posttoday

จีนรับแก้เหล็กล้นไม่ง่ายผู้ผลิตเข้าตลาดใหม่หลังราคาพุ่ง

17 พฤษภาคม 2559

ทางการจีนพยายามแก้ปัญหาการผลิตเกินในอุตสาหกรรมเหล็กด้วยการปรับลดกำลังการผลิตให้ได้ 150 ล้านตัน จากกำลังการผลิตทั้งหมดปีละราว 1,000 ล้านตัน ให้ได้ภายใน 5 ปี

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ทางการจีนพยายามแก้ปัญหาการผลิตเกินในอุตสาหกรรมเหล็กด้วยการปรับลดกำลังการผลิตให้ได้ 150 ล้านตัน จากกำลังการผลิตทั้งหมดปีละราว 1,000 ล้านตัน ให้ได้ภายใน 5 ปี ท่ามกลางการกดดันจากนานาชาติที่อุตสาหกรรมเหล็กย่ำแย่จากผลผลิตล้นตลาดกดดันราคาตก

ซินโกวบิน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเหล็กจีน เปิดเผยว่า การผลิตเกินในภาคส่วนอุตสาหกรรมเหล็กของจีนยังคงไม่ปรับตัวลดลง โดยราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปลายปี 2015 ที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นผลมาจากการผลิตที่ลดลง และยังคงไม่มีความคืบหน้าในเรื่องการลดการผลิตส่วนเกิน

มายสตีล เว็บไซต์ข่าวสารอุตสาหกรรมเหล็ก เปิดเผยว่า ปริมาณเหล็กคงคลังทางภาคตะวันออกของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 2 หมื่นตัน นับตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นการผลิตเกินของจีน

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์ส ระบุว่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างกังวลอุตสาหกรรมเหล็กของจีนกลับมาเปิดโรงงานอีกครั้งหลังจากราคาเหล็กดีขึ้น แม้จะต้องเผชิญกับคุณสมบัติของทางการที่จำกัดการกลับมาเปิดโรงงานให้ได้ตามมาตรฐานอีกครั้ง โดย หลิวเจินเจียง เลขาธิการทั่วไปสมาคมเหล็กและแร่เหล็กจีน ระบุว่า การลดกำลังการผลิตนั้นสำคัญ แต่การควบคุมผลผลิตนั้นสำคัญยิ่งกว่า

ผู้ผลิตตบเท้ากลับตลาดหลังราคาขึ้น

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ เปิดเผยว่า ไฮซี สตีล อุตสาหกรรมเหล็กของจีนซึ่งเคยหยุดโรงงานผลิตเหล็กไปเมื่อปี 2014 กลับมาผลิตเหล็กอีกครั้ง และเป็นผู้นำกระแสการหวนกลับสู่อุตสาหกรรมเหล็ก โดย ไฮซี สตีล มีศักยภาพได้ถึงครึ่งหนึ่งของการผลิตเหล็กทั้งหมดของสหราชอาณาจักร

การกลับมาผลิตเหล็กอีกครั้งเป็นผลมาจากราคาเหล็กที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 20% ในราคาเหล็กซื้อขายล่วงหน้า ส่วนราคาเหล็กเส้นซื้อขายทันทีของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 400 หยวน ตลอดเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ไปอยู่ที่ 2,871 หยวน/ตัน ก่อนที่จะปรับตัวลดลงเหลือ 2,200 หยวน/ตันอีกครั้ง หลังรัฐบาลจีนพยายามปราบการเก็งกำไร

ไฟแนนเชียล ไทมส์ ระบุว่า ไฮซี สตีล ไม่ใช่เจ้าแรกที่กลับมาผลิต โดยจากข้อมูลของสมาคมเหล็กและแร่เหล็กจีน ระบุว่า การผลิตของจีนในเดือน มี.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกในรอบ 14 เดือน อยู่ที่ 71 ล้านตัน ขณะที่การคำนวณของ รอยเตอร์ส การผลิตเฉลี่ยของจีนเมื่อเดือน มี.ค.อยู่ที่วันละ 2.314 ล้านตัน ก่อนจะลดลงในเดือน เม.ย.อยู่ที่เฉลี่ยวันละ 2.279 ล้านตัน

