posttoday

เงินร้อนทะลักไทย เก็งกำไรกว่า1แสนล.

19 มีนาคม 2559

ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น

โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กว่า 9 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่พันธบัตรดังกล่าวมีต่างชาติถือครองระดับพันล้านบาท เพิ่มเป็นกว่า 1 แสนล้านบาท ส่งผลให้ทุนต่างชาติได้รับผลตอบแทนส่วนต่างค่าเงินแล้ว 1,200 ล้านบาท รวมทั้งทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปเหนือกว่าระดับ 35 บาท/เหรียญสหรัฐ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.

กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินที่ไหลเข้ามาดังกล่าวเป็นเงินลงทุนระยะสั้นที่เข้ามาเก็งกำไร และได้ผลตอบแทนจากส่วนต่าง (แคปิตอลเกน) ถึง 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเวลาเพียง 2 สัปดาห์ นับเป็นค่าเสียโอกาสของไทยจากเงินบาทแข็งค่า แทนที่เงินจำนวนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภายในประเทศ ท่ามกลางหลายประเทศที่ใช้นโยบายการเงินกดอัตราแลกเปลี่ยนให้อ่อนค่าลง

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การเก็งกำไรค่าเงินดังกล่าว ธปท.ควรลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อลดความน่าสนใจในพันธบัตรระยะสั้นที่เป็นเป้าหมายหลักที่ถูกเก็งกำไรค่าเงิน เพราะหากดูการถือครองพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นตราสารระยะยาวต่างชาติยังทรงตัวอยู่ที่ 5.33 แสนล้านบาท ขณะที่ในตลาดหุ้นต่างชาติขายสุทธิ 1.41 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 22 มิ.ย. ในอัตรา 0.25% มาอยู่ที่ 1.25% โดยต้องจับตาสัญญาณจากการประชุม กนง. วันที่ 23 มี.ค.นี้ว่า คณะกรรมการ กนง. เริ่มมีเสียงแตกหรือไม่ รวมทั้งต้องติดตามการปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ของ ธปท.ในสิ้นเดือน มี.ค.ด้วย

“ตลาดการเงินตอนนี้พิสดารมากขึ้นแล้ว หนีไม่พ้น ธปท.ต้องเร่งดำเนินการสกัดเงินร้อนตรงนี้ด้วยการลดดอกเบี้ย ส่วนตัวคิดว่า 0.25% อาจจะไม่พอด้วยซ้ำ เพราะเมื่อปี 2553 ที่ ธปท.ลดดอกเบี้ยต่ำสุด 1.25% ตอนนั้นธนาคารกลางของต่างประเทศไม่มีใครใช้ดอกเบี้ยติดลบเหมือนปัจจุบัน แต่คิดว่าคงไม่ใช้มาตรการกันสำรอง 30% ที่กระทบกับเงินลงทุนเงินลงทุนโดยตรงหรือเอฟดีไอ” กอบสิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินในภูมิภาคต่างแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกัน โดยเงินวอนเกาหลีใต้แข็งค่ามากที่สุด 3.5% รองลงมา คือ เยนญี่ปุ่นแข็งขึ้น 2% เหรียญสิงคโปร์ 1.8% เหรียญไต้หวัน 1.7% ส่วนเงินบาทไทยแข็งค่าเป็นอันดับ 5 ในภูมิภาค 1.5% เท่ากับริงกิตของมาเลเซีย

ด้านธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) รายงานฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 11 มี.ค. 2559 ว่า อยู่ที่ระดับ 1.709 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.005 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท หากคิดอัตราแลกเปลี่ยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 34.80 บาท/เหรียญสหรัฐ

ขณะที่ฐานะซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ (Forward) อยู่ที่ระดับ 1.12 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิอยู่ที่ระดับ 1.821 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นักค้าเงิน ระบุว่า คาดว่าทุนสำรองที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้น่าจะมาจากการตีมูลค่าสินทรัพย์จากเงินบาทเป็นเงินเหรียญสหรัฐมีมูลค่ามากขึ้นตามการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท หลังเงินเหรียญสหรัฐปรับอ่อนค่าลงหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังไม่เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย และส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะทางการมีการเข้าดูแลเงินบาทแข็ง ด้วยการเข้าแทรกแซงเงินเหรียญสหรัฐที่ไหลเข้ามามากขึ้นเข้าเก็บในทุนสำรองประเทศ

สำหรับฐานเงินหรือเงินสดหมุนเวียนในมือภาคเอกชนบวกเงินฝากของสถาบันการเงินที่ ธปท.ปัจจุบันปรับลดลงจาก 1.65 ล้านล้านบาทในสัปดาห์ก่อน เหลือ 1.588 ล้านล้านบาทในสัปดาห์นี้ สะท้อนสภาพคล่องในระบบที่น้อยลง