posttoday

คำถามพ่วงประชามติ กุมชะตาร่างรธน.

04 เมษายน 2559

ทิศทางของ สนช.ต่อการเพิ่มคำถามประชามติกำลังมีแนวโน้มว่าน่าจะมีมติให้การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญมีสองคำถาม

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเมืองตลอดทั้งสัปดาห์นี้ ต้องจับตาไปที่การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะมีวาระต้องลงมติพิจารณาและตัดสินใจ 2 เรื่อง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

เรื่องที่ 1การพิจารณาให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญของ สนช.ที่มี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิก สนช.ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยสาระสำคัญ คือ การกำหนดแนวทางการควบคุมการออกเสียงประชามติให้มีความเรียบร้อย พร้อมกับให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีหน้าที่ร่วมเผยแพร่เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญด้วย จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดไว้

เรื่องที่ 2 พิจารณาประเด็นคำถามที่จะเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 มาตรา 39/1 กำหนด

เดิมทีการกำหนดประเด็นคำถามประชามติเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากคำถาม ว่า จะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นหน้าที่ของ สนช.เพียงฝ่ายเดียว ทว่าภายหลังได้มีการแก้ไขให้ สปท.สามารถทำความเห็นส่งมาให สนช.ประกอบการพิจารณาได้ แต่อำนาจเด็ดขาดว่าจะมีคำถามประชามติอีกหนึ่งคำถามจะขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุม สนช.

ล่าสุด ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้มีมติเสนอให้ สนช.ตั้งคำถามประชามติร่างรัฐธรรมนูญอีกหนึ่งคำถาม ว่าเห็นชอบกับการให้รัฐสภา (สส. และ สว.) ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ามติของ สปท.จะผูกมัด สนช.เสียทีเดียว เพราะที่สุดแล้วทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสนช.ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับ สปท.ก็ได้ โดยสถานการณ์ภายใน สนช.เวลานี้มีการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายที่ 1 ต้องการให้มีการตั้งคำถามประชามติ เพื่อต้องการช่วยอุดช่องโหว่ที่ยังมีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเตรียมไว้สองคำถาม ประกอบด้วย 1.เห็นด้วยหรือไม่กับการให้ สว.มีอำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยอ้างเหตุผลถึงการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารของฝ่ายนิติบัญญัติ และ 2.เห็นด้วยหรือไม่กับการให้วุฒิสภาร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีตามแนวทางของ สปท.

ฝ่ายที่ 2 ไม่ต้องการให้มีการตั้งคำถามประชามติ โดยมองว่าการเพิ่มคำถามประชามติเข้าไปจะกลายเป็นการสร้างปัญหามากกว่าสร้างผลดี

กล่าวคือ แม้การเพิ่มคำถามจะมีส่วนดีตามที่ฝ่ายสนับสนุนหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้าง แต่อีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นการสร้างความสับสนให้กับประชาชนในฐานะผู้ออกเสียงประชามติ เนื่องจากเห็นว่าประชาชนควรจะได้ให้ความสำคัญกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งการเพิ่มเข้าไปจะมีผลให้การตัดสินใจว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับคำถามที่สอง

แต่กระนั้น ทิศทางของ สนช.ต่อการเพิ่มคำถามประชามติกำลังมีแนวโน้มว่าน่าจะมีมติให้การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญมีสองคำถาม

โดยคำถามที่ สนช.น่าจะให้การสนับสนุน คือ การให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเห็นชอบร่วมกันของรัฐสภา

เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้ สนช.สนใจเรื่องที่มานายกรัฐมนตรีในระยะเปลี่ยนผ่าน ส่วนหนึ่งมาจากการมองว่าบทบัญญัติที่ กรธ.กำหนดให้กรณีที่สภาจะเลือกนายกฯ จากบุคคลนอกบัญชีของพรรคการเมืองได้ จะต้องให้รัฐสภามีมติ 2 ใน 3 หรือ 500 คะแนน จาก สส.และ สว.จำนวน 750 คนก่อนนั้นเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ

นอกจากนี้ สนช.และ สปท.ในฐานะสองในแม่น้ำ 5 สาย ไม่ค่อยพอใจกับบทเฉพาะกาลที่บัญญัติถึงประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่านเท่าไหร่นัก

ดังจะเห็นได้จากการประชุมร่วมกับ กรธ. เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง สนช.และ สปท.ได้ท้วงติงเรื่องการให้สว.มาจากการเลือกกันเองและให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลือกให้เหลือ 50 คน เพื่อไปรวมกับสว.จากการสรรหาจาก คสช.โดยตรงอีก 200 คน รวมไปถึงแนวทางการให้สภาเลือกนายกฯ จากบุคคลที่อยู่นอกบัญชีของพรรคการเมือง ที่ได้ยื่นกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันรับสมัครรับเลือกตั้ง สส.

ทั้งนี้ เฉพาะประเด็นการเลือกนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมือง สนช.มองว่าหากเกิดปัญหาที่นายกฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งระหว่างสมัยประชุมของสภา ประกอบกับบุคคลในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่เหลือขาดคุณสมบัติจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

สนช.และ สปท.เคยเสนอให้ กรธ.พิจารณาแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ทางเดียวที่ทำให้ กรธ.เปลี่ยนใจได้ก็ต้องหวังพึ่งช่องทางของการทำประชามติ เพราะหากประชาชนเห็นด้วยกับคำถามนี้ กรธ.ต้องจำยอมแก้ไขโดยปริยาย

แต่เหนืออื่นใดการมีคำถามสองออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปผูกโยงถึงวุฒิสภาในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ถูกวิจารณ์ถึงความเป็นประชาธิปไตยเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั้น ย่อมมีผลให้ร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คงไม่ต้องบอกว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติขึ้นมา จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยบ้าง