posttoday

อุบไต๋ ประชามติไม่ผ่าน จุดเสี่ยงป่วนหนัก

02 มีนาคม 2559

ชัดเจนผ่านถ้อยแถลงของวิษณุ เครืองามกับแผนเตรียมดำเนินการแก้รธน. (ฉบับชั่วคราว) ในประเด็นการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

ชัดเจนผ่านถ้อยแถลงของวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กับแผนเตรียมดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) เพียงประเด็นเดียวคือการทำความชัดเจนในประเด็นการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งเรื่องรายละเอียดขั้นตอนและเสียงชี้ขาดที่ยังคลุมเครือเป็นที่ถกเถียงกันในเวลานี้

ส่วนประเด็น “ทางออก” กรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามตินั้น จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) อีกครั้งในภายหลัง ด้วยเหตุผลเพราะ “ตอนนี้รัฐบาลยังหาทางไม่เจอ”

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องหาทางออกไม่เจออย่างที่อ้าง หรือจะเป็นแผนบีบหวังให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติได้ง่ายขึ้น แต่การตัดสินใจแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพียงแค่ขยักเดียว โดยทิ้งปมปลายเปิดที่ไม่รู้ว่าอนาคตหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเดินหน้าไปอย่างไร ย่อมนำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวาย

เริ่มตั้งแต่ประการแรกที่จะทำให้ผลของประชามติที่จะเกิดขึ้นไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะไม่รู้ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติจะเดินต่อไปอย่างไร

ทั้งการตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นรอบที่ 3 หรือการให้อำนาจ คสช. เลือกหยิบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ หรือจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในบางประเด็นก่อนประกาศใช้

ทั้งหมดยังคลุมเครือจนประชาชนผู้มีสิทธิจะออกเสียงประชามติ ไม่อาจพิจารณาชั่งน้ำหนักว่าจะตัดสินใจอย่างไร เพราะแม้จะเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีจุดอ่อนในหลายประเด็น แต่ก็ไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้แทนนั้นดีกว่า หรือแย่กว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ทำให้การตัดสินใจเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

​ไม่แปลกที่หลายฝ่ายจะออกมาดักคอว่านี่เป็นการ “มัดมือชก” บีบให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน ดีกว่าไปหวังน้ำบ่อหน้าที่ คสช.​จะเป็นผู้ชี้ชะตาขีดเส้นว่าจะให้เดินไปทางไหน

แต่อีกด้านการใช้มาตรการเช่นนี้ ย่อมเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของ “ประชามติ” หากสุดท้ายประชาชนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิรับร่างรัฐธรรมนูญ

แถมยังอาจเป็นประเด็นที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาดิสเครดิตทำลายความน่าเชื่อถือรัฐธรรมนูญในอนาคตเหมือนที่เคยเกิดขึ้น และต้องเดินเข้าสู่วังวนความขัดแย้งเหมือนเดิม

หากจำได้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ​ซึ่งผ่านประชามติมาแล้ว แต่มิวายยังถูกโจมตีว่าเป็น “ผลไม้พิษ” ที่มาจากต้นไม้พิษ ที่สำคัญการทำประชามติที่เกิดขึ้นครั้งนั้นยังถูกถล่มว่าไม่มีความน่าเชื่อถือเพราะอยู่ในช่วงบ้านเมืองไม่ปกติ

ที่สำคัญยังถูกโจมตีว่าสาเหตุที่ผ่านประชามติครั้งนั้น เพราะการรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน เพื่อเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ต่อจากนั้นค่อยกลับมาแก้ไข​รัฐธรรมนูญในประเด็นที่ไม่พอใจ

ครั้งนี้ก็เช่นกัน หาก “ประชามติ”​ ที่จะเกิดขึ้น เป็นไปในบรรยากาศเช่นนี้ และเงื่อนไขที่ถูกบีบให้จำเป็นต้องรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะไม่รู้ว่าหากไม่รับแล้วจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ย่อมจะทำให้สถานการณ์สุ่มเสี่ยงต้องก้าวกลับมาสู่วังวนความขัดแย้งเหมือนที่ผ่านมา

นอกจากจะเสียงบประมาณที่มาจากเงินภาษีอากรของประชาชนหลายพันล้านบาทที่ควรจะไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแล้ว นี่จะทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า แถมต้องมาสูญเสียเวลาไปกับหล่มปัญหาเดิมๆ อย่างไร้ทางออก ​

ไม่แปลกที่หลายฝ่ายจะพยายามออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล คสช.​สร้างความชัดเจนกรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ โดยระบุให้ชัดไปเลยหากไม่ผ่านจะเดินอย่างไร ให้ประชาชนตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

คล้ายที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปรียบเทียบว่า “มันไม่ใช่เล่นเกมโชว์ที่มาบอกว่าคุณจะเอาอันนี้ หรือคุณจะเอาที่มีผ้าคลุมเอาไว้ แต่คุณกำลังเอากฎหมายสูงสุดมาบอกว่าประชาชนยินยอมพร้อมใจที่จะให้กติกานี้เป็นกติกาที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเขากับรัฐ ต่อไปในอนาคตหรือไม่”​

เรื่องนี้จึงอยู่ที่ คสช.จะช่างน้ำหนักว่าจะตัดสินใจอย่างไร ยิ่งเวลานี้เริ่มมีกระแสรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว โอกาสที่จะไม่ผ่านประชามติก็มีความเป็นไปได้

แต่ทางออกที่จะใช้ช่องทางการบีบให้รับร่างรัฐธรรมนูญ​โดย อุบไต๋ ทางเลือกในอนาคต ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างความปั่นป่วนตั้งแต่ก่อนที่จะถึงวันลงคะแนนออกเสียงประชามติด้วยซ้ำ

โดยเฉพาะช่วงเวลาก่อนออกเสียงประชามติ ที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้วิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นทางออกที่ถูกหมกเม็ดเอาไว้ย่อมถูกหยิบยกมาอภิปรายถล่ม ที่จะยิ่งซ้ำเติมความน่าเชื่อถือของร่างรัฐธรรมนูญ

ยิ่งบรรยากาศอึมครึมที่ถูกกังขาว่า คสช.กำลังวางแผนต่อสายสืบทอดอำนาจด้วยแล้ว ปัจจัยเรื่องประชามติจะเป็นอีกประเด็นที่จะเติมเชื้อความวุ่นวายในอนาคต