posttoday

ลุ้นอุทธรณ์ยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล. วิกฤตและโอกาสทักษิณ

23 กรกฎาคม 2553

โดย...ทีมข่าวการเมือง

โดย...ทีมข่าวการเมือง

11ส.ค. เป็นอีกครั้งที่ถนนสายการเมืองต้องมุ่งตรงไปที่ศาลฎีกา หลัง สบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา ได้กำหนดวันนัดประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้ง 142 คน เพื่อลงมติว่าจะรับอุทธรณ์คดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และครอบครัว ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาให้เงินจากการขายหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น และเงินปันผล จำนวน 4.63 หมื่นล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่

ลุ้นอุทธรณ์ยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล. วิกฤตและโอกาสทักษิณ

ขั้นตอนนี้สืบเนื่องจากองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาอุทธรณ์ ประกอบด้วย พีรพล พิชยวัฒน์ รองประธานศาลฎีกา สมศักดิ์ จันทรา ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา มานัส เหลืองประเสริฐ ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา ดิเรก อิงคนินันท์ ประธานแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา และฐานันท์ วรรณโกวิท ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา รวบรวมประเด็นอุทธรณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว และที่อัยการสูงสุดยื่นคัดค้านอุทธรณ์

พร้อมทำบันทึกความเห็นว่า คำอุทธรณ์ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในชั้นไต่สวนที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้ต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาให้ทำหน้าที่ตัดสินว่าจะรับอุทธรณ์หรือไม่ต่อไป

สาระที่ทีมทนายความของครอบครัวชินวัตรได้ยื่นไปให้ศาลฎีกาพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 278 มีด้วยกันทั้งสิ้น 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1.หนังสือของการไปรษณีย์และการสื่อสารของประเทศพม่า ยืนยันว่า นโยบายการปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ให้กับรัฐบาลพม่าจำนวน 4,000 ล้านบาท เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และการเอื้อประโยชน์ตามที่ศาลฎีกาวินิจฉัย

2.หนังสือของ บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ ยืนยันว่า ตามสัญญาสัมปทานให้สิทธิกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ใช้สัญญาณความถี่ซีแบนด์ ทั้งหมดเพียงหนึ่งช่องทางจากดาวเทียมทุกดวง ไม่ใช่ดวงละหนึ่งช่องทางตามที่ศาลฎีกาวินิจฉัย ดังนั้น แม้ดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่มีซีแบนด์ ก็ไม่กระทบกระเทือนสัญญาสัมปทาน จึงไม่ใช่ดาวเทียมสำรอง

3.กฎบัตรสหประชาชาติ ปฏิญญาสากล กติการะหว่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าการที่ศาลฎีกายอมรับประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาใช้บังคับและให้มีผลเหนือกว่ารัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ. ผิดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

4.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยประเด็นการออก พ.ร.ก.สรรพสามิต แสดงให้เห็นว่าศาลฎีกาต้องผูกพัน จะพิพากษาขัดแย้งไม่ได้

5.บทความและบทวิเคราะห์ทางวิชาการที่มีความเห็นแตกต่างจากคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น บทวิเคราะห์ของนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า มาตรการทั้ง 5 ข้อ ตามข้อกล่าวหาของอัยการสูงสุด รัฐไม่ได้เสียหาย

มีคำถามว่า 11 ส.ค.นี้ มีนัยทางการเมืองที่สำคัญอย่างไร

ทั้งนี้ หากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติว่าประเด็นเหล่านี้ ที่ทีมทนายความชินวัตรยื่นมาเป็นหลักฐานใหม่ที่ไม่เคยมีการไต่สวนในการพิจารณาของศาลฎีกาก่อนหน้านี้ ก็จะทำให้คดีนี้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนตามที่ได้ยื่นพยานหลักฐานเข้ามาใหม่อีกครั้ง

ปมสำคัญที่ทีมทนายความของชินวัตรต้องแสดงคำอธิบายต่อศาลฎีกาให้ได้ คือ นโยบายทั้ง 5 ที่ออกในช่วงรัฐบาลทักษิณไม่เอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว รวมไปถึง “ทรัพย์สิน” ที่ศาลสั่งยึดนั้นไม่ใช่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ

ขณะเดียวกัน ถ้าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่าไม่ได้เป็นพยานหลักฐานใหม่ถือว่าเงิน 4.6 หมื่นล้านบาท ก็จะตกเป็นของแผ่นดินและเป็นเงินที่เข้าสู่ระบบงบประมาณของประเทศ เท่ากับว่าปิดฉากมหากาพย์คดียึดทรัพย์ชินวัตรอย่างเป็นทางการ

แน่นอนว่าเงินเพียง 4.6 หมื่นล้านบาทนี้ ถึงที่สุดแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่ได้คืนมาก็คงไม่กระทบต่อความมั่นคงทางการเงิน

แต่หากศาลรับคำอุทธรณ์จะเป็นโอกาสที่ดีอีกครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้ใช้ช่องทางการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในข้อหาฉกรรจ์นี้ หลังจากถูกโจมตีมาตลอดถึงความไม่โปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินสมัยดำรงตำแหน่งนายกฯ มีการคอร์รัปชัน โกงภาษีล้วนเป็นเรื่องจริง

ไม่เพียงเท่านี้ พรรคเพื่อไทยก็จะได้ใช้จังหวะนี้ ลุ้นกอบกู้ภาพลักษณ์ของตัวเองกลับมาด้วย

ผลสุดท้าย หากศาลฎีกาตัดสินยกฟ้องและคืนทรัพย์สินให้ครอบครัวชินวัตร ประเด็นนี้ที่จะเป็นแรงผลักดันให้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นเหมือนพยัคฆ์ติดปีกด้วยการใช้ประเด็นฟื้นฟูภาพลักษณ์และสร้างต้นทุนทางการเมืองให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณใหม่ ก่อนที่การเลือกตั้งใหญ่กำลังจะมาถึงในปีหน้า

ตรงกันข้าม ถ้าในบั้นปลายที่ประชุมใหญ่ไม่รับอุทธรณ์หรือรับอุทธรณ์แล้ว แต่มีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินจะมีผลต่อภาพลักษณ์ทางการเมืองในเครือข่ายทักษิณ เพราะจะเป็นการตอกย้ำภาพของทักษิณว่าทุจริต คอร์รัปชันเชิงนโยบาย

ประกอบกับจะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อคดีอาญาที่เกี่ยวข้องในอนาคตที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาในศาลฎีกาด้วย อาทิ คดีปล่อยเงินกู้ให้พม่า คดีซุกหุ้นภาคสอง เป็นต้น ถึงทั้งสองคดีนี้จะต้องจำหน่ายชั่วคราวเพราะเป็นคดีอาญาที่ต้องนำตัวจำเลย (พ.ต.ท.ทักษิณ) มาฟ้องต่อศาล แต่อายุความก็ยังนับเดินหน้าต่อไปอีก 10 ปี ตามกฎหมาย ซึ่งตรงนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ตามที่ได้ลั่นดาลไว้

แม้ว่าวันหนึ่งพรรคเพื่อไทยจะมีโอกาสได้กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลและกุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้ทรัพย์สินคืนมา แต่ในทางการเมืองคงทำไม่ได้ง่ายแบบนับนิ้วมือ เพราะจะต้องเกิดแรงต้านอย่างสูง

11 ส.ค. จึงเป็นวันที่มีความหมายมากกว่ามติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าจะรับอุทธรณ์หรือไม่ เนื่องจากไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร หลังจากวันนั้นจะเป็นทั้งโอกาสและวิกฤตของ พ.ต.ท.ทักษิณ อีกครั้ง