posttoday

‘ไชน่า ดรีม’ จีนก้าวสู่โลกที่หนึ่ง ลดพื้นที่ชนบทเพิ่มสัดส่วนเมือง

17 เมษายน 2559

จีนมีนโยบายจะลดสัดส่วนของความเป็นชนบทลงแล้วแทนที่ด้วยเมือง ซึ่งแน่นอนว่าพอลดสัดส่วนชนบทเหลือเพียง 30% พื้นที่ทางการเกษตรก็ลดลงตามไปด้วย

โดย...พิเชษฐ์ ชูรักษ์, ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

การรุกคืบของจีนภายใต้ “China Dream” หรือ ความฝันของประเทศจีน ตามแนวคิดของ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เน้นหนักไปยังมิติเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับการใช้นโยบาย Soft Power คู่ขนาน

วรศักดิ์ มหัทธโนบล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ฉายภาพจีน ณ ปัจจุบันผ่าน “โพสต์ทูเดย์” ว่ายักษ์ใหญ่แห่งเอเชียวาดภาพฝันไว้ 2 ระยะ และจุดสูงสุดของ China Dream ก็คือ จีนจะต้องเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยที่สมบูรณ์

นั่นก็คือ ต้องรวบเกาะไต้หวันและทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรสำคัญมาเป็นของตัวเองให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

ระยะแรก “สีจิ้นผิง” ได้ประกาศไว้ว่า ภายในปี 2020 จีนจะต้องเป็นสังคมที่อยู่ดีกินดี และในปี 2021 ซึ่งครบรอบ 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีน จีนจะจัดเฉลิมฉลองใหญ่ในฐานะที่กลายเป็น “ประเทศมหาอำนาจ” เต็มรูปแบบ

สำหรับระยะที่สอง “สีจิ้นผิง” ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2049 (ครบรอบ 100 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีน) จีนจะต้องเป็น “ประเทศที่พัฒนาแล้ว”

“จีนมีนโยบายจะลดสัดส่วนของความเป็นชนบทลงแล้วแทนที่ด้วยเมือง ซึ่งแน่นอนว่าพอลดสัดส่วนชนบทเหลือเพียง 30% พื้นที่ทางการเกษตรก็ลดลงตามไปด้วย ดังนั้นสิ่งที่จีนต้องแสวงหามาทดแทนก็คือความมั่นคงด้านอาหาร เขาก็หาจากเพื่อนบ้าน ทั้งในประเทศลาวและไทย ขณะนี้เป็นเรื่องกล้วย ต่อจากนี้ไปจะเป็นเรื่องข้าว” อาจารย์วรศักดิ์ ระบุ

วรศักดิ์ อธิบายต่อว่า จีนกำหนดเวลาดำเนินการไว้ 10 ปี ซึ่งขณะนี้ผ่านไป 3 ปีแล้ว จึงเหลืออีกแค่ 7 ปี ซึ่งหากจำไม่ผิดจะต้องใช้เงินถึง 96 ล้านล้านบาท เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย สำหรับวิธีการขยายเมืองก็มีหลายรูปแบบ คือทำชนบทให้เป็นเมือง เพิ่มเส้นทางคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟความเร็วสูงจะต้องผ่าน

ดังนั้น สิ่งที่จีนต้องคิดนอกจากความมั่นคงด้านอาหารก็คือ เมื่อจีนเพิ่มสัดส่วนเมืองมากขึ้น ก็จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ความต้องการพลังงานก็มากขึ้น นั่นก็หมายความว่าจีนจะต้องแสวงหาความมั่นคงทางพลังงานเพิ่มเติมอีก ต้องมีหลักประกันว่าเมืองเหล่านี้จะต้องไม่ขาดแคลนพลังงาน ฉะนั้นทุกวันนี้สิ่งที่จีนทำอยู่คือไปซื้อพลังงานจากทั่วโลก

