posttoday

ประชามติ-เศรษฐกิจ ปมชี้ชะตาคสช.

24 พฤษภาคม 2559

ย้อนกลับไปช่วงเวลานี้ เมื่อ 2 ปีที่แล้วประเทศไทยกำลังอยู่ในอารมณ์คุกรุ่นและวุ่นอยู่กับการจัดระเบียบต่างๆ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ย้อนกลับไปช่วงเวลานี้ เมื่อ 2 ปีที่แล้วประเทศไทยกำลังอยู่ในอารมณ์คุกรุ่นและวุ่นอยู่กับการจัดระเบียบต่างๆ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น นำผู้เหล่าทัพต่างๆ เข้ามาทำการยึดอำนาจจากรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เวลานั้นสื่อมวลชนโดยเฉพาะวิทยุโทรทัศน์ได้รับการผ่อนคลายจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สามารถออกอากาศได้ตามปกติ ยกเว้นช่องทีวีการเมืองของกลุ่มสีเสื้อต่างๆ ที่ยังถูกเข้มและไม่ให้ออกอากาศ เพราะ คสช.เองเกรงว่าจะเป็นช่องทางในการสร้างความยั่วยุและปลุกปั่นอีกครั้ง

ไม่เพียงเท่านี้ ยังเป็นช่วงเวลาที่ คสช.กำลังไล่ล่ากองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ต่างจังหวัดโดยเฉพาะ จ.ขอนแก่น ซึ่งถูกเพ่งเล็งค่อนข้างหนัก ก่อนที่จะมีการเรียกว่า “ขอนแก่นโมเดล” ในเวลาต่อมา พร้อมกับเชิญตัวนักการเมืองฝ่ายพรรคเพื่อไทยเข้ามารายงานและทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงบางส่วนเข้าประจำการที่สำนักนายกรัฐมนตรี

เมื่อทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยระดับหนึ่ง จึงนำมาสู่การประกาศโรดแมปของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีสาระสำคัญ คือ การปฏิรูปประเทศก่อนคืนอำนาจให้กับประชาชนผ่านการเลือกตั้งในปี 2560

ผลการสำรวจความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับผลงานของ คสช.ในช่วงเดือนแรก (อ้างอิงจากสวนดุสิตโพล เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2557) ระบุชัดเจนว่า 72.79% คสช.ช่วยให้บ้านเมืองดีขึ้น สงบสุข ไม่วุ่นวาย ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ส่วนจุดเด่น คือ การใช้อำนาจอย่างเหมาะสม ทำงานรวดเร็ว เด็ดขาด โดยเฉพาะการจ่ายเงินจำนำข้าว โดยมี 50.84% บอกว่ามีความพึงพอใจกับการทำงานของ คสช.เป็นอย่างมาก

จากวันนั้นมาถึงวันนี้ ผ่านมา 2 ปี แม้ คสช.จะสอบผ่านไปได้ในหลายเรื่อง แต่นับจากนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งปี 2560 กำลังเกิดคำถามว่า คสช.จะลงหลังเสือได้อย่างสง่างามหรือไม่ ซึ่งมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน

ปัจจัยแรก การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 7 ส.ค. ปฏิเสธไม่ได้ว่าการประชามติครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการชี้ชะตาร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่หมายถึงการตัดสินความชอบธรรมของ คสช.ด้วย

ที่ผ่านมา แม่น้ำ 5 สาย พยายามจะสร้างคำอธิบายว่า การประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่การตัดสิน คสช. แต่เป็นแค่การหาบทสรุปว่า ประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น แต่เมื่อ คสช.ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดและเป็นผู้ก่อตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ย่อมปฏิเสธความเชื่อมโยงไปไม่ได้

ในสถานการณ์เช่นนี้ หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ คสช.ย่อมได้รับความดีความชอบส่วนหนึ่งด้วย เหนืออื่นใดเงื่อนไขของฝั่งตรงข้ามในการต่อต้าน คสช.อาจจะลดลงในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่ คสช.และแม่น้ำอีก 4 สาย จะเดินหน้าทำภารกิจที่เหลือให้เสร็จสิ้นเพื่อนำประเทศสู่การเลือกตั้ง เช่น การจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ และกฎหมายอื่นๆ เพื่อก่อร่างสร้างการปฏิรูปประเทศ เป็นต้น

ตรงกันข้าม ถ้าผลการประชามติไม่ได้เป็นอย่างที่ คสช.คาดหมาย แน่นอนว่าฝ่ายตรงข้ามจะอาศัยเหตุของการที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติมาสร้างเป็นเงื่อนไขเพื่อกดดันให้ คสช.ต้องรับผิดชอบ

แม้ คสช.จะมีอำนาจเพื่อจะเดินหน้าจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่ 3 แต่เมื่อถึงเวลานั้นอาจไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เพราะบรรยากาศย่อมไม่เอื้อต่อการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญเท่าไหร่นัก

จึงอย่าได้แปลกใจว่า ทำไมแม่น้ำ 5 สาย ถึงระดมทรัพยากรเพื่อการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้อย่างเต็มที่

ศึกการทำประชามติที่ว่าหนักแล้ว แต่ยังไม่อาจเท่ากับปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความชอบธรรมของ คสช.ยิ่งกว่าผลของประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนของ “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุชัดเจนว่า 2 ปีกับการทำงานของ คสช. ไม่ได้ทำให้ความสุขของประชาชนเพิ่มขึ้น เพราะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

ขณะเดียวกัน ยังเห็นว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของ คสช.ยังไม่ช่วยทำให้ประชาชนมีความสุข โดยมีจุดเด่นที่เป็นผลงานของ คสช.ที่ประชาชนยอมรับ คือ การทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ลำพังการสร้างความสงบสุขให้ประเทศ ยังไม่น่าจะเพียงพอกับการช่วยให้ คสช.อยู่รอดไปได้ในช่วงเวลาที่ตัวเองเหลืออยู่

ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ประชาชนส่วนหนึ่งอาจเพิกเฉยกับผลที่เกิดขึ้น แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะช่วยให้คนส่วนใหญ่ของประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ถึงเวลานั้น คสช.อาจจะอยู่ได้ด้วยอำนาจทางการเมืองและกฎหมาย แต่ความชอบธรรมจะมีเหลือพอหรือไม่ ยังคงเป็นคำถามที่ท้าทาย คสช.ในอนาคต