ราคาเหล็กที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การขาดทุนในอุตสาหกรรมจีนปรับลดตามลงไปด้วย จากข้อมูลของสมาคมเหล็กและแร่เหล็กจีน การขาดทุนปรับลดลงเป็น 8,750 ล้านหยวน (ราว 4.6 หมื่นล้านบาท) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2016 ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับทั้งปี 2015 ที่ขาดทุน 6.45 หมื่นล้านหยวน (ราว 3.41 แสนล้านบาท)

ดีมานด์เหล็กจีนพุ่งรัฐทุ่มโครงสร้างพื้นฐาน

แมคไควรี ผู้ให้บริการทางการเงินจากออสเตรเลีย เปิดเผยว่า จากการสำรวจผู้ผลิตเหล็กในจีน พบความต้องการเหล็กจีนยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของจีนและการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นยังปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะจุดสูงสุดตั้งแต่ปี 2013 อีกด้วย

สอดคล้องกับ คริส เวสตัน หัวหน้านักกลยุทธ์ของไอจี แอลทีอี ในเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ระบุว่า ราคาเหล็กที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากความต้องการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งขับเคลื่อนจากการที่รัฐบาลจีนขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาเหล็กเส้นนั้นดีกว่าแร่เหล็กในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ด้านอีโคโนมิกส์ อินฟอร์เมชั่น เดลี สื่อของรัฐบาลจีน เปิดเผยว่า รัฐบาลจะผ่อนปรนคุณสมบัติสำหรับเมืองในการสร้างทางรถไฟใต้ดิน โดยปรับลดจากข้อจำกัดเดิมที่ต้องมีประชากรมากกว่า 3 ล้านคน และมีรายได้เฉลี่ยต่อปีมากกว่า 1 หมื่นล้านหยวน (ราว 5.3 แสนล้านบาท) เหลือแค่ประชากรเพียง 1.5 ล้านคน ก็สามารถสร้างทางรถไฟใต้ดินได้

ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีคมนาคมของจีน ระบุว่า จีนจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น 4.7 ล้านล้านหยวน (ราว 24 ล้านล้านบาท) ภายในระยะเวลา 3 ปี  ขณะที่รอยเตอร์ส ระบุว่า การผ่อนปรนดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงจีนยังคงพึ่งพาการลงทุนในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งสร้างความเสี่ยงให้ปริมาณหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก

เหล็กล้นตลาดญี่ปุ่นหันควบกิจการ

นิปปอน สตีล แอนด์ ซูมิโตโม เมทัล คอร์ป ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ประกาศเตรียมเข้าซื้อหุ้นของนิสชิน สตีล ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 4 ในญี่ปุ่น ทั้งหมด 51% โดยแบ่งออกเป็นการเสนอซื้อหลักทรัพย์ 46.6 ล้านหุ้น และการซื้อหลักทรัพย์ใหม่ 95.7 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1,620 เยน ซึ่งแพงกว่าราคาปิดตลาดของนิสชินเมื่อวันศุกร์ถึง 12%

ทั้งสองบริษัทออกแถลงการณ์ ระบุว่า การชะลอตัวของจีนส่งผลให้ผลผลิตล้นตลาดราว 400 ล้านตัน/ปี โดย 100 ล้านตันจากทั้งหมดในนั้น เป็นผลมาจากการผลิตเกิน ซึ่งปริมาณ 100 ล้านตัน เท่ากับการผลิตเหล็กทั้งหมดของญี่ปุ่นในรอบ 1 ปี และยังส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ

ทั้งนี้ การส่งออกเหล็กจีนปรับขึ้น 4.1% เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ตามหลังการปรับตัวเพิ่มขึ้น 30% ในเดือน มี.ค.

ภาพเอเอฟพี