posttoday

ส่องกลุ่มเคลื่อนไหว ต้านรัฐธรรมนูญ

29 เมษายน 2559

หลายกระแสที่วิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวการเมืองที่เริ่มเข้มข้นขึ้นและมีมาอย่างต่อเนื่องก็ตั้งแต่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หลายกระแสที่วิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวการเมืองที่เริ่มเข้มข้นขึ้นและมีมาอย่างต่อเนื่องก็ตั้งแต่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คู่ขัดแย้งทางการเมืองคนสำคัญ เริ่มออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติถึงการเมืองไทยตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงการร่างรัฐธรรมนูญโค้งสุดท้าย และนับจากนั้นมาการเคลื่อนไหวการตอบโต้ของกลุ่มการเมืองก็เริ่มหนักหน่วงขึ้น จนกระทั่งปัจจุบันที่เป็นห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของการเดินหน้าสู่การทำประชามติ โหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงร่างรัฐธรรมนูญ ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านประชามติก็มีเลือกตั้งตามโรดแมป

การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มต่างๆ ถือว่าเป็นแรงกระเพื่อมเขย่าสมาธิการทำงานทั้งจากของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พอสมควร ช่วงที่ผ่านมาหากจับใจความการให้ข่าวต่อสื่อมวลชนของ พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. ที่ออกมาระบุบางช่วงบางตอนถึงกรณีการเคลื่อนไหวในส่วนของ วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เรียกร้องให้องค์การระหว่างประเทศหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสิทธิมนุษยชนสากล ตรวจสอบการดำเนินการกับผู้เห็นต่างทางการเมืองของ คสช.ว่าขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ภายหลังจากที่ คสช.ควบคุมตัววัฒนาตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า

“เรื่องนี้ คสช.เชื่อว่ามีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังและกำลังตรวจสอบอยู่ การดำเนินการทำกันเป็นทีมงาน เราติดตามอยู่ ตั้งแต่ที่นายวัฒนาโพสต์เฟซบุ๊ก จนเป็นที่มาของการเชิญตัว และมีการให้ลูกสาวไปยื่นหนังสือ ต่อด้วยการแสดงออกของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ในการจุดกระแส รวมถึงการเดินทางไปเยี่ยมคุณวัฒนาของนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่ทำเพื่อต้องการดึงต่างชาติให้มากดดันการทำงานของ คสช.”

ขณะที่คำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อคำถามที่ว่าเรื่องการตรวจสอบเส้นทางการเงิน หรือการอยู่เบื้องหลังเป็นอย่างไร “ไม่รู้เหรอว่าใคร มาจากไหน ใครล่ะที่สนับสนุนกันมา ใครวางแผนล็อบบี้ยิสต์ต่างประเทศ ทักษิณ”

จากคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวก็ตรงกับข้อมูลจากทางฝ่ายความมั่นคงที่เปิดเผยกับทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ว่า ขณะนี้ฝ่ายความมั่นคงที่สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร จับตาดูการกระทำของกลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองต่างๆ ทั้งตรวจสอบข้อเท็จจริง เบื้องหลังความเคลื่อนไหวการเมือง ว่ามีบุคคลใดเชื่อมโยงหนุน ทั้งตรวจสอบบุคคลที่อยู่ต่างประเทศเกี่ยวข้องหรือไม่

ซึ่งขณะนี้พบว่าการเคลื่อนไหวสามารถแบ่งออกได้ 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มนักการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวในรูปแบบของการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก และการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยย้ำจุดยืนที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เช่น วัฒนา จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โดยฝ่ายความมั่นคงเองก็ทราบดีว่าเป็นการเคลื่อนไหวรูปแบบเกมการเมือง ที่มีเจตนาให้เกิดความวุ่นวาย ยั่วยุปลุกปั่น ท้าทายอำนาจรัฐ แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ จำเป็นต้องทำตามข้อกฎหมายที่มีอยู่

กลุ่มที่ 2 คือ แกนนำมวลชนของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่มี จตุพร ประธาน นปช. และณัฐวุฒิ เลขาธิการ นปช. ออกมาเคลื่อนไหวประกาศจะเดินสายเรียกร้องให้องค์การระหว่างประเทศ และองค์การสหประชาชาติเข้าสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และย้ำว่าไม่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ โดยเชื่อว่าถ้ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติ จะเป็นการต่ออำนาจให้ คสช.

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มทั่วไป ที่บางกลุ่มก็เรียกตนเองว่ากลุ่มสิทธิมนุษยชน เช่น กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่มี อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน เป็นแกนนำ พร้อมด้วย ณัทพัช อัคฮาด พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ปกรณ์ อารีกุล และกลุ่มนักศึกษาเสรีประชาธิปไตย และกลุ่มนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ นำโดย สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่เคลื่อนไหวด้วยการจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ “ยืนเฉยๆ” ไปตามสถานีบีทีเอสต่างๆ ที่ช่วงแรกเรียกร้องให้ปล่อยตัว วัฒนา แกนนำพรรคเพื่อไทย และขณะนี้เรียกร้องให้ปล่อยตัวประชาชนที่ถูกทหารควบคุมตัวไป 9 คน 

กลุ่มที่ 4 กลุ่มเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง นำโดย อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พวงทอง ภัควรพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน เป็นต้น ที่ร่วมกันออกแถลงการณ์ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน”

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวกลุ่มต่างๆ จะเชื่อมโยง มีคนอยู่เบื้องหลังหรือไม่อย่างไร ล่าสุด พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ระบุว่า ทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ในการสืบสวนและขยายผลต่อไป และขอยืนยันว่า เมื่อเจ้าหน้าที่พบผู้กระทำผิด หรือผู้ต้องสงสัยนั้น ได้ปฏิบัติด้วยแนวทางสุภาพและเปิดเผย ไม่มีการปกปิดแต่อย่างใด