posttoday

คนไทยบริโภคใยหินติดอันดับโลก

04 สิงหาคม 2553

ชี้คนไทยบริโภคแร่ใยหินติดอันดับ 2 ของโลก สคบ.ยื่น 9 ข้อเสนอเชิงนโยบายวาระชาติ

ชี้คนไทยบริโภคแร่ใยหินติดอันดับ 2 ของโลก สคบ.ยื่น 9 ข้อเสนอเชิงนโยบายวาระชาติ

เมื่อวันพุธที่ 4 ส.ค.แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.)จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่องการจัดการอันตรายจากแร่ใยหินเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค ระบุคนไทยบริโภค ‘แร่ใยหินแอสเบสตอส’ มากติดอันดับ 2 ของโลก พร้อมยื่น 9 ข้อเสนอเชิงนโยบายในการผลักดันให้การป้องกันแร่ใยหินในระดับชาติ แพทย์เผยคนไทยบริโภคมากสูงถึง 3 กก./คน/ปี เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดร่วม 1,295 คน/ปี และย้ำมาตรการ “ติดฉลากเตือน” ยังต่ำกว่าการ “แบน” ในระดับสากล

นายวิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สสส.คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยได้ยกเลิกแร่ใยหินทุกชนิดเหลือเพียงแร่ใยหินไครโซไทล์และทางสคบ.ได้กำหนดให้มีการติดฉลากคำเตือนว่ามีอันตรายต่อมะเร็งและโรคปอด แต่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้กลับใช้มาตรการยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกชนิดจนเป็นมาตรฐานสากลไปแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า มาตรฐานในการรุกสู้กับปัญหาผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งและโรคปอดยังต่ำกว่าระดับสากลที่ใช้วิธีการ “แบน”

“ปัจจุบันแม้จะมีการติดฉลากขนาด 3 x 3 เซนติเมตร ในวัสดุที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินประมาณในร้านค้าประมาณ 80% แต่ก็พบว่า ฉลากมีขนาดเล็กจนไม่เป็นที่สังเกต อาจจะทำให้ผู้บริโภคไม่รับรู้ถึงอันตรายเท่าที่ควร การเปิดประเด็นคำถาม 25 ข้อ ของผศ.ดร.พญ.พิชญา พรรคทองสุขจึงเป็นการกระชากหน้ากากกลยุทธ์การค้าที่เปลี่ยนความคิดผู้บริโภคว่า “ไครโซไทล์” เป็นแร่ใยหินชนิดเดียวที่ยังบริโภคได้ ทั้งที่ผลสรุปชี้ตรงกันว่า เป็นอันตรายและควรเลิกใช้” นายวิทยา

พญ.พิชญา พรรคทองสุข อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการต่างรณรงค์ให้เลิกใช้วัสดุที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน และเห็นตรงกันว่าควร “ยกเลิกการใช้” แต่ก็มีผู้ประกอบการที่ยังนำเข้ามาร่วม 30 ปี โดยประเทศไทยมีอัตราการนำเข้าเป็นอันดับที่ 4 รองจากจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย และมีการบริโภคมากติดอันดับ 2 ของโลก รองจากรัสเซีย ในอัตราการบริโภคประมาณ 3 กิโลกรัม (ต่อคน/ปี)

“แม้ประเทศไทยจะมีการนำเข้าแร่ใยหินลดลงจากปี 2000 ถึงปี 2009 จาก 120,563 แสนตัน เหลือเพียง 68,743 แสนตัน แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า เป็นเพราะบริษัทหลายแห่งได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์จึงทำให้การบริโภคลดลง ทั้งที่จริงแล้วประเทศไทยยังมีการนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์อยู่ โดยผู้นำเข้าพยายามสื่อสารกับผู้บริโภคว่า ไครโซไทล์ไม่มีอันตรายเท่าแอสเบสตอส และพบว่าประเทศไทยบริโภคแอสเบสตอสติดอันดับสองของโลก คือ 3 กก./คน/ปี รองจากรัสเซีย และคาดว่าจะมีคนไทยที่เป็นโรคมะเร็งปอด ซึ่งแสดงอาการป่วยมากถึงปีละประมาณ 1,295 คน” ผศ.ดร.พญ.พิชญา กล่าว

