posttoday

เขย่าเก้าอี้ ‘มาร์ค’ ปชป.สั่นคลอน

05 มกราคม 2559

เก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับมาสั่นคลอนอีกรอบ ทันทีที่ปรากฏชื่อ สุรินทร์ พิศสุวรรณ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับมาสั่นคลอนอีกรอบ ทันทีที่ปรากฏชื่อ สุรินทร์ พิศสุวรรณ จ่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรครอบหน้า พร้อมตั้งเป้าเป็นนายกรัฐมนตรี

ไม่ว่าจะเป็นการ “โยนหิน” เช็กกระแสสังคม​ หรือความ “คลาดเคลื่อน” ทางการสื่อสารในวงน้ำชา แต่ต้องยอมรับว่าชื่อของ สุรินทร์ ดูจะมาแรงกว่าชื่ออื่นๆ ที่ปรากฏก่อนหน้านี้

เริ่มตั้งแต่ภาพลักษณ์ที่โดดเด่น จบดอกเตอร์จากฮาร์วาร์ด สั่งสมเครดิตและชื่อเสียงจากผลงานด้านงานต่างประเทศจนได้รับตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ก่อนก้าวเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญระดับนานาชาติอย่างตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนในเวลาต่อมา

ประสบการณ์ระดับนานาชาติจึงกลายเป็นจุดแข็งที่สำคัญที่หาคนเทียบได้ยากในยุคนี้ โดยเฉพาะกับช่วงที่เริ่มต้นเข้าสู่ยุคเออีซี ​และยังต้องเร่งกู้วิกฤตเศรษฐกิจด้วยการขยายการค้าการลงทุนกับต่างประเทศที่เงียบเหงามานาน

อีกจุดเด่นคือสถานะ “ลูกหม้อ” ของประชาธิปัตย์​ จนได้รับความไว้วางใจจากพื้นที่ที่เป็น สส.ต่อเนื่อง 7 สมัย ตั้งแต่ปี 2529 ​แถมยังเป็นหนึ่งในศิษย์ก้นกุฏินายหัวชวน หลีกภัย

ที่สำคัญการออกไปทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานในเวทีระดับโลกช่วงที่ผ่านมา ทำให้ สุรินทร์ พ้นไปจากวังวนความขัดแย้งในสมรภูมิการเมืองรอบสิบปีที่ผ่านมา

เรียกได้ว่าไม่ใช่ “คู่ขัดแย้ง” หรือ​ “จำเลย” ที่ทำให้ประเทศยังต้องย่ำอยู่กับปัญหาเวลานี้ ​นั่นจึงอาจเป็นปัจจัยที่จะทำให้เส้นทางการสร้างสมานฉันท์ในอนาคตเป็นไปได้ง่ายขึ้น

ยิ่งหากฟังเสียงตอบรับจากสมาชิกพรรคจะเห็นว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ออกมาขานรับชื่อ สุรินทร์​

แต่ก่อนที่แรงกระเพื่อมจะบานปลายจนกัดกร่อนเอกภาพภายในพรรคมากยิ่งขึ้น สุรินทร์ ได้ออกมาตัดตอนกระแสข่าวว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน

“การจะเป็นหัวหน้าพรรคได้ต้องมีระบบมีขั้นตอน มีโครงสร้าง มีผู้ใหญ่ที่ต้องปรึกษาหารือ ไม่ใช่วิสัยของผมที่จะทำอะไรผลีผลามโดยไม่ปรึกษาผู้ใหญ่” ​

แม้จะมี “แรงหนุน” ไม่น้อย แต่การรีบพูดเรื่องชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในเวลานี้อาจไม่ใช่เรื่องดีนัก

ประการแรกเป็นการกดดันการทำหน้าที่ของ อภิสิทธิ์ ที่ยังต้องประคองพรรคต่อไปให้ครบวาระที่เหลืออยู่อีก 2 ปี ที่สำคัญรอบนี้ยังมีเดิมพันสุดท้ายเป็นการนำทัพลงสนามเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2560

