posttoday

คาถากับมายา

07 สิงหาคม 2553

“คาถา” ตามความหมายของคนทั่วไปจะหมายถึง “คำพูดที่กล่าวออกมาหรือพึมพำในใจเพื่อให้เกิดผลบางอย่าง เช่น ล่องหนหายตัว แปลงร่าง หรือสู้รบเอาชนะกัน” ในขณะที่ “มายา” โดยทั่วไปก็จะหมายถึง “เล่ห์กลที่ทำให้คนคิดหรือมองเห็นอย่างผิดปกติ” อย่างเช่น มายากล หรือแม้แต่อาชีพการแสดง คือละครและภาพยนตร์ก็มีคนเรียกว่า “วงการมายา”

“คาถา” ตามความหมายของคนทั่วไปจะหมายถึง “คำพูดที่กล่าวออกมาหรือพึมพำในใจเพื่อให้เกิดผลบางอย่าง เช่น ล่องหนหายตัว แปลงร่าง หรือสู้รบเอาชนะกัน” ในขณะที่ “มายา” โดยทั่วไปก็จะหมายถึง “เล่ห์กลที่ทำให้คนคิดหรือมองเห็นอย่างผิดปกติ” อย่างเช่น มายากล หรือแม้แต่อาชีพการแสดง คือละครและภาพยนตร์ก็มีคนเรียกว่า “วงการมายา”

คาถากับมายา

ในการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเมื่อ 34 เดือนที่ผ่านมา มีคาถาอยู่ 3 คำ คือ “ล้มอำมาตย์ ยุบสภา สร้างประชาธิปไตย” ในขณะที่รัฐบาลก็มีคาถาออกมาต้านว่า “ขอคืนพื้นที่ ไม่ยุบสภา มานั่งเจรจา ปรองดองๆ” ซึ่งต่างฝ่ายก็ส่งพระเอก พระรอง และตัวประกอบมากมาย ออกมาแสดงบทบาทเพื่อการนี้ สร้างภาพหรือแสดงมายาต่างๆ เพื่อเอาชนะกันและกันผลสุดท้ายก็อย่างที่เห็นๆ คือ ยังคืนดีหรือปรองดองกันไม่ได้

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเชิญไปร่วมให้ความเห็นในรายการ “ฟังความรอบข้าง” ของสถานีโทรทัศน์หอยม่วง ช่อง 11 นัยว่าเป็นการปฏิวัติการนำเสนอรายการของโทรทัศน์ช่องนี้เลยทีเดียว เพราะจะเป็นรายการแรกที่เชิญคนทุกฝ่ายมา “ถกแถลง” ต่อกันและกัน โดยเฉพาะคนเสื้อแดงและพรรคฝ่ายค้าน ที่บ่นมาตลอดว่าถูกรัฐบาลปิดกั้น

ฝ่ายเสื้อแดงในรายการวันนั้นที่ระบุตัวกันชัดๆ ก็คือ บก.ลายจุด (ขออภัยที่จำชื่อจริงไม่ได้) คนที่เอาผ้าแดงไปผูกป้ายชื่อแยกราชประสงค์ และยอมให้ตำรวจจับโดยดีมาหลายครั้ง ฝ่ายค้านก็มีคุณจาตุรนต์ ฉายแสง มีนักวิชาการแนวๆ อย่าง อาจารย์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ มีอาสาสมัครชื่อคุณวสันต์ที่อยู่ในเหตุการณ์การฆ่า 6 ศพ ในวัดปทุมวนาราม มีคุณแม่ของน้องเกดที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนารามนั้น มีคุณพ่อของน้องที่ถูกยิงตายบนถนนในเหตุการณ์กระชับพื้นที่ของทหาร และน้อง (จำชื่อไม่ได้เหมือนกัน) ที่เป็นผู้นำสหพันธ์นักศึกษา

