posttoday

‘ซันเอดิสัน’ ล้ม ไม่สะเทือนพลังงานสะอาด

14 พฤษภาคม 2559

ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความไม่ยั่งยืนของการใช้พลังงานฟอสซิล

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความไม่ยั่งยืนของการใช้พลังงานฟอสซิล ส่งผลให้ความต้องการพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ซันเอดิสัน บริษัทพลังงานทดแทนรายใหญ่ที่สุดของโลกกลับเพิ่งยื่นขออำนาจศาลคุ้มครองการล้มละลายไปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา รวมถึงยังประกาศจะถอนตัวออกจากตลาดหุ้น โดยมีผลในวันที่ 17 พ.ค.ที่จะถึงนี้

การประกาศของซันเอดิสัน เกิดขึ้นท่ามกลางโลกที่พยายามผลักดันทำตามข้อตกลงสภาพอากาศที่กรุงปารีส (คอป 21) ให้ลดอุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมให้เหลือมากที่สุด 1.5 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม การล้มลงของซันเอดิสันไม่ได้เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนทั้งหมด

ซื้อกิจการมากเกินจนขาดสภาพคล่อง

ซันเอดิสันในปัจจุบันเริ่มต้นมาจากบริษัทเอ็มอีเอ็มซี อิเล็กทรอนิกส์ แมทีเรียล ธุรกิจสารกึ่งตัวนำในสหรัฐ ที่เดินหน้าเข้าสู่ตลาดพลังงานสะอาดในปี 2006 ก่อนที่จะซื้อซันเอดิสัน ซึ่งเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพในขณะนั้น ด้วยมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2009 จนกระทั่งปี 2013 บริษัทแม่อย่างเอ็มอีเอ็มซี ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ซันเอดิสัน และขายธุรกิจสารกึ่งตัวนำทิ้งในปี 2015 เพื่อรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดอย่างเต็มตัว

ซันเอดิสัน ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงเดินหน้าควบรวมกิจการพลังงานแสดงอาทิตย์ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กเข้ามาในเครือ เช่น การซื้อเฟิร์สวินด์ ธุรกิจพลังงานลมในสหรัฐ ด้วยมูลค่า 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 8.4 หมื่นล้านบาท) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการซื้อกิจการที่ใหญ่ที่สุดของปี 2014

อย่างไรก็ตาม ในปี 2015 ซันเอดิสันเดินมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อซันเอดิสันประกาศจะเข้าซื้อวิวินท์ โซลาร์ บริษัทผู้ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง ด้วยมูลค่า 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 7.7 หมื่นล้านบาท) ขณะนั้นซันเอดิสันเริ่มประสบกับปัญหาสภาพคล่องอยู่แล้วจากการเข้าซื้อใหญ่หลายครั้งติดต่อกัน โดยซันเอดิสันมีสินทรัพย์ทั้งหมด 2.07 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 7.24 แสนล้านบาท) แต่กลับมีหนี้สินมากถึง 1.61 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.35 แสนล้านบาท) เมื่อ 30 ก.ย. 2015

การประกาศจะเข้าซื้อวิวินท์เริ่มทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลจะไม่ได้รับผลตอบแทนจนถอนทุนออกจากหุ้นของซันเอดิสัน ซึ่งเคยมีมูลค่าตลาดสูงเกือบ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.5 แสนล้านบาท) โดยหุ้นของซันเอดิสันร่วงลงจาก 32 เหรียญสหรัฐเมื่อปี 2015 เหลือแค่ 34 เซนต์ เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

‘ซันเอดิสัน’ ล้ม ไม่สะเทือนพลังงานสะอาด

 

พลังงานสะอาดยังไปได้อยู่

การล้มลงของซันเอดิสันสะเทือนความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมธุรกิจพลังงานสะอาดที่ได้รับการยกย่องเป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในอนาคต อย่างไรก็ตาม เจซัน บอร์ดอฟ กรรมการศูนย์นโยบายพลังงานโลกของมหาวิทยาลัยโคลอมเบีย เปิดเผยว่า ธุรกิจดังกล่าวยังสามารถทำกำไรได้

“พวกเรายังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าโมเดลธุรกิจแบบไหนจะชนะ แบบไหนจะแพ้” บอร์ดอฟฟ์ กล่าว

ทั่วโลกกำลังลงทุนพลังงานสะอาดมากขึ้น จากข้อมูลของสหประชาชาติ พบว่า การลงทุนในพลังงานเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.66 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 9.3 ล้านล้านบาท) ทำสถิติใหม่ และมากกว่าการลงทุนในก๊าซและถ่านหินที่ 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.5 ล้านล้านบาท) ถึง 2 เท่า 

ไม่เฉพาะกับสหรัฐที่ให้แรงจูงใจทางภาษีในการลงทุนและใช้พลังงานสะอาด แต่จีนประเทศที่ประสบกับปัญหามลพิษมากที่สุดประเทศหนึ่งก็กำลังทุ่มทุนลงทุนพลังงานสะอาดด้วยเช่นเดียวกัน โดยจีนตั้งเป้าจะเพิ่มพลังงานสำรองและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บพลังงานสำรองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานสะอาด

ขณะเดียวกัน ธุรกิจน้ำมันยักษ์ใหญ่เองต่างหันมาลงทุนพลังงานสะอาดด้วยเช่นเดียวกัน ท่ามกลางราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจากกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในปี 2014 เป็นราว 47 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า เอ็กซอนโมบิล เริ่มดำเนินการตรวจจับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงาน ขณะที่ โตตาล บริษัทน้ำมันในฝรั่งเศส เพิ่งประกาศซื้อพลังงานแบตเตอรี่เพิ่ม 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.8 หมื่นล้านบาท)

ขณะเดียวกัน ด้าน เอนบริดจ์ อิงค์ บริษัทขนส่งก๊าซและน้ำมันจากแคนาดาเพิ่มการลงทุนใน ดงเอนเนอร์จี ผู้ผลิตพลังงานลมในเดนมาร์กเป็นเงิน 218 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 7,630 ล้านบาท)

บอร์ดอฟ ระบุว่า บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้จะสามารถรักษาธุรกิจในระยะยาวได้ก็ต่อเมื่อสามารถสร้างความหลากหลายในการลงทุน ซึ่งทำให้ต้องหาแหล่งพลังงานที่มีการใช้ก๊าซคาร์บอนน้อยหลากหลายขึ้น