อาจารย์วรศักดิ์ อธิบายว่า ทุกวันนี้การพัฒนาของประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา ก็ใช้แนวทาง China Model คือปัจจุบันจีนพัฒนาเศรษฐกิจแบบ “เสรีนิยมใหม่” มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปล่อยเสรีทางการเงิน องค์กรธุรกิจของรัฐถูกบูรณาการให้เป็นแบบเอกชน มีการบริหารจัดการที่ทันสมัย มีตัวชี้วัดและการประเมินผลต่างๆ

สิ่งเหล่านี้เป็นเกณฑ์เดียวกันกับชาติตะวันตกเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐหรือสหภาพยุโรป แต่ข้อแตกต่างอยู่ที่เสรีนิยมใหม่ของตะวันตกจะปล่อยให้เอกชนว่าไปเลย รัฐบาลไม่เข้ามาแทรกแซง แต่ของจีนเป็นเสรีนิยมโดยรัฐ ธุรกิจนั่นคือเป็นของรัฐ

“China Model ก็คือคุณเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และคุณก็เป็นผู้บริหารองค์กรธุรกิจของรัฐด้วย วิธีการของจีนก็คือ ให้เงินเดือนคุณสูงๆ ให้โบนัส และยังให้ถือหุ้นในองค์กรนั้นด้วย ฉะนั้นยิ่งคุณบริหารได้กำไรคุณก็ยิ่งรวย วิธีนี้เป็นสิ่งที่จีนทำมาในยุคปฏิรูปตลอด 20-30 ปี และประสบความสำเร็จมาก แล้วไอเดียนี้มันถูกถ่ายทอดไปยังลาว เวียดนาม และกัมพูชา

“คุณลองไปดูผู้นำลาว ธุรกิจที่คุณพูดมาทั้งหมด เช่น เขื่อน โรงไฟฟ้า ฯลฯ ถ้าไปดูรายชื่อคนที่ถือหุ้นจะต้องมีผู้นำรัฐด้วย เขาก็รวย แต่มันไม่ได้รวยแบบจีน เพราะของลาวมันทำลายทรัพยากร มันสร้างเขื่อน และยังประกาศอีกว่าต้องการเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย

“ว่ากันเฉพาะเรื่องเขื่อน เมื่อจีนสร้างเขื่อน มันเป็นพลังงานไฟฟ้า จีนอ้างว่าแม่น้ำโขงที่เขาสร้างเขื่อนมันอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของเขา โดยที่เขาไม่ได้คำนึงว่ามันเป็นแม่น้ำนานาชาติ ซึ่งต้องร่วมมือกับประเทศท้ายน้ำด้วย พอจีนสร้างเขื่อนถามว่าประเทศใต้น้ำว่าอย่างไร

“ตอนนี้ลาวก็สร้างเขื่อนที่ไซยะบุรี เราเป็นคนไทยเราก็รู้สึกว่ามันไม่ดี แต่พอจีนสร้างเขื่อนเราก็พูดไม่ออก เพราะไทยไปซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนจีน และไซยะบุรีไทยก็ซื้อไฟฟ้าตั้ง 75% ลาวใช้เองแค่ 25% แล้วถามว่าเราจะไปด่าเขาได้หรือไม่

“นั่นเพราะบริษัทไทยไปลงทุน และไปเป็นคนสร้างด้วย ทั้งเขื่อนจีนและเขื่อนลาว ไทยไปร่วมทั้งนั้น และมีข้อตกลงว่าเมื่อสร้างเสร็จแล้วไทยจะขอซื้อไฟฟ้าเท่าใด เมื่อสักครู่เรากำลังว่าจีนอยู่ แต่ไปๆ มาๆ เรากลับเป็นคนไปซื้อไฟฟ้าจากเขา แล้วยังไปสร้างให้เขา ถ้าเขาบอกว่าด่ากูดีนักงั้นกูไม่ขายไฟให้ เราก็ตายอีก มันก็เป็นแบบนี้ ฉะนั้นทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลแต่ละประเทศว่าคุณไปตกลงกับเขา” อาจารย์วรศักดิ์ วิพากษ์ตรงไปตรงมา

