posttoday

ธนาคารยุโรปสอบตก 'Stress Test'ทางรอดความเชื่อมั่นนักลงทุน?

23 กรกฎาคม 2553

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ 

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ
 

ธนาคารยุโรปสอบตก 'Stress Test'ทางรอดความเชื่อมั่นนักลงทุน?

หลายคนคงจะเริ่มนับถอยหลังแล้วว่า ผลการทดสอบ Stress Test ของธนาคารและสถาบันการเงินในยุโรปจะออกมาเป็นอย่างไร
“ใครจะรอด” และ “ใครง่อย”...

หลังจากที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นที่เปราะบางและอ่อนไหวต่อกระแสข่าว ปรับผันผวนขึ้นๆ ลงๆ มาตลอด นี่จะเป็นก้าวแรกสำหรับในการสะสางภาพลบของยุโรป

การทำ Stress Test ครั้งนี้ เบื้องลึกก็คือ ความหวังของรัฐบาลทุกประเทศในยุโรปที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่า ธนาคารและสถาบันการเงินในภูมิภาคแกร่งมากพอที่จะรับมือกับสภาพของตลาด และวิกฤตทางเศรษฐกิจที่อาจจะรุนแรงมากในช่วง 2 ปีนี้

ปฏิบัติการนี้เรียกได้ว่า เป็นความพยายามของรัฐบาลยุโรปที่จะแยกปลาเน่าออกจากปลาดี

ดังนั้น คณะกรรมการกำกับดูแลภาคการธนาคารของสหภาพยุโรป (ซีอีบีเอส) ที่ดำเนินการทดสอบ เพื่อพลิกฟื้นความมั่นใจในครั้งนี้จะออกมาบอกว่า ไร้เงาปลาเน่า ทั้งเข่งแข็งแกร่งและเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ขณะที่นักลงทุนกลับได้กลิ่นโฉ่หึ่ง นั่นคงไม่ดีแน่...

แน่นอนว่า ผลที่จะออกมาในคืนนี้ราว23.00 น. ตามเวลาในบ้านเรานั้น โดยจะมีประกาศบนหน้าเว็บไซต์ของซีอีบีเอส และหน้าเว็บไซต์ของแต่ละธนาคารเองด้วย ซึ่งต้องมีธนาคารที่ถูกชี้และเขี่ยออกมาอยู่ในกลุ่มปลาเน่าเป็นแน่

จำนวนของปลาเน่านี่เอง ที่จะสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับการทดสอบความแกร่งในครั้งนี้... ไม่ชี้ปลาเน่าก็เท่ากับไม่สร้างความมั่นใจ ความเชื่อมั่น

แต่อาจจะเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนักจากทั้งหมด 91 สถาบันการเงินที่เข้ามาร่วมในการทดสอบครั้งนี้ ซึ่งครอบคลุมราว 60% ของสินทรัพย์ในภาคการธนาคารของยุโรป กระแสข่าวเล็ดลอดออกมาแล้วว่า ธนาคารใหญ่ๆ ในยุโรปอย่าง ดอยช์แบงก์ คอมเมิร์ซแบงก์ หรือบาเยิร์นแอลบี ผ่านฉลุย ไม่พลิกโผ

นั่นถ้าธนาคารสอบตกจำนวนมากไป ความตั้งใจในเบื้องต้นที่จะใช้โอกาสเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน ก็อาจจะกลับกลายเป็นการสร้างความระส่ำระสายมากขึ้นไปอีก ยังทำให้การกอบกู้วิกฤต “ไปไม่ถึงฝั่ง”
อีกทั้งการไม่ผ่านการทดสอบในครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ธนาคารเหล่านั้นจะล่มสลายไป แต่ต้องการระดมทุนเพิ่มมากขึ้นจากนักลงทุนหรือจากรัฐบาล เพื่อสร้างความแข็งแกร่งเตรียมรับมือกับภาวะช็อกทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น

นักวิเคราะห์ก็ประเมินกันออกมาเบื้องต้นแล้วว่า อาจจะหาทุนสำรองเพิ่มขึ้นอีกราว 5 หมื่น1 แสนยูโร

อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้จะมีการแถลงรายชื่อธนาคารที่ไม่ผ่าน Stress Test ก็ไม่ใช่จะหมายความว่า นั่นมากพอที่จะปลอบประโลมและฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะยาว
ที่เป็นเช่นนั้น ประการแรกต้องมองว่า การทดสอบครั้งนี้เป็นที่กังขามาตลอด

