posttoday

รื้อใหญ่องค์กรสีกากี 1 ปีตำรวจต้องเปลี่ยนพฤติกรรม

15 เมษายน 2559

การปฏิรูปตำรวจเป็นหนึ่งในเรื่องที่หลายฝ่ายจับตามองมากที่สุด ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะดำเนินการไปในทิศทางใด

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การปฏิรูปตำรวจเป็นหนึ่งในเรื่องที่หลายฝ่ายจับตามองมากที่สุด ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะดำเนินการไปในทิศทางใด เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าตำรวจคือหน่วยงานที่เป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม

ล่าสุด คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานวางแนวทางการปฏิรูปตำรวจไว้ในหมวดปฏิรูปประเทศในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว

ทั้งนี้ รูปแบบของการปฏิรูปดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ให้ชัดเจนเพื่อมิให้คดีขาดอายุความ

2.การสอบสวนคดีต้องใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์ และจัดให้มีบริการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่าหนึ่งหน่วยงานที่มีอิสระจากกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีทางเลือก และ 3.ให้มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาดำเนินการปฏิรูปให้เสร็จภายใน 1 ปี

เป้าหมายของการปฏิรูปครั้งนี้อยู่ที่ผลสัมฤทธิ์เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงตำรวจให้เข้ารูปเข้ารอย และรับใช้สังคมประชาชนอย่างที่สุด โดยเฉพาะเพื่อให้ตำรวจปลอดจากอำนาจทางการเมืองให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ร่างรัฐธรรมนูญได้บัญญัติแนวทางการปฏิรูปไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ยังมีคำถามว่าจะเป็นจริงและก่อให้เป็นรูปธรรมได้หรือไม่ในทางปฏิบัติ

เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า กรอบระยะเวลา 1 ปี ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด เพียงแต่ว่ากลไกในทุกด้านของตำรวจ ทั้งองค์กร หลักการการทำงาน การปฏิบัติหน้าที่ และสิ่งสำคัญคือพฤติกรรมของตำรวจไทยจะต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงให้ได้ภายใน 1 ปีข้างหน้านี้

“แน่นอนว่าตำรวจเป็นองค์กรต้นน้ำที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมในสังคมเมืองไทย เมื่อต้นน้ำมีปัญหา การเปลี่ยนแปลงจึงต้องเกิดขึ้นและต้องกระทำให้ได้ ส่วนกรอบเวลาเป็นเรื่องของแนวทางที่ต้องเริ่มต้นปฏิรูปกันได้เสียที เพื่อให้อนาคตเป็นไปตามเป้าหมาย” เสรี ระบุ

ถึงกระนั้น สิ่งที่ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองกังวลเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ คือ เรื่องพฤติกรรมของตำรวจเอง เพราะต้องยอมรับว่าตำรวจทุกวันนี้ใช้อาชีพผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เป็นช่องทางหากิน หาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง แต่เรื่องพฤติกรรมเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้ยากที่สุด หากมีกฎหมายมากำหนดบังคับวิธีการปฏิบัติหน้าที่ หลักการตรงนี้เองก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมของตำรวจให้ถูกต้องขึ้นมาได้

“ความเคยชินของตำรวจคืออุปสรรคของการปฏิรูป สภาพของตำรวจเมืองไทยทุกวันนี้เราต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ก็หาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง เราปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องวิ่งเต้นโยกย้ายเท่านั้น แต่ตำรวจส่วนหนึ่งจะหาทุกช่องทางที่จะเรียกรับผลประโยชน์ อีกทั้งอาชีพนี้มีช่องโหว่ให้ทุจริตได้ง่าย และก็เรียกผลประโยชน์ได้เยอะ ดังนั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นชาวบ้านก็เดือดร้อน เพราะตำรวจแทนที่จะบำรุงความยุติธรรมให้กับสังคม แต่กลับเอาเวลาไปหาเงินให้ตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมามันไม่ถูกต้อง” เสรี ย้ำ

อีกด้านจาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มองถึงการปฏิรูปตำรวจในช่วงนี้ โดยเฉพาะปมเรื่องการกระจายอำนาจสีกากีเข้าสู่ระบบท้องถิ่นตามรูปแบบสหรัฐ อดีตบิ๊กตำรวจผู้นี้เห็นว่าสำหรับเมืองไทยแล้ว ยังไม่ใช่เรื่องที่ควร และระบบตำรวจของไทยในชั่วโมงนี้ก็ยังไม่ถึงกับต้องปฏิรูป หากแต่พัฒนาก็น่าจะเพียงพอ

“ผู้มีอำนาจคิดง่ายเกินไป ไม่ต้องมีตำรวจส่วนกลาง แต่ให้ไปขึ้นกับจังหวัดนั้นๆ ตามที่สังกัด เอาง่ายๆ ว่างบประมาณจะดูแลตำรวจแต่ละจังหวัดเพียงพอแล้วหรือยัง ถึงคิดส่วนนี้ขึ้นมา ไม่ใช่แค่เงินเดือนเท่านั้น ยังมีค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอุปกรณ์การทำงานต่างๆ เครื่องมือมีพร้อมให้ตำรวจทำหน้าที่หรือไม่ แม้แต่เงินยังชีพใช้เลี้ยงดูครอบครัวมีพอหรือยัง มีปัญญาให้เขาได้หรือเปล่าถึงจะแยกตำรวจออกไป” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ สะท้อนมุมมอง

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มองอีกว่า หากแยกตำรวจขึ้นกับจังหวัดปัญหาต่างๆ จะตามมามากมาย เนื่องจากการทำงานของตำรวจต้องพึ่งพาตัวเองทั้งหมด ทั้งการตรวจพิสูจน์หลักฐาน ชันสูตรศพ และแต่ละจังหวัดอุปกรณ์ที่ว่ามีเพียงพอแล้วหรือไม่

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ย้ำอีกว่า การแต่งตั้งตำรวจที่คุยกันมานานว่าไม่อยากให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซง แต่การมอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีมีสิทธิแต่งตั้งตัว ผบ.ตร. หรือสามารถย้ายออกจากตำแหน่งได้ ถามว่าตรงนี้คือแทรกแซงจากการเมืองหรือไม่ เพราะรัฐมนตรี นายกฯ ก็นักการเมืองเหมือนกัน

“ก้าวก่ายหรือไหมล่ะ ผมถึงอยากให้เขาเลือกกันเองว่าใครเหมาะสมจะมาคุมตำรวจด้วยกันเอง” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ย้ำ