posttoday

ดันสว.สรรหา เพิ่มแรงต้านรัฐธรรมนูญ

03 มีนาคม 2559

ส่อเค้าวุ่นวายมากขึ้น เมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จุดประเด็นข้อเสนอให้ สว.มาจากการสรรหาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปี

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์​

ส่อเค้าวุ่นวายมากขึ้น เมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จุดประเด็นข้อเสนอให้ สว.มาจากการสรรหาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปี เพื่อจะได้ทำงานร่วมกันกับ สส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ในการปฏิรูปและปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติให้เป็นตามกรอบที่วางไว้

จากเดิมที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดให้ สว.มาจากการเลือกไขว้จากแต่ละกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาในอดีต ทั้ง สว.ที่มาจากเลือกตั้งซึ่งจะซ้ำซ้อนกับฐานของ สส. ขณะที่ สว.ซึ่งมาจากการสรรหา จะผูกขาดการเข้าสู่อำนาจเพียงแค่ไม่กี่คน แทนที่จะให้ประชาชนทั้งประเทศเป็นคนตัดสิน

ทว่า ทางออกที่ กรธ.ตกผลึกออกมานี้กลับมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย ทั้งเห็นว่าเป็นการไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาในอดีต ยิ่งการเปิดให้คนที่อยู่คนละสายอาชีพเป็นผู้เลือก สว.​จากอีกกลุ่มนั้น จะทำให้รู้จักประวัติ ประสบการณ์ ​เบื้องหน้าเบื้องหลังคนในกลุ่มนั้นมากน้อยแค่ไหน

ดีไม่ดีจะกลายเป็นการผลัดกันเกาหลัง หรือเปิดให้การล็อบบี้สลับกันเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มที่จะทำให้มีปัญหาหนักกว่าเดิม

แม้ทางมีชัยจะยังแบ่งรับแบ่งสู้ออกตัวว่าต้องรอดูความชัดเจนจากที่ประชุม กรธ.ก่อนว่าจะมีความเห็นต่อเรื่องนี้ไปในทิศทางใด 

แต่ด้วยสถานะของ “บิ๊กป้อม” พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ ​ที่เป็นคีย์แมนสำคัญใน คสช. ข้อเสนอจาก พล.อ.ประวิตร ที่ยิงตรงด้วยตัวเองเช่นนี้ ย่อมมีน้ำหนักเป็นพิเศษให้ กรธ.ต้องรับฟัง

ที่สำคัญ ข้อเสนอนี้ยังไปสอดรับกับท่าทีบิ๊กเยิ้ม-พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 12 (ตท.12) กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ในฐานะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 

ด้วยการยื่นข้อเสนอให้ คสช.สรรหา สว.เองใน 5 ปีแรก ด้วยการสรรหาจากบุคคลทุกสาขาอาชีพเพื่อให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ 20 ปี

อีกด้านหนึ่งยังสอดรับไปกับข้อเสนอจากฝั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกไขว้ สว.​ทางอ้อมจาก 20 กลุ่มอาชีพ เพราะไม่สามารถป้องกันการบล็อกโหวตได้ อาจทำให้เกิดการทุ่มซื้อเสียงเพื่อได้เป็น สว.

ดังนั้น ควรเปลี่ยนมาใช้ระบบ สว.ที่มีที่มาจากระบบสรรหาทั้งหมด โดยปรับแก้ที่มาของคณะกรรมการสรรหา สว.ให้เปิดกว้างมากขึ้น

ทุกอย่างดูสอดรับไปหมด เมื่อ พีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. ออกมาสนับสนุนแนวคิดบิ๊กป้อม พร้อมเสนอให้กระบวนการสรรหา สว.ชุดเฉพาะกิจเหล่านี้กระจายไปให้ทั่วถึงทุกกลุ่ม โดยเฉพาะควรให้มีสัดส่วน สว.จากภาคต่างจังหวัดมากขึ้น

ปัญหาอยู่ตรงที่หาก กรธ.ยอมรับเปลี่ยนที่มา สว.ตามข้อเสนอจากหลายฝ่ายให้กลับมาเป็นการสรรหาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี หรือเป็นการถาวรในรัฐธรรมนูญ ย่อมถูกมองว่าเป็นหนึ่งในความพยายามวางมือไม้ของ คสช.ให้มารับตำแหน่ง

ยิ่งจะเป็นการตอกย้ำข้อครหาเรื่องการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร

เข้าทำนอง “ปากว่าตาขยิบ” ​ด้านหนึ่งพยายามชี้แจงว่าไม่มีการเปิดประตูอยู่ในอำนาจ แต่กลไกหลายอย่างที่วางไว้ดูจะสวนทางกับที่พยายามชี้แจง

โดยเฉพาะข้อเสนอจากคณะรัฐมนตรี ข้อ 16 บังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นสองขยัก คือ ช่วงเฉพาะกิจและระยะยาว ที่ถูกมองว่าเป็นความพยายามอยู่ในอำนาจนานกว่าโรดแมปเดิม

ยิ่งหากให้อำนาจ คสช.​เลือก สว.ตามข้อเสนอของ พล.อ.ธวัชชัย ย่อมคาดเดาได้ว่ากลุ่มที่จะมาเป็น สว.ชุดแรกจะมีหน้าตาอย่างไร และกระจุกตัวอยู่ฝั่งใด

​แม้แต่ในกรณีที่ใช้กรรมการสรรหา ย่อมหนีไม่พ้นข้อครหาวางคนใกล้ชิด คสช.มารับตำแหน่ง สว. เพื่อควบคุมกลไกการทำงานของรัฐบาลในอนาคต

วิเคราะห์ลึกๆ แล้ว ​กระบวนการเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มสาขาอาชีพที่ กรธ.ตีกรอบไว้ คงยากจะควบคุมทิศทางคนที่จะมาเป็น สว.ในอนาคตได้ เพราะมีปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมหลายประการ

การใช้กรรมการสรรหาเป็นผู้ชี้ขาดน่าจะไว้ใจได้มากกว่า ว่าใครจะมารับหน้าที่ในสภาสูง

แต่แน่นอนว่า หากระบบ สว.กลับไปใช้การสรรหาเหมือนอดีตที่ผ่านมา ย่อมนำไปสู่แรงต้านหนักยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มต่อต้าน คสช. ที่จะหยิบประเด็นนี้ไปปั่นกระแสต้านร่างรัฐธรรมนูญ จนยิ่งจะทำให้โอกาสผ่านประชามติมีน้อยลงเรื่อยๆ

ยังไม่รวมกับแรงกดดันที่จะถาโถมกลับมายัง คสช.มากขึ้น ในฐานะที่วางกลไกไว้รองรับการสืบทอดอำนาจอย่างเป็นระบบ

สุดท้ายนี่จะทำให้เส้นทางนับจากนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งที่เคยกำหนดไว้ว่าจะมีขึ้นในปี 2560 เป็นไปอย่างยากลำบาก ดีไม่ดีหากกระแสสืบทอดอำนาจรุนแรงมากขึ้นจนคุมไม่อยู่ อาจทำให้ คสช.ต้องสะดุดขาตัวเองลงจากอำนาจไม่สง่างามอย่างที่คาด​