม ลดปัญหารวยกระจุก จนกระจาย ดูแลผู้ด้อยโอกาสเป็นสำคัญ

จะเห็นได้ว่า เป้าหมายของการลงนามเอ็มโอยูในยุทธศาสตร์การคลังไทยเข้มแข็งคราวนี้ เป็นการป้องจุดอ่อนของรัฐบาลเรื่องการใช้เงินสร้างรัฐสวัสดิการจำนวนมาก จนอาจทำให้ภาระทางการคลังมีปัญหาในระยะยาว

ขณะเดียวกัน ก็เป็นการตอกย้ำจุดยืนว่ารัฐบาลจะเดินหน้านโยบายรัฐสวัสดิการต่อไป โดยมีเหตุผลการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมาเป็นกันชน

ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่ตามมาหลังจากมีการลงนามเอ็มโอยู คือ ผูกมัดสำนักงบประมาณที่อยู่นอกเหนืออำนาจกระทรวงการคลังให้ดำเนินการจัดงบประมาณประจำปีให้สนองตอบต่อยุทธศาสตร์ที่ตกลงกันไว้
มิใช่จัดสรรตามคำขอของรัฐมนตรีรายกระทรวงที่ต่างคนต่างทำอีกต่อไป

แต่ต่อไปหลังจากนี้ การจัดทำงบจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้

ส่วนการดึงภาระดอกเบี้ยเงินกู้ออกมาปีละ 1.8 แสนล้านบาทนั้น ก็เพื่อลดแรงกดดันในการหารายได้ของหน่วยงานจัดเก็บรายได้ลง ไม่ต้องพะวงว่าหามาเท่าไหร่ก็เอาไปจ่ายเงินกู้หมด

ด้วยโจทย์ง่ายๆ นำตัวเลขเฉพาะรายได้กับรายจ่ายที่ไม่รวมภาระดอกเบี้ยจ่ายเงินกู้มาวางเรียงกันแล้วหักกลบลบหนี้กับรัฐสวัสดิการแล้วรัฐบาลเท่าทุนพอดี

แม้ใครจะเห็นว่าเป็นการสมดุลในแง่ของเทคนิคที่มีการตัดต่อพันธุกรรมก็ดีกว่าไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์การคลังและงบประมาณของประเทศ

หากไม่มีการตีกรอบยุทธศาสตร์การคลังประเทศแล้วไซร้ การที่รัฐบาลสร้างรัฐสวัสดิการจำนวนมากอาจเป็นการสร้างภาระกับงบประมาณจำนวนมหาศาล

มองไปข้างหน้า อาจต้องกินเวลาถึง 15 ปี ที่ประเทศอาจต้องแบกงบประมาณแบบขาดดุล ที่อาจถือว่าเป็นความเสี่ยงทางการคลังอย่างมาก

แต่หากกำหนดยุทธศาสตร์ผูกมัดไว้ว่าจะทำงบประมาณเข้าสู่สมดุลภายใน 5 ปี ก็ยังอยู่ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงที่รับมือได้ไม่ว่าจะเศรษฐกิจโลกจะอ่อนแอ การส่งออกทรุดตัวลง หรือปัญหาการเมืองที่ยังร้อนเป็นไฟพร้อมจะลุกโชนได้ทุกเมื่อ

ความท้าทายของยุทธศาสตร์การคลังไทยเข้มแข็ง ว่าจะตั้งงบสมดุล 5 ปี จึงถือว่าท้าทายต่อการบริหารจัดการแผนปฏิบัติการหลังจากนี้ไป

เพราะยุทธศาสตร์นี้ยังอยู่ภายใต้ที่ไม่มีการปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งถือว่าเป็นข้อจำกัดของการทำงบสมดุล ดังนั้นทีมจัดเก็บรายได้จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับงบประมาณรายจ่ายที่เร่งตัวขึ้นอย่างมาก จากงบรายจ่ายประจำ และงบลงทุน งบสร้างรัฐสวัสดิการจำนวนมหาศาลอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญหลังจากการลงนามเอ็มโอยู ปัญหาใหญ่ที่ตามมาก็ถือว่าจะผลักดันให้ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้อย่างไร ถ้าไม่มีการสานต่อจริงจังก็ปิดประตูไปถึงเป้าหมายได้เลย

คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีส่วนผสมจากฝ่ายการเมืองไปนั่งเป็นกรรมการอยู่ด้วย เพื่อให้การผลักดันแผนปฏิบัติการจึงเป็นหัวใจสำคัญในการทำให้การนำนโยบายไปปฏิบัติสัมฤทธิผล

ภารกิจของคณะกรรมการจึงเป็นงานหิน กรรมการต้องอาศัยความกล้าหาญในการตัดสินใจที่ต้องอยู่ระดับเกินร้อย ไม่ว่าจะเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ควบคุมหนี้สาธารณะ และการสรรหานวัตกรรมเพื่อมาลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล

ลำพังลดรายจ่าย ก็ต้องบอกว่ากลืนไม่เข้าคายไม่ออก ในภาวะที่งบประมาณรายจ่ายประจำขยายตัว การรัดเข็มขัดก็จะทำให้เสียคะแนนเสียงทางการเมือง

ขณะที่รายจ่ายจากการดำเนินนโยบาย ยิ่งนานวันก็ยิ่งมากขึ้น ทั้งที่ทำไปแล้ว และที่จะต้องทำใหม่ขึ้นมาเพิ่ม จะตัดทอนก็จะทำให้รัฐบาลเสียหาย เพราะได้สร้างความหวังกับประชาชนไว้แล้ว

เรื่องภาษีก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องตัดสินใจว่าจะขยายฐานภาษี หรือเพิ่มในแง่ของปริมาณ

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขึงไว้ 7% อาจจำเป็นต้องปรับเป็น 10% ภาษีนิติบุคคลที่เรียกเก็บตั้งแต่ 10% จนถึง 37% อาจถึงคราต้องปรับปรุงเพื่อมิให้จนกระจายรวยกระจุกเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

การบริหารหนี้ของประเทศ อาจต้องปรับปรุงเพิ่มศักยภาพให้มากกว่านี้ หนี้ก้อนโตของกองทุนฟื้นฟูเพื่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.1 ล้านล้านบาท ที่สร้างภาระให้กับงบประมาณปีละ 6 หมื่นล้านบาท อาจต้องมีการสังคายนากันอีกครา

นวัตกรรมทางการลงทุนที่หลากหลายอาจต้องมีการออกแบบกันมากขึ้น เพื่อลดภาระงบประมาณ เปิดทางให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน

นี่คือความท้าทายในการสรรค์สร้างให้ยุทธศาสตร์การคลังไทยเข้มแข็งที่อาจทำให้รัฐบาลได้และเสียคะแนน

หากทำแล้วล้มเหลวอาจจะเสียหน้าเสียเครดิต แต่ถ้าทำได้ก็เท่ากับว่ารัฐบาลนี้ได้สร้างมิติทางยุทธศาสตร์การคลังให้เกิดขึ้นในประเทศนี้

ขณะเดียวกัน ก็ได้สร้างทิศทางการขับเคลื่อนด้านงบประมาณและการคลังของประเทศให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำโดยไร้ซึ่งเป้าหมายอีกต่อไป...