เราถามถึงการเข้ามาของทุนจีนเพื่อปลูกสวนกล้วย 2 จุด ใน จ.เชียงราย อาจารย์วรศักดิ์ บอกว่า การปลูกสวนกล้วยในลาว เกิดจากรัฐบาลสองฝ่ายสมยอมกัน แต่การที่ลาวไม่ทำอะไรกับจีนมากนัก (หมายถึงการต่อต้านแข็งขืน) ส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลจีนใช้ Soft Power ช่วยเหลือรัฐบาลลาวอย่างมหาศาลมาก จนกระทั่งลาวพูดไม่ออก

“กรณีของไทยที่เมืองจันท์ จีนมาเหมาไร่สวนแล้วเอาแรงงานจีนมาทำเอง เจ้าของสวนพอใจจะทำแบบนี้ จะไปว่าจีนก็ไม่ได้ เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศยินยอมเอง

คำถามคือทั้งหมดนี้เป็นการล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจหรือไม่? ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา ตอบว่า เรื่องนี้ละเอียดอ่อน เราจะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่ก็ไม่สบายใจ หันย้อนมาดูรัฐบาลของเรา รัฐบาลของเพื่อนบ้าน ก็ไปยอมจีนเอง มีการทำข้อตกลงกับรัฐบาล เขาไม่ได้ใช้อาวุธมาข่มขู่เหมือนกับยุคอาณานิคม ฉะนั้นข้อสำคัญคือต้อง รู้เท่าทันและเป็นตัวของตัวเอง”

“ถามว่ารัฐบาลจีนเห็นแก่ตัวหรือไม่ ผมอยากบอกว่าเขาเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง และไม่คำนึงถึงหัวอกคนอื่น เหมือนกับการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง คุณคิดง่ายๆ ว่าปีนี้ไทยแล้ง เวียดนามก็แล้ง เพื่อนบ้านเราแล้งหมด และเวียดนามเป็นฝ่ายโวย สมมติว่าในอนาคตเกิดประเทศใดประเทศหนึ่งมีความขัดแย้งกับจีนขึ้นมา แล้วจีนไม่ปล่อยน้ำขึ้นมา แล้วจะทำกันอย่างไร”

ก่อนจีนจะก้าวมาถึงจุดนี้ วรศักดิ์ บอกว่า ที่เห็นชัดๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 จีนเริ่มแสวงหาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาครอบๆ เช่น มาทางบ้านเราก็คืออุษาคเนย์ ไปทางซ้ายก็คือเอเชียใต้ อินเดีย เนปาล ปากีสถาน ด้านบนเอเชียกลาง อดีตสหภาพโซเวียต ทางตะวันออกก็เกาหลี ญี่ปุ่น

เวลานั้นเรียกความร่วมมือนี้ว่าความร่วมมือระหว่างจีนกับอนุภูมิภาคต่างๆ โดยจีนเริ่มเป็นฝ่ายเสนอ เช่น กรณีลุ่มแม่น้ำโขง จีนก็เสนอระเบิดเกาะแก่งให้แล่นเรือได้ตลอดปี พัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกเชื่อมต่อจีน-ลาว-ไทย จีน-เมียนมา-ไทย

ต่อมาทศวรรษ 2000 ในปี 2001 จีนได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) สำเร็จ นั่นคือจีนพร้อมแล้วที่จะมีการค้าเสรีกับประเทศใดก็แล้วแต่ และทำให้จีนเป็นฝ่ายรุกมากขึ้นหลังปี 2001 เป็นต้นมา

