posttoday

5 เผือกร้อนรัฐบาล ทางวิบากสมัยนิติบัญญัติ

05 สิงหาคม 2553

4ส.ค. ถือว่าเป็นวันแรกสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ โดยปกติแล้วสมัยประชุมนี้จะไม่ค่อยมีอะไรเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจมากนัก เนื่องจากเป็นสมัยประชุมที่จะไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

4ส.ค. ถือว่าเป็นวันแรกสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ โดยปกติแล้วสมัยประชุมนี้จะไม่ค่อยมีอะไรเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจมากนัก เนื่องจากเป็นสมัยประชุมที่จะไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

โดย...ทีมข่าวการเมือง

5 เผือกร้อนรัฐบาล ทางวิบากสมัยนิติบัญญัติ

แม้ว่าตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้รัฐบาลไม่ต้องเจอกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมนี้แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะยืนระยะให้ผ่าน 120 วันของสมัยประชุมได้ง่ายอย่างที่คิดไว้ เพราะเป็นสมัยประชุมที่รัฐบาลต้องเร่งสร้างผลงานด้านนิติบัญญัติออกมาให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมด้วยตรากฎหมายออกมาเพื่อเป็นเครื่องมือการ บริหารงานของรัฐบาล

โดยตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ปลายปี 2551 ถึงปัจจุบันนี้ หากไม่นับ พ.ร.บ.ทั่วๆ ไปที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาก็ยังพอปรากฏผลงานให้เป็นที่ชื่นใจได้ว่าสามารถตรากฎหมายออกมาบังคับใช้ได้ระดับหนึ่ง

แต่สำหรับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

ในเว็บไซต์ของรัฐสภา www.paliament.go.th รายงานว่านับตั้งแต่มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ถึงปัจจุบันมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณารัฐสภาเพียง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552


ด้วยผลงานด้านนิติบัญญัติที่ยังไม่เข้าตาขนาดนี้ ทำให้สมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติกลายเป็นไฟต์บังคับที่รัฐบาลต้องเร่งเครื่องกันเลยทีเดียว

โดยตลอดสมัยประชุมนี้มีกฎหมายที่รัฐบาลเสนอเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐบาลเคยขายฝันเอาไว้จะเข้ามาแก้ปัญหาสารพัดของประเทศจำนวนมาก แต่ในอีกมุมหนึ่งกฎหมายที่รัฐบาลได้ยัดเข้าสภามานั้นก็อาจกลายเป็นเผือกร้อนของรัฐบาลได้ในอนาคต ซึ่งมีกฎหมายอย่างน้อย 5 ฉบับที่กำลังท้าทายรัฐบาลอยู่ในสมัยประชุมนี้

1.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... กฎหมายฉบับนี้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาแล้วในเรื่องด่วนลำดับที่ 10 แต่ล่าสุดคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลคงจะชะลอการพิจารณากฎหมายนี้ออกไปจนกว่าการทำงานของคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนจะหาข้อสรุปได้ ถึงจะมีการพิจารณาอีกครั้ง

การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้มีนัยทางการเมืองเป็นอย่างมาก เพราะปัญหาอยู่ที่รัฐบาลจะตัดสินใจให้ พ.ร.บ.นี้เดินหน้าหรือถอยหลัง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทางไหนรัฐบาลก็เจ็บตัวแทบทั้งสิ้น กล่าวคือ ถ้ารัฐบาลเลือกเดินหน้าผลักดัน พ.ร.บ.นี้ก็จะสร้างความไม่พอใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่ในประเทศจำนวนไม่น้อยที่คัดค้านกฎหมายฉบับนี้อยู่ แต่ถ้ารัฐบาลเลือกจะชะลอออกไปก็จะมีผลต่อกลุ่มผู้บริโภคที่สนับสนุนกฎดังกล่าว ซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

เท่ากับว่าไม่ว่าจะเลือกอย่างไรก็ย่อมจะส่งผลต่อคะแนนความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะเป็นผู้ดูแลกระทรวงสาธารณสุขอย่างมาก เพราะนั่นหมายความว่าจะต้องสูญเสียฐานคะแนนในส่วนใดส่วนหนึ่งไปในระดับพอสมควร

