posttoday

ตลาดสมาร์ทโฟนแข่งดุ จีนเปรี้ยง-โนเกียคืนชีพ

21 พฤษภาคม 2559

ข่าวหน้า 1 ตามเว็บไซต์การลงทุนเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา คือ ข่าวคราวการเข้าซื้อหุ้นของแอปเปิ้ล อิงค์ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์

โดย...ชญานิศ ส่งเสริมสวัสดิ์

ข่าวหน้า 1 ตามเว็บไซต์การลงทุนเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา คือ ข่าวคราวการเข้าซื้อหุ้นของแอปเปิ้ล อิงค์ ผู้ผลิตเทคโนโลยีและสมาร์ทโฟนชื่อดัง “ไอโฟน” ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เจ้าพ่อวงการตลาดหลักทรัพย์ และประธานเบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ บริษัทที่ลงทุนในสหรัฐ เป็นมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.5 หมื่นล้านบาท) ทำให้ในวันเดียวกัน มูลค่าตลาดของแอปเปิ้ลก็ปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่มากกว่า 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6.39 แสนล้านบาท)

การเข้าซื้อหุ้นของเจ้าพ่อวงการตลาดหลักทรัพย์ ทำให้บรรดานักลงทุนและนักวิเคราะห์ต่างมองว่า การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งคาดกันว่าจะเป็น “ไอโฟน 7” ของแอปเปิ้ลจะต้องอลังการอย่างมาก สวนทางกับรายงานก่อนหน้านี้ ระบุว่า ส่วนแบ่งการตลาดของแอปเปิ้ลและซัมซุง คู่แข่งจากเกาหลีใต้กำลังลดลง

จากข้อมูลของการ์ทเนอร์ อิงค์ บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยสัญชาติอเมริกัน ระบุว่า แอปเปิ้ลขายไอโฟนไปทั้งหมด 51.6 ล้านเครื่อง ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา และได้ส่วนแบ่งการตลาดทั้งหมด 14.8% อย่างไรก็ตามยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดดังกล่าวกลับลดลงจาก 60.2 ล้านเครื่อง และส่วนแบ่งการตลาดที่ 17.9% ในไตรมาสแรกของปี 2015

ขณะเดียวกัน ส่วนแบ่งการตลาดของซัมซุง เจ้าตลาดสมาร์ทโฟนอันดับ 1 ปรับตัวลดลงมากจาก 24.1% ในไตรมาสแรกปี 2015 เหลือ 23.2% ในไตรมาสที่ผ่านมา แม้ยอดขายจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 81.2 ล้านเครื่อง

คู่แข่งจากจีนมาแรงกดดันเจ้าตลาด

หนังสือพิมพ์นิกเกอิ เปิดเผยรายงานว่า เจ้าตลาดอันดับ 1 และอันดับ 2 อย่างซัมซุงและแอปเปิ้ล กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากคู่แข่งอย่างผู้ผลิตจีน ซึ่งสามารถเจาะตลาดเกิดใหม่ได้ในราคาที่ถูกกว่า และยังกระทบกับผู้ผลิตรายอื่นในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐ เช่น แอลจี และโซนี่

นิกเกอิร่วมกับไอเอชเอส เทคโนโลยี บริษัทวิจัยในสหรัฐ คาดการณ์ว่า ยอดขายของหัวเหว่ย บริษัทเทคโนโลยีจากจีน คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 20-30% เป็น 130 ล้านเครื่อง ในปี 2016 นี้ ในขณะที่ผู้ผลิตหลักของจีนทั้ง 10 แห่ง ซึ่งรวมถึงเสี่ยวหมี่และเลอโนโว คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 15% เป็น 550 ล้านเครื่อง เทียบเท่ากับยอดขายทั้งปีของซัมซุงและแอปเปิ้ลรวมกัน

