posttoday

เดิมพันแก้เหลื่อมล้ำ ขยายฐานภาษี

30 กรกฎาคม 2553

มีการประเมินคร่าวๆ ว่า หากรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้นโยบาย “สวัสดิการนิยม” เต็มสูบ ต้องหาเงินมาถมประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปี

มีการประเมินคร่าวๆ ว่า หากรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้นโยบาย “สวัสดิการนิยม” เต็มสูบ ต้องหาเงินมาถมประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปี

โดย...ทีมข่าวการเงิน

เดิมพันแก้เหลื่อมล้ำ ขยายฐานภาษี

ถือเป็นภาระหนักของรัฐบาล ที่ต้องหารายได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีผู้จ่ายภาษีทางตรงแค่ 9 ล้านคน ทั้งที่กำลังแรงงานในระบบทั้งหมดมีถึง 34 ล้านคน

หากไม่มีการขยายฐานภาษีให้ทุกคนจ่ายเงินเข้ารัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็คงไม่มีวันที่สวัสดิการนิยมจะเกิดขึ้นได้

หรือไม่ก็ต้องอาศัย “โชค” คืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 6% เพื่อเกื้อหนุนให้ภาคธุรกิจนิติบุคคลส่งรายได้เพิ่มขึ้น

ผลศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ที่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ สะท้อนให้เห็นว่ายังมีความไม่เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีอยู่มาก

แม้ผู้ไม่เสียภาษีจำนวนมากรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ แต่มีจำนวนอีกมากเช่นกันที่ได้รับการยกเว้นการเสียภาษีด้วยเหตุผลต่างๆ หรือเลี่ยงไม่จ่ายภาษีโดยไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

การศึกษาของทีดีอาร์ไอมีข้อค้นพบสำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก พบว่ามีความไม่เสมอภาคทางภาษีในระบบภาษีของไทย คือ ผู้มีความสามารถเสียภาษีเท่ากันยังเสียภาษีต่างกัน

เนื่องจากผู้มีหน้าที่ยื่นเสียภาษีตามกฎหมายจำนวนมากมิได้ยื่นเสียภาษี บางรายแจ้งรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง

“ผู้มีเงินได้ถึงระดับที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่มิได้เสียประมาณ 4-9 แสนคน ทำให้จำนวนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาน้อยกว่าที่ควรเป็นหลายหมื่นล้านบาท หรืออาจถึงระดับแสนล้านบาท” นายสมชัย จิตสุชนผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและกระจายรายได้ ทีดีอาร์ไอ ระบุ

ในส่วนของภาษีนิติบุคคล ทีดีอาร์ไอ พบว่า กิจการขนาดใหญ่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราต่ำกว่ากิจการขนาดเล็ก โดยเป็นผลจากการยกเว้นภาษีกิจการบางประเภท

หรือภาษีสรรพสามิต ก็มีการจัดเก็บต่างกัน ทั้งที่เนื้อแท้แล้วเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน

ขณะที่ภาษีจากฐานทรัพย์สินนั้น พบว่ามีผู้ถือครองทรัพย์สินจำนวนหนึ่งมิได้เสียภาษีแต่อย่างใด

ทางออกก็คือ รัฐบาลต้องพยายามขยายฐานภาษีด้วยการดึงคนเข้ามาสู่ระบบภาษีอย่างถ้วนหน้า จึงสามารถเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล ใช้จ่ายเพื่อคนยากจนและผู้ด้อยโอกาสได้มากขึ้น

พร้อมอุดช่องโหว่ ที่ฐานภาษียังไม่มีความเสมอภาค เช่น การยกเว้นกลุ่มอาชีพ อย่างภาคการเกษตรมักได้รับการยกเว้นหรือเก็บภาษีในอัตราต่ำ ทั้งที่มีเกษตรกรจำนวนมากที่มีรายได้เท่ากับหรือสูงกว่าผู้มีรายได้นอกภาคการเกษตรที่เสียภาษีมากกว่า

รวมทั้งค่าลดหย่อน เอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีรายได้สูงโดยไม่จำเป็น ส่งผลให้มีการหลบเลี่ยงภาษี และหนีภาษี