2.ร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.... เป็นกฎหมายที่เสนอเข้าสภาตั้งแต่ปี 2552 สาระสำคัญคือ ให้มีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์มักจะพยายามบอกสังคมหลายครั้งว่าโมเดลนี้จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาความไม่สงบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยตอนนี้มีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง เพราะคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณากฎหมายฉบับนี้เสร็จแล้ว และเสนอให้สภาพิจารณาวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 3 ส.ค. ก่อนส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป

ในระยะยาวกฎหมายจะเป็นเครื่องพิสูจน์น้ำยาของรัฐบาลประชาธิปัตย์ว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ หลังจากที่ตัวเองเคยตำหนิรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาว่าแก้ปัญหาแบบไร้ทิศทาง เพราะมีสาเหตุจากการยกเลิก ศอ.บต.

3.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปฏิบัติต่ออากาศยานที่กระทำความผิดกฎหมาย พ.ศ.... กฎหมายตัวนี้จะไม่เป็นปัญหาเลยหากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่ได้หยิบยกมาเป็นหนึ่งในประเด็นสำหรับการไต่สวนว่าการออกกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ กษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ รอดจากความผิดในกรณีการร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการยึดสนามบินสุวรรณภูมิหรือไม่

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้สังคมหรือฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์ว่า การออกกฎหมายดังกล่าวนั้น ไม่ได้กลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนสำหรับช่วยให้กษิตและกลุ่มคนเสื้อเหลืองไม่ต้องรับความผิดทางกฎหมาย รวมไปถึงคำถามว่ามีความจำเป็นอะไรที่จะต้องมีการเสนอกฎหมายนี้ในช่วงที่การดำเนินคดีกับคนเสื้อเหลืองในเรื่องการยึดสนามบินยังดำเนินการไต่สวนอยู่

4.ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ของพรรคร่วมรัฐบาล เรื่องนี้อยู่ในระเบียบวาระการประชุมร่วมของรัฐสภา ที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ว่าญัตติดังกล่าวกลายเป็นหอกข้างแคร่ของพรรคประชาธิปัตย์ ขณะเดียวกันยังกลายเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลในทุกๆ ครั้ง ซึ่งในสมัยประชุมนี้ก็เช่นเดียวกัน เพราะด้านหนึ่งดูเหมือนว่าพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้กำลังไปได้สวย แต่ในความสวยงามก็อาจแฝงอะไรไว้อยู่

เป็นเพราะอย่าลืมว่าความต้องการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของบรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลยังไม่หมดไป หากวันใดพรรคร่วมรัฐบาลต้องการเรื่องนี้ให้มีการพิจารณาขึ้นมา ย่อมสะเทือนถึงความมั่นคงของรัฐบาลทันที

5.ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 คาดการณ์ว่าจะเป็นศึกใหญ่ที่สุดของรัฐบาลในสมัยประชุมนี้ ด้วยความที่กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายการเงินที่มีความสำคัญที่สุดของประเทศ มีการผูกพันงบประมาณจำนวนมหาศาล ดังนั้น ถ้ารัฐบาลไม่สามารถผ่านกฎหมายนี้ได้ในวาระที่ 23 วันที่ 1819 ส.ค. จะมีปัญหาตามมาทันที

ตามธรรมเนียมหากกฎหมายการเงินฉบับใดที่รัฐบาลไม่สามารถผลักดันผ่านรัฐสภา รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองด้วยการลาออกหรือยุบสภา ซึ่งรัฐบาลเองก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์นี้อยู่เพราะมี สส.รัฐบาลที่ออกเสียงได้เพียง 253 เสียง จากเสียงกึ่งหนึ่ง 239 เสียง จาก สส.ทั้งหมด 475 คน เรียกได้ว่าอยู่ในสถานการณ์เสียงปริ่มน้ำพอสมควร

จะเห็นได้ว่าสมัยประชุมนิติบัญญัติรอบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายของรัฐบาลอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ ไม่งั้นวิปรัฐบาลคงไม่ออกอาการถึงขนาดคาดโทษพวก สส.จอมโดดประชุมเป็นแน่ เพราะนั่นหมายถึงอนาคตของรัฐบาลที่แขวนเอาไว้บนเกมการเมืองในสภา