posttoday

แม่น้ำ 4 สายบีบ ‘มีชัย’ รอยร้าวยิ่งฝังลึก

15 มีนาคม 2559

ยิ่งร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่โค้งสุดท้าย คือ วันที่ 29 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ยิ่งร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่โค้งสุดท้าย คือ วันที่ 29 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญให้กับรัฐบาลมากขึ้นเท่าไหร่ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองยิ่งมีการต่อสู้กันรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

ล่าสุดแม่น้ำ 4 สาย ประกอบด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ร่วมกันส่งหนังสือถึง “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. เพื่อขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในบางประเด็นนอกเหนือไปจากประเด็นการได้มาซึ่ง สว.

โดยเรื่องนี้ประธาน กรธ.ได้เป็นผู้ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนด้วยตัวเองเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา

“ได้รับหนังสือเกี่ยวกับความเห็นการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจากทาง คสช.แล้ว เบื้องต้นมีจำนวน 4-5 หน้า เป็นรายละเอียดที่มาจากการประชุมร่วมกันของแม่น้ำ 4 สาย โดยหลังจากนี้คงจะต้องอ่านรายละเอียดของข้อเสนอทั้งหมดก่อนนำเข้าที่ประชุม กรธ.เพื่อพิจารณา สำหรับข้อเสนอดังกล่าว กรธ.พร้อมที่จะเปิดเผยให้ทุกคนได้รับทราบ เพราะไม่ใช่เรื่องที่เป็นความลับ โดยจะมอบหมายให้ทางโฆษก กรธ.เป็นผู้ดำเนินการ” มีชัย ระบุ

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปว่า ข้อเสนอนี้ไม่มีสภาพบังคับเพราะถือเป็นเหมือนข้อเสนอทั่วๆ ไปใช่หรือไม่ ประธาน กรธ. ตอบว่า “มันก็มีน้ำหนักอยู่ เพราะว่ามันเป็นหนังสือมาจากคนที่รับผิดชอบบ้านเมือง ซึ่งเราก็ต้องให้น้ำหนัก เพราะขนาดชาวบ้านมีจดหมายมาเพียงฉบับเดียว กรธ.ก็ยังให้น้ำหนักได้ ดังนั้นก็ต้องให้น้ำหนัก”

การมีหนังสือในลักษณะดังกล่าว ถ้ามองในเรื่องกระบวนการไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะทั้ง กรธ.และแม่น้ำ 4 สายต่างทำงานประสานกันอยู่แล้ว เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้าไปได้ แต่หากมองในเชิงจังหวะและเวลาแล้ว ต้องถือว่ามีนัยทางการเมืองพอสมควร

กล่าวคือ ขณะนี้ กรธ.เหลือเวลาทำงานจนถึงวันที่ 29 มี.ค. เพียงไม่เกิน 15 วันเท่านั้น การโยนข้อเสนอชุดใหญ่มาให้กับ กรธ. จึงย่อมไม่ต่างอะไรกับการสร้างแรงกดดันมาให้กับมีชัยและ กรธ.

ในอดีต “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เคยถูก คสช.กดดันเหมือนกับมีชัยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ แต่เวลานั้น คสช.ไม่ได้แสดงเจตนาและความต้องการออกมาสู่สาธารณะ ก่อนร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์จะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ในเวลาต่อมา

ทว่าปัจจุบันกระบวนการสร้างแรงกดดัน กรธ. พบว่ามีการลงมือเป็นขบวนการผ่านรูปแบบของแม่น้ำ 4 สาย ซึ่งการกดดันรูปแบบนี้เป็นการพยายามบีบให้มีชัยและ กรธ.ต้องให้น้ำหนักกับข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในช่วงสุดท้าย เพราะไม่ได้เป็นการส่งมาจาก คสช.เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการส่งตรงมาที่ กรธ.ในนามแม่น้ำ 4 สาย ที่ต้องถือว่าแต่ละตัวอักษรที่อยู่บนโต๊ะทำงานของมีชัยเป็นสิ่งที่ กรธ.ยากจะปฏิเสธได้

สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งส่งผลให้มีชัยและคณะถูกบีบให้ต้องบัญญัติให้มี สว.สรรหาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสวนทางกับหลักการเดิมของ กรธ.อย่างสิ้นเชิง เพราะ กรธ.ต้องการให้วุฒิสภาในอนาคตประหนึ่งเป็นสภาพลเมืองที่มีความหลากหลายและปลอดจากการเมือง แต่เมื่อแม่น้ำ 4 สายไม่ได้คิดเช่นนั้น ย่อมทำให้ กรธ.ต้องเตรียมกลืนเลือดกันอึกใหญ่

สาเหตุที่แม่น้ำ 4 สายไม่ไว้ใจโครงสร้างวุฒิสภาที่ให้ผู้สมัคร สว.เลือกกันเองนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีชุดความเชื่อที่คิดว่าการใช้ระบบการเลือกตั้งทางอ้อมผ่านการเลือกกันเอง จะเป็นช่องให้ฝ่ายการเมืองส่งคนของตัวเองเข้ามาสู่กระบวนการเลือก สว. เพื่อตัดคะแนนฝ่ายตรงข้ามและไม่ให้คนที่เคยเป็นหอกข้างแคร่ฝ่ายการเมืองเข้ามาเป็น สว.ได้อีก

หากปล่อยให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแฝงตัวในวุฒิสภาได้ ย่อมสะเทือนต่อการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการยุทธศาสตร์ชาติในระยะยาว เพราะวุฒิสภาจะต้องทำหน้าที่เป็นรัฐสภาที่ต้องพิจารณาและให้ความเห็นชอบกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น ถ้าวุฒิสภาอุดมไปด้วยคนของนักการเมือง เป็นเรื่องยากที่ยุทธศาสตร์จะเกิดขึ้นได้ตามความหวังของ คสช.

นอกเหนือไปจากปัญหาการผลักดันที่ยุทธศาสตร์ชาติแล้ว การปฏิรูปประเทศผ่านกลไกตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีปัญหาไม่แพ้กัน เพราะหากวุฒิสภาเป็นเนื้อเดียวกับฝ่ายการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดสภาพบังคับที่รัฐบาลต้องดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญย่อมมีความเป็นไปได้มากขึ้น

แต่บังเอิญที่ชุดความคิดของแม่น้ำ 4 สายหลายประการไปขัดกับหลักการของ กรธ. ทำให้ กรธ.ต้องตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะการจะพาให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติยังต้องพึ่งกำลังของแม่น้ำอีก 4 สายอยู่

เท่ากับว่าการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งของ กรธ.ที่มีต่อข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สาย จะมีผลต่อร่างรัฐธรรมนูญในอนาคต

หรือไม่ถ้าถึงที่สุดแล้ว ถ้าแรงกดดันมาที่ กรธ.ยังแรงไม่หยุด อาจจะมีหักดิบจาก กรธ.ในแบบที่แม่น้ำ 4 สายคาดไม่ถึงด้วย