ทุกธนาคารในทุกประเทศใช้มาตรฐานและแบบทดสอบเดียวกันหมด ทั้งที่อาการของแต่ละประเทศสาหัสมากน้อยแตกต่างกัน

ถ้าเปรียบ Stress Test เป็นยาที่จะสร้างภูมิคุ้มกันและความมั่นใจ คำถามคือ ยานี้ก็เป็นยาที่อ่อนเกินไปสำหรับผู้ป่วยอาการสาหัสอย่างสเปนหรือโปรตุเกสหรือไม่

นักวิเคราะห์ก็พูดกันอย่างหนาหูว่า ถ้าสเปนย่ำตามรอยเท้ากรีซ จะส่งผลกระทบรุนแรงกว่ากรีซถึง 4 เท่า บททดสอบที่ว่านั้นแรงพอหรือเปล่า?
ไม่มีใครรู้ เพราะคาดว่าทางซีอีบีเอสจะไม่เผยถึงรายละเอียดดังกล่าวทั้งหมด

และถ้าบททดสอบไม่ได้ “โหด” หรือ “มองโลกในแง่ร้าย” มากพอ กับสถานการณ์จริงที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้น เมื่อถึงเวลาที่วิกฤตไร้ทางเยียวยาและโผล่ขึ้นมาจริง Stress Test ที่พ่วงมาด้วยความคาดหวังว่าจะเข้ามา “เก็บกวาด” ระบบธนาคารหลายแห่งที่หมกซ่อนปัญหาไว้ ก็ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ หรือเป็นยาที่แรงพอในการป้องกันวิกฤตและความเสียหายที่จะสร้างผลกระทบมหาศาลเป็นเงาตามมา

ประการที่สอง คือ จากการเผยผล Stress Test ในครั้งนี้ ธนาคารที่ต้องระดมทุนเพิ่มจะสามารถระดมทุนเพิ่มขึ้นจากแหล่งทุนที่ไหน และค่าเงินยูโรจะทนทานต่อแรงตอบรับเบื้องต้นจากการเผยผลที่เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด

เราอาจจะได้เห็นค่าเงินยูโรดิ่ง สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกครั้งในคืนนี้ก็เป็นได้...เร่งอัตราค่าเงินยูโรที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะดิ่งเหวว่าอยู่ที่ 1 ยูโรต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ให้เร็วมากขึ้นไปอีก
เมื่อครั้งที่สหรัฐนำเอาวิถีของ Stress Test มาใช้เรียกความเชื่อมั่น

ในคราวนั้น เบน เบอร์แนนคี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาแสดงความมั่นใจว่า Stress Test จะสร้างความเชื่อมั่นได้แน่นอน แต่สหรัฐก็ปูทางรับมือไว้สำหรับธนาคารไม่ผ่านการทดสอบ ด้วยกองทุนบรรเทาผลกระทบจากสินทรัพย์ที่มีปัญหา (ทีเออาร์พี) เป็น “เบาะนุ่มๆ” ไว้รองรับ

วันนี้ ยุโรปก็เชื่อมั่น ฌอง โคลด ตริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็แสดงความมั่นใจคล้ายๆ กันว่า จะส่งผลดีต่อตลาด สร้างความเชื่อมั่น
คำหวานโชย แบบไร้เงาของแผนรองรับที่ชัดเจน

นั่นจะมากพอที่จะอุดช่องโหว่รูรั่วแห่งความเชื่อมั่นได้อย่างไร?

เพราะทุกครั้งที่สถาบันจัดอันดับจากภูมิภาคอื่นมาหั่นและบั่นทอนความเชื่อมั่น ดับแสงสว่างที่เป็นทางออกของวิกฤตให้ริบหรี่ลงไปเรื่อยๆ ยุโรปก็คงเจ็บช้ำ

ชะตากรรมของยุโรปจะโรมรันและสร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจโลกต่อไปอีกในระยะสั้นหรือยาว ก็คงต้องฝากความหวังไว้กับความโปร่งใส รายละเอียด และแผนรับมือของบรรดาหัวเรือในสหภาพยุโรปแล้ว
ถ้าโอกาสที่จะกอบกู้วิกฤตมาถึงมือ แต่ยุโรปยังคงทิ้งขว้าง ไม่รอบคอบ และปล่อยให้ปัญหาสุมกองไว้ที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เป็นหัวใจในการขับเคลื่อนและรับมือกับเศรษฐกิจ นั่นคงไม่ต่างจากการทำร้ายตัวเอง และทำร้ายกันเอง