ก่อนเป็นสมาชิกดับเบิ้ลยูทีโอในปี 1980-1990 จีนมักจะเชิญมิตรประเทศเข้ามาทำการค้าการลงทุนในประเทศ แต่หลังเข้าดับเบิ้ลยูทีโอแล้ว จีนเริ่มเป็นฝ่ายออกไปลงทุนต่างประเทศ อาทิ จีนเริ่มมีข้อตกลงการค้าเสรีกับไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนในสมัยรัฐบาลทักษิณ

หลังจากนั้นจีนก็ทยอยตกลงทำการค้าเสรีไปทีละประเทศๆ จนกระทั่งเป็นเออีซี ต่อมาในทศวรรษ 2010 สิ่งที่จีนทำที่เราได้ยินหนาหูมาก มากกว่าปีที่แล้วและปีนี้ก็คือความพยายาม “ชูเส้นทางสายไหม” และ “เส้นทางสายไหมทางทะเล” นั่นคือต้องปรับปรุงเส้นทางคมนาคม เพื่อเชื่อมต่อกับจีน

กรณีอุษาคเนย์ จะเชื่อมไทยกับลาวเรื่องรถไฟความเร็วสูง ซึ่งไม่ใช่แค่ถนนหนทาง แต่หมายความถึงระบบโลจิสติกส์ ทั้งท่าเรือ สนามบิน ฯลฯ จีนจึงตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างขั้นพื้นฐานแห่งเอเชีย หรือ AIIB ต่อไปนี้ประเทศไหนต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก็สามารถกู้ AIIB ได้ ซึ่งข้อเสนอเรื่อง AIIB จะสอดคล้องกับเส้นทางสายไหม

“แนวทางนี้จีนต้องการพัฒนาให้ประเทศของเขาเป็นสังคมที่อยู่ดีกินดี คือลดความยากจนให้ได้มากที่สุด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่จะดีไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับการค้าระหว่างประเทศที่เขาพยายามทำอยู่ในตอนนี้ สิ่งที่จีนทำอยู่ในมิติเศรษฐกิจ แต่มันต้องมองหลายมิติควบคู่กันไป เช่น การเมืองระหว่างประเทศ ยกตัวอย่าง เส้นทางสายไหมทางทะเล ส่วนหนึ่งของเส้นทางคือ ‘ทะเลจีนใต้’ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาเกิดข้อพิพาทมีการใช้กำลังปะทะกับเวียดนาม ฟิลิปปินส์ เป็นช่วงๆ

“การที่จีนนำเสนอเส้นทางสายไหมเหมือนกับเป็นการ ‘สร้างภาพลักษณ์’ อย่างหนึ่ง ว่าตัวเองต้องการแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะมาปะทะกันในเรื่องการเมือง มันเหมือนเป็น Solf Power เป็นอำนาจอ่อน ทำให้ภาพพจน์ตัวเองดูดีว่าฉันใฝ่หาสันติภาพ

“แต่ในโลกของความเป็นจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้น จีนต้องการมิติเศรษฐกิจก็จริง แต่ว่าพอถึงเวลาที่มีการใช้เส้นทางทางทะเลผ่านทะเลจีนใต้ ถามว่าประเทศที่เป็นคู่พิพาทเขาคิดอย่างไร เช่น จีนไปสร้างสิ่งปลูกสร้างบนเกาะบางเกาะในทะเลจีนใต้ แล้วคู่พิพาทของเขาคิดยังไง ที่จีนไปสร้างอย่างนั้นถามว่าใครกล้ารื้อ

“ดังนั้นสิ่งที่จีนนำเสนอมิติทางเศรษฐกิจเรื่องเส้นทางสายไหมเนี่ย ลึกๆ แล้วมันมีเรื่องของปมความขัดแย้งซ่อนอยู่ ถึงแม้จีนจะประกาศว่าตัวเองแสวงหาสันติภาพ ใฝ่หาสันติภาพด้วยการชูเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แล้วทุกประเทศจะ Win-Win ซึ่งความจริงแล้วมันเป็นข้อเสนอที่ย้อนแย้งกับความเป็นจริง” อาจารย์วรศักดิ์ กล่าว