posttoday

คสช.ไม่ล้มประชามติ อุ้มร่างรธน.สู่เลือกตั้ง

13 พฤษภาคม 2559

หากจะถามเวลานี้ในวงสนทนาปัญหาบ้านเมืองคุยกันถึงประเด็นไหนมากที่สุด คงหนีไม่พ้นการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หากจะถามเวลานี้ในวงสนทนาปัญหาบ้านเมืองคุยกันถึงประเด็นไหนมากที่สุด คงหนีไม่พ้นการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

หลายคนกำลังมีคำถามว่า ผลของประชามติจะออกมาเป็นแบบใด “ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงประชามติผ่าน” “ร่างรัฐธรรมนูญผ่านอย่างเดียวแต่คำถามพ่วงไม่ผ่าน” “ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงไม่ผ่าน” หรือ “ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านแต่คำถามพ่วงผ่าน”

ไม่ว่าผลของการออกเสียงประชามติจะเป็นอย่างไร ย่อมมีผลต่อการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งแบบไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เช่น ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านอย่างเดียว ทุกอย่างก็เดินหน้าไปตามโรดแมปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้วางเอาไว้ โดยเฉพาะการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง สส.และจัดตั้งรัฐบาลจากพลเรือนในปี 2560

หรือถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คสช.จะทำอย่างไรต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แก้ไขปัญหาเพื่อให้ทันกับการเลือกตั้งปี 2560 หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวสำหรับดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งย่อมทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนจากปี 2560 ออกไป

แต่ก่อนจะมีคำถามว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ เวลานี้กำลังมีอีกคำถามที่ถูกขบคิดไม่ต่างกัน คือ จะมีการประชามติหรือไม่ เข้ามาแทรกด้วย

เดิมทีต้องยอมรับว่าไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามเช่นนี้ขึ้นมา เพราะมองว่าในเมื่อ คสช.ตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อบัญญัติกระบวนการประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้ว คสช.ย่อมมีความตั้งใจให้การประชามติเกิดขึ้น เพราะถ้า คสช.ไม่ได้คิดเช่นนั้น ก็คงไม่ลงทุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เพียงแต่สถานการณ์ในปัจจุบัน บรรยากาศทางการเมืองที่เคยสงบกลับมาปะทุอีกครั้ง โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นในทางลบต่อร่างรัฐธรรมนูญบานปลายไปจนถึงการทำงานของ คสช. มิหนำซ้ำมีกระบวนการที่ทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 112 ซึ่งหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงได้ไล่จับเพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลม

สถานการณ์ความวุ่นวายที่เริ่มเกิดขึ้นนี้ เป็นผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ถึงกับเคยตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่นำไปสู่การตีความได้ว่าอาจยุติการทำประชามติ เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา

“กฎหมายเขาว่าอย่างไรก็ทำไป ทำไม่ได้ก็ไม่ทำ ทำไม่ได้คือทำไม่ได้ มาประท้วงกันทำไม่ได้ แล้วจะดันประชามติได้หรือไม่ ก็เหมือนกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เลือกได้หรือไม่ เสนอกันไปมาจนตีกัน จนเลือกตั้งไม่ได้ วันนี้เสนอแล้วถ้ายังตีกันอีก แล้วจะทำยังไง ก็กลับที่เดิมทุกอย่าง เหนื่อยเปล่า”

คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ในครั้งนั้น นับว่าสร้างความประหลาดใจในทางการเมืองไม่น้อย เพราะเป็นท่าทีที่ไม่เคยออกมาจากผู้นำประเทศมาก่อน ถ้าจะมีอาการหัวเสียกับฝ่ายการเมืองก็เป็นแค่การบอกว่าจะต้องดำเนินการตามกฎหมายเท่านั้น ไม่ถึงขั้นที่บอกว่าจะต้องล้มการประชามติ จึงเริ่มมีการวิเคราะห์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจเอาจริง เพื่อไม่ให้สถานการณ์ทางการเมืองบานปลาย

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่ของความน่าจะเป็นแล้ว ประเมินได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังจะให้การทำประชามติเดินหน้าต่อไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557

จุดสังเกตที่ทำให้มองได้ว่าการประชามติจะมีอยู่ต่อไป คือ การระดมทรัพยากรของรัฐเพื่อช่วยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ

ทั้งในกรณีที่กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นและอาสาสมัครเร่งศึกษาและทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญก่อนลงพื้นที่พบประชาชน หรือการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และ กรธ. ควงแขนไปชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญด้วยกัน แบ่งเป็น สนช.และ สปท.รับผิดชอบอธิบายคำถามพ่วงที่ให้ สส.และ สว.ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วน กรธ.ทำหน้าที่หลักในการแจกแจงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เกี่ยวกับคำถามพ่วง

จากความเคลื่อนไหวตรงนี้เอง ย่อมมองได้ว่า คสช.เอาจริงเอาจังกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ หนำซ้ำยังมีความต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติด้วย อย่างน้อยเพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับ คสช.อยู่ในอำนาจต่อจนถึงวันเลือกตั้ง

ที่สำคัญ การล้มประชามติร่างรัฐธรรมนูญกลางคัน ย่อมไม่ต่างอะไรกับการเสียคำพูดต่อประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่เสียหายยิ่งกว่าร่างรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น โอกาสที่ประชามติจะไม่เกิดขึ้น จึงมีความเป็นไปได้น้อยหรือเป็นไปไม่ได้เลย แต่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่นั้น คสช.ต้องลุ้นตัวโก่งจนถึงบัตรลงคะแนนใบสุดท้าย