posttoday

ค้าปลีกระส่ำสวนทางอี-คอมเมิร์ซ

30 เมษายน 2559

กระแสการขายกิจการเพื่อเลี่ยงการปิดกิจการและปลดพนักงาน 1.1 หมื่นอัตราทั่วประเทศของ บีเอชเอส ห้างสรรพสินค้าชั้นนำของอังกฤษ อาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ถึงช่วงขาลงของห้างค้าปลีก

โดย...นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

กระแสการขายกิจการเพื่อเลี่ยงการปิดกิจการและปลดพนักงาน 1.1 หมื่นอัตราทั่วประเทศของ บีเอชเอส ห้างสรรพสินค้าชั้นนำของอังกฤษ อาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ถึงช่วงขาลงของห้างค้าปลีก ท่ามกลางการขยายตัวที่พุ่งแรงของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ

นอกเหนือจากบีเอชเอสแล้ว ทิศทางของ วอลมาร์ท อิงค์ บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐดูจะไม่สดใสนักเช่นกัน โดยบริษัทคาดการณ์ว่าผลกำไรในปีนี้มีแนวโน้มปรับลดลงถึง 12% เนื่องจากยอดขายในร้านค้าปลีกทั่วสหรัฐชะลอตัว และได้รับแรงกดดันจากยอดขายที่อ่อนแรงในต่างประเทศ

เช่นเดียวกับ เซียร์ส โฮลดิ้งส์ บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐ ที่ประกาศแผนปิดร้านจำหน่ายสินค้าจำนวน 78 แห่ง ประกอบด้วย ร้านเคมาร์ท 68 แห่ง ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ และบรรดาห้างค้าปลีกรายอื่นๆ อย่าง เจซีเพนนีย์ เปิดเผยว่า จะปิดร้านค้าจำนวน 70 แห่ง ในสหรัฐ ขณะที่ มาซีส์ วางแผนหยุดดำเนินงานห้างร้าน 40 แห่ง ในเดือนก่อนหน้านี้

กรีน สตรีท แอดไวเซอร์ส บริษัทวิจัยจากสหรัฐ เปิดเผยว่า ร้านค้าปลีกทั่วสหรัฐจำเป็นต้องปิดร้านสาขาราว 800 แห่ง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 5 ของพื้นที่ร้านสรรพสินค้าในสหรัฐ เพื่อดันให้ยอดขายของบริษัทกลับสู่ระดับเทียบเท่ากับเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้ โดย เซียร์สฯ อาจต้องปิดร้านราว 300 แห่ง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของจำนวนร้านในปัจจุบัน เจซีเพนนีย์ อาจต้องยุติการดำเนินงานในร้านค้าราว 320 แห่ง (คิดเป็นสัดส่วนราว 25%) และ มาซีส์ อาจต้องปิดร้านสาขาจำนวน 70 แห่ง หรือ 9% จากจำนวนสาขาทั้งหมด

ข่าวการปิดสาขาของบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ส่งผลต่อเจ้าของห้างสรรพสินค้าที่เปิดให้เช่าพื้นที่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากไม่สามารถหาธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่พอกันมาเช่าพื้นที่ดังกล่าวแทน โดย กรีน สตรีทฯ ระบุว่า การปิดสาขาร้านค้าปลีกอาจทำให้ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในสหรัฐต้องปิดกิจการ เนื่องจากร้านค้าปลีกดังกล่าวเป็นตัวขับเคลื่อนรายได้หลักของห้าง

ขณะที่เจ้าของห้างสรรพสินค้าบางส่วนเริ่มแทนที่ร้านค้าปลีกด้วยโรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร และร้านจำหน่ายสินค้าราคาถูกอย่าง ทีเจแมกซ์ รอสส์สโตร์ และมาร์แชลส์

อย่างไรก็ดี ช่วงขาลงของห้างสรรพสินค้าไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ เนื่องจาก วอลสตรีท เจอร์นัล รายงานว่า ยอดขายของห้างสรรพสินค้าต่อตารางฟุตร่วงลง 24% แตะที่ 165 เหรียญสหรัฐ (ราว 5,775 บาท) นับตั้งแต่ปี 2549

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จากธนาคาร เครดิต สวิส เปิดเผยว่า ภาคธุรกิจค้าปลีกลดจำนวนพนักงานกว่า 2.4 หมื่นอัตราแล้ว ในปี 2559 และกำลังพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2553 ซึ่งบลูมเบิร์กระบุว่า มีการลดจำนวนพนักงานในธุรกิจค้าปลีกลงราว 3 หมื่นอัตรา

เครดิต สวิส ยังคาดการณ์โดยอ้างอิงจากข้อมูลของบลูมเบิร์ก ว่า อาจมีการปลดพนักงานจำนวนมากถึง 3.7 หมื่นอัตรา ในปี 2559 ขณะที่นักวิเคราะห์หลายรายมองว่าตัวเลขดังกล่าวอาจสูงกว่าคาดการณ์ เนื่องจากบริษัทค้าปลีกจำนวนมากยื่นล้มละลายเมื่อไม่นานนี้

สวนทางกับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่ดูจะมีอนาคตที่สดใส จากตัวอย่างความสำเร็จของ เถาเป่า แพลตฟอร์ม อี-คอมเมิร์ซ ของอาลีบาบา ที่คาดว่าครองตลาดผู้บริโภคในจีนไปกว่า 90% ส่วนเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ อาลีบาบาได้เดินหน้าขยายธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของบริษัทต่อด้วยการประกาศลงทุน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.5 หมื่นล้านบาท) ในลาซาด้า แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ช่วยหนุนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมาจากจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่กำลังปรับตัวขึ้น โดยเจฟเฟอรีส์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค มียอดใช้งานเว็บไซต์บนมือถือสูงถึง 70% สอดคล้องกับข้อมูลของกูเกิลคาดการณ์ว่า ยอดการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ราว 30% มาจากสมาร์ทโฟน

ขณะเดียวกัน อะเมซอน เจ้าของแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ ได้สร้างความประหลาดใจให้บรรดานักวิเคราะห์ จากการเปิดเผยว่า ผลกำไรของบริษัทปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาส 4 แตะที่ 513 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.7 หมื่นล้านบาท) ในไตรมาสแรกของปี 2559 หลังบริษัทขาดทุนสุทธิอย่างหนักที่ 57 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,995 ล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

รอยเตอร์สรายงานว่า ผลกำไรของอะเมซอนยังสูงกว่าคาดการณ์นักวิเคราะห์ถึง 2 เท่า ที่ 272.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 9,541 ล้านบาท) โดยได้แรงหนุนจากธุรกิจคลาวด์ที่มีชื่อว่า อะเมซอนเว็บเซอร์วิส (เอดับเบิ้ลยูเอส) และธุรกิจค้าปลีกหลักของบริษัท โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจค้าปลีกอะเมซอนอยู่ที่ 3.6% ในไตรมาสแรกของปี 2559

อีมาเกอเตอร์ บริษัทวิจัยตลาดดิจิทัล เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกออนไลน์ในสหรัฐของอะเมซอน ปี 2559 คาดว่าจะขยายตัว 8% จากยอดค้าปลีกทั้งหมด แตะ 3.85 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 13 ล้านบาท)

แม้แนวโน้มทางธุรกิจของร้านค้าปลีกทั่วโลกจะดูไม่สดใสนัก แต่อนาคตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซกลับเด่นชัดขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสามารถสะท้อนพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปได้
เป็นอย่างดี