ต่อมาน่าจะเป็นฝ่ายออกเหลืองๆ ที่รู้จักคุ้นเคยกันก็คือคุณหมอตุลย์กับคุณวิรัตน์จากกลุ่มคนหลากสี นอกนั้นน่าจะเป็นคนกลางๆ อย่าง ท่านนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ท่านเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ จากคณะปฏิรูปประเทศของท่านอานันท์ ปันยารชุน และอาจารย์เดชา สังขละวรรณ จากคณะพิสูจน์เหตุการณ์ของท่านคณิต ณ นคร รวมทั้งท่านที่เป็นเจ้าของสถานที่ คือ “เซ็นเตอร์วัน” ที่ใช้ในการบันทึกรายการในครั้งนี้ (ต้องขอภัยทุกท่านเป็นอย่างยิ่งที่จดจำชื่อเสียงเรียงนามได้ไม่หมด)

รายการครั้งนี้ดำเนินไปได้อย่างเรียบร้อยและปลอดภัยพอสมควร เพราะว่าแม้จะมีการพูดจาพาดพิงและเสียดสีกันบ้าง แต่ก็ “เก็บอาการ” กันได้ดี จะมีบ้างจากผู้ฟังที่ล้อมวงอยู่รอบนอกตะโกนเข้ามาทำลายบรรยากาศอยู่บางครั้ง นอกจากนี้ก็ไม่เห็นมีตำรวจหรือทหารมาคอยดูเหตุการณ์ ทั้งที่อยู่ภายใต้การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะมีก็แต่เจ้าหน้าที่ รปภ.นายหนึ่งยืนด้อมๆ มองๆ อยู่หน้าห้องน้ำ (ไม่รู้ว่ามารักษาความปลอดภัยหรือสนใจอยากฟังเขาคุยกัน)

ตรงนี้ก็ต้องขอชมเชยผู้ดำเนินรายการ คือ คุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ และทีมงานที่ดูแลทุกอย่างได้อย่างมืออาชีพ แต่สถานที่มีส่วนเพราะแม้จะเป็นใต้ถุนห้างข้างลานจอดรถ (แต่เดิมจะจัดที่กลางแจ้ง คือลานจอดรถ แต่ฝนตกเลยย้ายมาใต้ถุนห้างที่กำลังซ่อม) ซึ่งสามารถสกรีนคนที่เข้าออกและที่จะเข้ามาร่วมรายการได้ระดับหนึ่ง เสี่ยงภัยอยู่บ้างก็ที่ข้างบนกำลังมีการก่อสร้างซ่อมแซม จึงมีเสียงกุกกักกึงกังอยู่เป็นระยะ ที่ท่านผู้ดำเนินรายการต้องขอร้อง และแจ้งเป็นระยะว่ากำลังถ่ายทำรายการ ส่วนวิทยากรและผู้ร่วมรายการก็เก็บอาการ “อกสั่นขวัญแขวน” ไว้อย่างสงบ

ผู้เขียนไปในนามของคณะพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีอาจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน ตลอดเวลากว่า 3 ชั่วโมง ที่บันทึกรายการเพื่อตัดต่อไปออกอากาศในเวลา 1 ชั่วโมง ทางช่อง 11 ในวันที่ 7 ส.ค. (ซึ่งก็คือวันนี้) เวลา 45 ทุ่ม (ขออนุญาตโฆษณาเสียหน่อย เพราะเห็นว่าเป็นรายการที่มีประโยชน์แม้จะดูน่าเบื่อ) ผู้เขียนได้พูด 2 รอบ รอบละราวๆ 34 นาที จากวิทยากรกว่า 10 ท่านนั้น ซึ่งพอพิธีกรจะให้พูดอีกรอบ ผู้เขียนก็ขอผ่านเพราะไม่มีประเด็นอะไรจะสรุป และอยากกลับบ้าน (เนื่องจากทุกคนพูดไปหมดแล้ว และดึกมาก โดยยังไม่ได้รับอาหารเย็น)เรียกว่าเป็นรายการที่ “น่าสนใจ” แม้จะ “ยากลำบาก” ในหลายๆ เรื่อง