นางมาลี พงษ์โสภณ นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการพิเศษ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ในวงการแพทย์และอนามัยโลกก็ยืนยันว่า แร่ใยหินเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ประเทศไทยยังอนุญาตให้ใช้เหลือแต่ชนิดไครโซไทล์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยืนยันเป็นสารก่อนมะเร็ง จึงเสนอให้หยุดและยกเลิกการใช้  สธ.พยายามออกมาตรการในการเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วย โดยให้มีการออกมาตรการฉลากเตือนให้ประชาชนได้มีสิทธิ์เลือกใช้วัสดุที่ไม่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ซึ่งทั่วโลกใช้ตัวอักษร “A” ที่ย่อมาจาก “แอสเบสตอล” ในการสื่อสาร ซึ่งประชาชนจะได้รับรู้ทั่วกันว่าเป็นวัสดุขึ้นนี้มีสารก่อมะเร็ง

“การออกฉลากนั้นก็เพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิ์ได้เลือกใช้สินค้าที่มีแร่ใยหินหรือไม่ด้วยตัวเอง แต่การออกมาตรการฉลากผ่านสคบ.ได้รับการต่อต้านอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่พยายามผลักดันให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่า สินค้าที่มีแร่ใยหินไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบนั้นไม่มีอันตราย โดยล่าสุดมีสินค้าประมาณ 3,000 รายการที่ยังคงมีส่วนประกอบของไคโซไทล์ ตั้งแต่หลังคา กระเบื้อง คลัชเบรค ฯลฯ ซึ่งมักจะเกิดการฟุ้งกระจายระหว่างก่อสร้าง การใช้งาน ซึ่งปัจจุบันมีวัสดุทดแทนที่สามารถใช้ได้ แต่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงยังไม่ออกมาตรการแบน" นางมาลี กล่าว

นางชื่นสุข เมธากุลวัฒน์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า แร่ใยหินทุกชนิดเป็นอันตรายต่อปอด แต่สาเหตุที่ประเทศไทยยังมีการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ เนื่องจากเข้าใจว่าสารไครโซไทล์เมื่อเข้าสู่ร่างกายสามารถขับสารพิษออกมาได้ ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อสารสะสมในร่างกายจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดได้ ฉะนั้นแนวทางควบคุมแร่ใยหินไครโซไทล์

ทั้งนี้ จึงต้องตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอมาตรการจัดการอันตรายจากแร่ใยหิน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ประมวลและรวบรวมข้อมูลสินค้าแร่ใยหินไครโซไทล์ ตลอดจนหาวัสดุทดแทนเพื่อจัดการอันตราย พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลอันตรายและสินค้าที่มีส่วนผสมแร่ใยหิน ซึ่งหลายฝ่ายมีความเห็นตรงกันอยากผลักดันไม่ให้ใช้ แต่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมยังมีการอนุญาตให้ใช้ได้

ด้าน นายอิสราวุธ ทองคำ ผู้ประสานงานสิทธิคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันตก ได้ยื่นขอสำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายที่ต้องการผลักดันในระดับชาติ มีอยู่ 9 ข้อดังนี้ 1.มาตรการยกเลิกการนำเข้า ผลิตและจำหน่ายสินค้า ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินที่สามารถใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนได้ โดยแบ่งเป็น 1.1 การยกเลิกการนำเข้าวัตถุดิบแร่ใยหิน ภายใน 3 เดือน 1.2ยกเลิกการผลิตและการจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินที่สามารถใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนได้ภายใน 1 ปี

2.มาตรการยกเลิกภาษีของวัตถุดิบทดแทนแร่ใยหิน ทั้งนี้วัตถุดิบที่นำมาทดแทนจะต้องไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ 3.มาตรการที่จะทให้ผู้บริโภครับรู้ประกาศและข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน โดยมีการเผยแพร่ในสื่อมวลชนต้องต่อกันอย่างน้อย 30 วันทุกพื้นที่ 4.มาตรการรื้อถอนวัสดุที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน โดยจัดดำเนินการโดยมาตรฐานสากลและให้มีการจัดทำเป็นกระกาศหรือข้อบังคับของกระทรวงอุตสาหกรรม 5.ห้ามการนำเข้าหรือส่งออกขยะที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน

6.มาตรการกองทุนชดเชยความเสียหายและสวัสดิการแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหิน 7.มาตรการควบคุมการนำเข้าหรือการจำหน่ายสินค้า ที่มีอันตรายต่อสุขภาพ โดยยึดหลักประเทศผู้ต้องผลิตต้องมีการใช้สินค้านั้นด้วย 8.มาตรการกำหนดค่ามาตรฐานการฟุ้งกระจายของฝุ่นแร่ใยหิน 0.1 เส้นใยต่อลบ.ซม. เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐาน (Occupational Exposure Limits/OELs) และ 9. มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องการจัดซื้อวัสดถก่อสร้างและการจัดจ้าง ที่กำหนดสาระสำคัญไม่อนุญาตให้ใช้วัสดุที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