ในขณะที่รายได้ของแอปเปิ้ลในไตรมาสแรกจะปรับตัวลงไป 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 3.29 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.1 ล้านล้านบาท) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ รวมถึงยอดขายยังร่วงลง คู่แข่งในประเทศจีนกลับกำลังเติบโตขึ้น โดยในไตรมาสแรกหัวเหว่ยทำยอดขายเพิ่มขึ้น 18.1 ล้านเครื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“ในตลาดสมาร์ทโฟนเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งบรรดาผู้ผลิตรายใหญ่ต่างประสบปัญหาการขยายตัว แบรนด์จากตลาดเกิดใหม่กำลังรบกวนโมเดลทางธุรกิจที่แบรนด์เดิมใช้มาโดยตลอดเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด” อันชุล กุปตา ผู้อำนวยการวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าว

ตลาดจีนนับเป็นตลาดที่สำคัญของแอปเปิ้ล และผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายอื่นๆ โดยข้อมูลจาก สเตรทจี อานาไลติกส์ บริษัทวิจัยข้อมูลตลาดเทคโนโลยี ระบุว่า แม้จีนจะประสบกับเศรษฐกิจชะลอตัว แต่จีนก็ยังคงเจ้าตลาดสมาร์ทโฟนที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็น 1 ใน 3 ของโลก จากยอดขายสมาร์ทโฟนในไตรมาสแรกทั้งหมด 334.6 ล้านเครื่อง และหัวเหว่ยก็ยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ที่ 16% ตามมาด้วย ออปโป้ อีกหนึ่งผู้ผลิตมาแรงจากจีน

“มุ่งแบรนด์” โนเกียหวนคืนตลาด

ปี 2013 ไมโครซอฟท์ เข้าซื้อโนเกีย ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือสัญชาติฟินแลนด์ที่เคยครองบัลลังก์เจ้าตลาด ด้วยมูลค่า 7,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.52 แสนล้านบาท) หลังจากที่โนเกียเสียแชมป์โทรศัพท์มือถือในปี 2012 หลังจากครองมายาวนานตั้งแต่ปี 1997 เนื่องจากไม่อาจปรับตัวทันกับยุคสมาร์ทโฟนและการมาของไอโฟนได้ สร้างความตื่นตะลึงให้แก่วงการเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นอย่างมาก

เว็บไซต์ข่าวสารเทคโนโลยี เทคครัช เรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็น “จุดสิ้นสุดยุคของโนเกีย” โดยหลังจากนั้นไม่นาน ไมโครซอฟท์ดึงพนักงานทั้งหมด 3.2 หมื่นคน ให้เข้ามาอยู่ใต้หลังคาของไมโครซอฟท์ ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อสมาร์ทโฟน โนเกีย ลูเมีย เป็น ไมโครซอฟท์ ลูเมีย ในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม โนเกียกำลังหวนกลับคืนสู่ตลาดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตอีกครั้ง หลังไมโครซอฟท์ตกลงขายธุรกิจมือถือให้กับ เอชเอ็มดี โกลบอล บริษัทเทคโนโลยีฟินแลนด์ ซึ่งร่วมมือกับฟ็อกซ์คอนน์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนจากไต้หวัน ด้วยมูลค่า 350 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.2 หมื่นล้านบาท) โดยแม้สิทธิบัตรการผลิตของโนเกียจะอยู่ที่เอชเอ็มดี แต่การผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจะเป็นการผลิตภายใต้แบรนด์ของโนเกีย

ดังนั้น ตลาดสมาร์ทโฟนจะได้เห็นโทรศัพท์ที่ปักยี่ห้อ “โนเกีย” กลับมาอย่างแน่นอน โดยจากข้อมูลของการ์ทเนอร์ สถานการณ์ของยอดขายสมาร์ทโฟนของไมโครซอฟท์ร่วงลงจาก 8.3 ล้านเครื่อง เหลือเพียง 2.4 ล้านเครื่อง ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกร่วงลงจาก 2.5% เหลือ 0.7% เท่านั้น

“ภาพลักษณ์ของตราสินค้าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะสร้างความแตกต่างในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งโมเดลธุรกิจของเราจะให้ความสนใจกับสินทรัพย์อันมีเอกลักษณ์ของตราสินค้าโนเกียเป็นหลัก” อาร์โต นัมเมอลา ประธานบริหาร (ซีอีโอ) เอชเอ็มดี กล่าว