ขณะที่ผู้มีหน้าที่ยื่นเสียภาษีจำนวนมากยังมิได้ยื่นเสียภาษี และแม้จะมีการยื่นภาษี ก็อาจมีปัญหาความยากลำบากในการประเมินมูลค่าฐานภาษี

ทีดีอาร์ไอยกตัวอย่างการประเมินรายได้ของเกษตรกรที่มีความไม่แน่นอนสูง

หรือการประเมินมูลค่าทรัพย์สินซึ่งมีความแตกต่างกันในรายละเอียดสูง เช่น มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในต่างพื้นที่ ทำให้การเก็บภาษีตรงเป๊ะๆ ลำบากยิ่ง

ข้อเสนอทีดีอาร์ไอที่ทำให้กรมสรรพากรต้องสะดุ้งโหยง!!! คือการปรับเปลี่ยนกฎหมายว่าด้วยการยื่นเสียภาษี โดยให้ผู้มีอายุครบ 18 ปีทุกคนต้องยื่นแบบฟอร์มการเสียภาษี ไม่ว่าจะมีงานทำหรือมีรายได้หรือไม่
รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ผู้มีรายได้น้อยอยากยื่นแบบฟอร์มเสียภาษี ด้วยการผูกเงื่อนไขการรับสวัสดิการบางประเภทกับรายได้พึงประเมินตามแบบฟอร์มการเสียภาษี เช่น เงินค่าเลี้ยงดูบุตร สิทธิการรับการฝึกฝีมือแรงงาน

ในมุมมองของ นายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรได้ขยายฐานภาษีให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ทำให้ผู้เสียภาษีจำนวนรายเพิ่มขึ้น แต่เม็ดเงินอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก จากสิทธิลดหย่อนภาษีต่างๆ ที่รัฐบาลมีให้

“ปัจจุบันกรมสรรพากรร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น” นายวินัย ระบุ

นอกจากการขยายฐานผู้เสียภาษีแล้ว ยังติดตามการสร้างรายจ่ายเท็จเพื่อให้เสียภาษีน้อยลงอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการนำภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้ 3% มาขอคืนภาษีอีก

ขณะเดียวกัน กำลังตามการค้าขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (อีคอมเมิร์ซ) ให้มายื่นแบบเสียภาษี เพราะถือเป็นผู้มีรายได้ โดยเชิญตัวแทนเว็บไซต์ต่างๆ มาให้ความรู้และทำความเข้าใจแล้ว

นอกจากนั้น ยังตามข้อมูลธุรกิจที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้มาจัดกลุ่มไว้ติดตาม และจะขยายผลไปยังบุคคลที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ รวมถึงดูแลการลดหย่อนภาษีของคณะบุคคลให้น้อยลง เพื่อให้ฐานภาษีกระจายมากขึ้น

ขณะเดียวกัน นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ก็พยายามเดินเครื่อง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเก็บภาษีที่ดินอย่างทั่วถึง ใครมีมากจ่ายมาก ใครมีน้อยจ่ายน้อย

ส่วนการเก็บภาษีมรดกนั้น ดูเหมือนว่ายังเป็นไปได้ลำบาก เพราะรัฐบาลเกรงว่าจะเกิดแรงต้านจากคนที่มีพลังในสังคม

แน่นอนว่า ถ้ารัฐบาลทำได้ตามข้อเสนอของทีดีอาร์ไอและผลักดันเก็บภาษีที่ดินได้อย่างที่คุยโวเอาไว้ น่าจะลดกระแสเรื่องความเหลื่อมล้ำต่ำสูงได้ระดับหนึ่ง


แต่รัฐบาลก็มีความเสี่ยงที่จะถูกฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทยนำมาโจมตีว่าดีแต่รีดเลือดกับปู ดูดเลือดจากกระเป๋าคนจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องคิดหนัก

ประเทศไทยคงยังไม่สามารถเขยื้อนภูเขาอย่างที่ นพ.ประเวศ วะสี บอกได้เร็ววัน แต่หากไม่เริ่มวันนี้ก็ไม่รู้อีกกี่ปีจะได้ทำ

ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์จะเลือกคะแนนเสียงหรือเอากล่องผลงานชิ้นโบแดง