ที่ว่าน่าสนใจก็เพราะว่าถ้ามองในแง่ดีก็เป็นเจตนาดีและความ “ใจถึง” ของรัฐบาล โดยเฉพาะตัวคนที่ดูแลนโยบายนี้คือ คุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ รวมถึงจุดมุ่งหมายก็ดีตามชื่อรายการคือ ฟังความรอบข้างเพื่อความปรองดองและหาทางออกให้กับการแก้ปัญหาทั้งหลายของประเทศ รวมทั้งการเรียนเชิญวิทยากรที่มีความหลากหลาย ซึ่งถ้าหากจะให้น่าสนใจยิ่งขึ้น ในครั้งต่อไปน่าจะเชิญ “สตาร์” อย่างนายตู่เพื่อไทยกับนายใสการเมืองใหม่มาปะทะสังสรรค์กันบ้าง

ส่วนสิ่งที่ยากลำบากนอกจากความเหนื่อยยากของทีมงานผู้จัดอย่างที่เห็นในรายการคืนนั้นแล้ว ก็คือ “ความสำเร็จ” ที่คงจะคาดหวังได้ยาก เพราะหลายคนก็ยัง “ยึดติด” กับอะไรบางอย่าง ยังไม่ยินยอม หรือ “ก้าวข้าม” หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นอุปสรรค ที่สำคัญคือยังไม่ “เปิดใจ” ที่จะรับรู้รับฟังอะไรให้รอบด้านจริงๆ ผู้ที่โดนตำหนิมากที่สุดในคืนนั้นก็คือ “รัฐบาล” เพราะหนึ่ง ไม่ส่งใครมาร่วมรายการ ทั้งที่ได้ติดต่อไปแล้ว ซึ่งผู้ดำเนินรายการบอกว่า ตอนแรกรัฐมนตรี สาทิตย์ วงศ์หนองเตย แจ้งว่าจะมาแต่แล้วก็ยกเลิกกะทันหัน สอง แม้จะใจดีที่ให้ทำรายการแบบนี้ แต่ก็ยังใจร้ายที่ยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเสียงข้างมากในคืนนั้นบอกว่าควรยกเลิก และสาม รัฐบาลนี่เองที่เป็นอุปสรรคของการปรองดอง เพราะถ้าหากจะสรุปจากความคิดเห็นของผู้ร่วมรายการ ก็คือเรายังต้องอยู่ในภาวะที่

“ประหวั่นพรั่นพรึง” กันต่อไป เพราะรัฐบาลเองก็ยังบริหารประเทศด้วยความหวาดกลัวและเกลียดชังประชาชนบางกลุ่ม ที่ในทางรัฐศาสตร์ท่านว่าขาดความกล้าหาญและไม่สง่างาม หรือถ้าเป็นชาวบ้านก็จะบอกว่า “ไม่แมน” หรือ “แอ๊บเข้ม”

ทั้งหมดนั้นสะท้อนถึงความไม่จริงใจของรัฐบาล ซึ่งวิทยากรที่มีจากคณะกรรมการชุดต่างๆ มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจที่จะปรองดองนี้เสียก่อน

ผู้เขียนแสดงทัศนะเป็น “คาถา” ไว้ในรายการว่า ปัญหาความร้าวฉานในประเทศไทยในครั้งนี้ แก้ได้ “ไม่ช้าก็เร็ว” ถ้าจะให้ช้าก็คือให้เวลา (นานๆ) ช่วยกลบกลืนปัญหา (ให้หมดไปเอง) และถ้าจะให้เร็วก็คือให้การเปิดเผยความเป็นจริงต่างๆ ปรากฏแก่สาธารณะโดยเร็วก็เหมือน “มายากล” นั่นแหละ ถ้าทำเร็วๆ ผู้ชมก็จะตื่นเต้นแล้วจับผิดไม่ได้ !