posttoday

ปชป. เอ็นจีโอ ตัวแปรชี้ขาดประชามติ

30 มีนาคม 2559

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะ 279 มาตรา ถูกส่งถึงมือคณะรัฐมนตรี (ครม.)

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะ 279 มาตรา ถูกส่งถึงมือคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นที่เรียบร้อย

รอชี้ขาดกันที่ด่านสุดท้าย​​ด้วยการออกเสียงประชามติ ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ซึ่งถือเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันจะมีผลต่อเส้นทางตามโรดแมปต่อไป

ในแง่ “เนื้อหา” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทั้งจุดเด่นและจุดอ่อนที่ต้องชั่งน้ำหนักพิจารณาข้อดีข้อเสียก่อนตัดสินใจว่าจะเห็นพ้องให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นกติกาสูงสุดของประเทศต่อไปหรือไม่

จุดเด่นของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ตรงที่มาตรการคัดครองบุคลากรเข้าสู่อำนาจ และมาตรการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ พร้อมบทลงโทษที่รุนแรง จนถูกขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ต่อเนื่องด้วยการวางโครงสร้างเพื่อรองรับการปฏิรูปในหลายเรื่อง

ส่วนจุดอ่อนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็มีอยู่หลายประเด็น ทั้งเรื่องสิทธิ ระบบเลือกตั้ง สส. ที่มาของนายกรัฐมนตรี ตลอดจนความเคลือบแคลงว่ามีเบื้องหลังสกัดขั้วอำนาจเก่าไม่ให้กลับมาสู่ถนนการเมือง

แถมล่าสุดยังถูกซ้ำเติมด้วยข้อกังขาเรื่องเปิดทาง “สืบทอดอำนาจ” ตามใบสั่ง คสช.

แรงเสียดทานที่เกิดขึ้นทำให้ คสช. ส่งสัญญาณผลักดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่ “เชือดไก่” เรียกกลุ่มป่วนที่คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญมาปรับทัศนคติเพื่อตัดตอนกระแสต้านไม่ให้ลุกลามบานปลายกลายเป็นปัญหาในอนาคต

แถมยังส่ง รด.และทีมงานลงไปในพื้นที่ชี้แจงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ ช่วยกระตุ้นเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น จึงประเมินได้ยากว่าผลการออกเสียงประชามติจะออกมาอย่างไร โดยเฉพาะยังมีเวลาอีกนานนับ 4 เดือน ซึ่งไม่รู้ว่า ณ เวลานั้น กระแสสังคมจะคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไร

ทว่า หากวิเคราะห์ตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แล้ว “ตัวแปร” ที่จะชี้ขาดผลการออกเสียงประชามติ อยู่ที่ฐานเสียง 2 กลุ่ม คือ ประชาธิปัตย์​ และเอ็นจีโอ

แน่นอนว่าในสังคมมีกลุ่มที่เปิดตัว “เห็นด้วย” และ “คัดค้าน” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งแต่ กรธ.ยังไม่ทันได้ลงมือเขียนสักมาตรา

กลุ่มที่คัดค้านชัดเจน ได้แก่ เพื่อไทยและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ เสื้อแดง ที่เปิดหน้าออกมาถล่มไม่เห็นด้วยทั้งเนื้อหาและกระบวนการร่างตั้งแต่ต้น

ถึงขั้นประกาศเตรียมออกมารณรงค์ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนจะถูกปรามด้วยมาตรการกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อมจาก คสช.

แต่สุดท้าย ไม่ว่าเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร กลุ่มประชาชนที่สนับสนุนทั้งพรรคเพื่อไทยและเสื้อแดงย่อมต้องโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ที่สำคัญฐานเสียงของเพื่อไทยและเสื้อแดงนี้เป็นฐานที่เหนียวแน่นและมีจำนวนอยู่ไม่น้อย หากกลุ่มนี้ออกมาลงคะแนนไม่เห็นด้วยมากเท่าไร ย่อมทำให้โอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติมีสูง

ส่วนกลุ่มที่ “สนับสนุน” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นฐานเสียงจาก กปปส. เดิมครั้งหนึ่งเคยออกมารวมตัวเรียกร้องขับไล่ขั้วอำนาจเก่า เรียกร้องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง

อีกทั้งยังเคยเรียกร้องให้กองทัพออกมาเคลียร์ทางตันหลังบ้านเมืองติดหล่มวิกฤตจนขยับไม่ได้

กลุ่มนี้แม้จะมีจำนวนไม่มากเท่าฐานเสียงเพื่อไทยหรือกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ก็มีจำนวนไม่น้อย แถมหัวขบวนอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศตัวออกสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ คสช.แบบเต็มสูบ งานนี้จึงมีฐานคะแนนกลุ่มหนึ่งตุนไว้ในกระเป๋า

แต่ตัวแปรที่สำคัญ คือ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเวลานี้ยังสงวนท่าทีขอรอศึกษาข้อดีข้อเสียก่อนจะมีความเห็นอย่างหนึ่งอย่างใด

ทว่า ด้วยฐานเสียงทั่วประเทศที่มีอยู่ไม่น้อย และเหนียวแน่น แม้จะไม่เท่ากับฐานของเพื่อไทยและเสื้อแดง แต่หากประชาธิปัตย์เทน้ำหนักไปทางหนึ่งทางใดย่อมมีผลต่อประชามติอย่างมีนัยสำคัญ

เทียบเคียงจากคะแนนบัญชีรายชื่อที่เคยเลือกประชาธิปัตย์

หมายความว่าหากประชาธิปัตย์ประกาศจุดยืน “ไม่เห็นชอบ” ร่างรัฐธรรมนูญย่อมเป็นการตอกฝาโลง ปิดโอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญจะ​ผ่านประชามติ​ แต่หากประชาธิปัตย์ “เห็นชอบ” ก็จะทำให้เสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับเสียงไม่เห็นชอบ

อีกเสียงชี้ขาดที่สำคัญจึงอยู่ที่กลุ่มเอ็นจีโอทั่วประเทศ ซึ่งมีเครือข่ายเหนียวแน่น และมีจำนวนไม่น้อย หากทั้งหมดผนึกกำลังเทน้ำหนักไปทางใดย่อมมีผลต่อประชามติ​

ปัญหาอยู่ที่จุดอ่อนเรื่องสิทธิ จากเดิมที่ กรธ.​ถูกถล่มอย่างหนักเพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปลดสิทธิที่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ หน้า จนสุดท้าย กรธ.ต้องยอมปรับแก้ ให้เรื่องสิทธิกลับมาครอบคลุมดังเดิม​​​

ที่สำคัญเสียงของเอ็นจีโอยังมีพลังโน้มน้าวชี้นำพลเมืองกลุ่มอื่นๆ ในสังคมให้คล้อยตาม โดยเฉพาะเหตุผลการรับหรือไม่รับเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเป็นสำคัญ

ดังนั้น ตัวแปรชี้ขาดประชามติ จึงอยู่ที่ ประชาธิปัตย์ และเอ็นจีโอ ขึ้นอยู่ว่าสุดท้ายจะมีท่าทีจุดยืนอย่างไร