ประการต่อมาจะยิ่งทำลายความเป็นเอกภาพภายในพรรค ที่เวลานี้ย่ำแย่หนักขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศตัวไปลุยการเมืองภาคประชาชน ​หากยังต้องมาแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันใน
ช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้อาจทำให้พรรคแตกได้

อย่าลืมว่าในอดีต​ ​2531 ประชาธิปัตย์ก็เคยอยู่ในสภาพคล้ายกันนี้ ​สุดท้ายเมื่อทุกอย่างไปด้วยกันไม่ได้​ กลุ่ม 10 มกรา ซึ่งนำโดย เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ และ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ ก็พากันขนลูกทีมนับสิบคนออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์

บทเรียนนี้จึงเป็นสิ่งที่ประชาธิปัตย์ต้องระมัดระวังไม่ให้พรรคต้องเดินกลับไปซ้ำรอยเดิม ​ที่จะยิ่งทำให้พรรคอ่อนแอลงกว่าเดิม

ดังนั้น เวลานี้จึงเริ่มเห็นบรรดาสมาชิกพรรคพร้อมใจตบเท้าออกมาสนับสนุน อภิสิทธิ์ ให้ทำหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ เพื่อสยบแรงกระเพื่อมไม่ให้รุนแรงกว่านี้

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความเคลื่อนไหวที่ต้องการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคมีมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เมื่อครั้งแพ้เลือกตั้งเพื่อไทยในสมัยที่สองจนสุดท้ายถึง อภิสิทธิ์ จะลาออก แต่สมาชิกก็ยังสนับสนุนให้กลับมากุมบังเหียนพรรคอีกรอบ

บวกกับแรงเสียดทานเมื่อต้องตกเป็นจำเลยในคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ต่อมามีการยกฟ้อง ​เหลือเพียงแค่คดีรับราชการทหารที่จนปัจจุบันยังมีสถานะเป็นผู้ถูกปลดออกจากราชการ

ต่อมายังเจอแรงขย่มอีกรอบ เมื่อ ​อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค ออกมาเดินเกมปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่ ที่สุดท้ายทำให้ อลงกรณ์ ต้องระเห็จออกจากพรรค

หลังรัฐประหาร วัชระ เพชรทอง ออกมาตีโพยตีพายว่ามีความพยายามจากบิ๊ก คสช.ที่ต้องการให้เปลี่ยนหัวหน้าพรรค เมื่อไม่ขานรับกับแนวคิด “รัฐบาลแห่งชาติ” 

สอดรับกับที่ บุญยอด สุขถิ่นไทย ออกมารับอธิบายว่าความพยายามเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคเป็นเพราะไม่รับลูกแนวคิด “นิรโทษ” อันอาจทำให้แนวทาง “ปรองดอง” ต้องสะดุด ​

ยิ่งมาเจอกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างสมาชิกพรรค และ ​ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ออกมาสาวไส้เงื่อนงำความไม่โปร่งใสใน กทม.อย่างดุเดือด ทำให้ปัญหาบานปลายหนักขึ้นเรื่อยๆ

อภิสิทธิ์ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคแต่ไม่อาจเคลียร์เรื่องนี้ได้ จึงตกที่นั่งลำบากถูกมองว่าไม่มีความสามารถสงบศึกจนกลายเป็นแรงบีบให้อีกทางหนึ่ง

​ในวันที่ไม่มี สุเทพ เป็นนั่งร้าน อภิสิทธิ์ จึงยิ่งอ่อนแรงต่อการรับมือกับ “ศึกใน” จนทำให้เก้าอี้หัวหน้าพรรคสั่นคลอนหนักขึ้นเรื่อยๆ 

แม้จะอีกสองปีกว่าจะหมดวาระ แต่นับจากนี้ล้วนเป็นก้าวย่างที่เต็มไปด้วยความเปราะบางของ อภิสิทธิ์ ​ในวันที่ศึกนอกกำลังสงบแต่ศึกในกำลัง​ระอุ