posttoday

วัดใจ "กรธ." เอาไม่เอา "คปป."

14 ธันวาคม 2558

เมื่อชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียแล้วอาจจะดูขัดใจ คสช.ไปบ้าง แต่อย่างน้อยก็สร้างการยอมรับจากสังคมมากขึ้น

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สัญญาณล่าสุดจาก อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันว่า กรธ.ไม่มีความต้องการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เพื่อแก้ปัญหาผ่า “ทางตัน” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สอดรับกับข้อเสนอของ ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ. ที่ชงให้ใช้องค์กรที่มีอยู่หาทางออก เช่น ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสิน หรืออีกรูปแบบให้ประธาน 3 ศาล ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุด หาทางออกร่วมกัน

ทว่าหลายฝ่ายยังมองว่า นี่เป็นเพียงแค่ “หินถามทาง” ที่ออกมาหยั่งกระแสสังคม ก่อนที่ กรธ.จะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจังในช่วงต้นเดือน ม.ค.ปีหน้า

ต้องยอมรับว่า คปป.เป็นเหมือนระเบิดเวลาลูกใหญ่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่มีแรงต้านอย่างรุนแรง จนถึงขั้นที่วิเคราะห์กันว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวต้องถูกคว่ำในชั้นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

แม้ที่มา คปป.จะออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศเดินไปสู่ทางตัน และต้องจบลงด้วยการรัฐประหาร แต่อีกด้านหนึ่งกลับถูกโจมตีว่าเป็น “กลไก” ที่เปิดช่องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาแทรกแซงการบริหารของทั้งรัฐบาล และ สภาผู้แทนราษฎรที่จะมาหลังการเลือกตั้ง

ร้ายกว่านั้นมองว่า คปป.มีอำนาจที่จะทำรัฐประหารเสียงเอง แทนที่จะเป็นช่องทางสกัดการรัฐประหาร

เทียบเคียงได้กับอำนาจตามมาตรา 44 ของ คสช.ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพราะในร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์เขียนให้อำนาจ คปป.ในการระงับยับยั้งการกระทำใดๆ ทั้งทางนิติบัญญัติและทางบริหาร รวมทั้งคำสั่ง การกระทำ และการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และเป็นที่สุด

ยิ่งหากดูโครงสร้างที่มาของ คปป. ซึ่งมีอดีตผู้นำเหล่าทัพนั่งเป็นกรรมการด้วยแล้ว ยิ่งตอกย้ำข้อครหาเรื่องการเข้ามาสืบทอดอำนาจของ คสช.

การเลือกตัด คปป.ออกจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเป็นการ “ปลดชนวน” ป้องกันแรงโจมตีต่อเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ต้องชี้ขาดกันด้วย “ประชามติ” การตัดเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงได้มากเท่าไหร่ ย่อมทำให้โอกาสผ่านประชามติสูงมากขึ้นเท่านั้น

แต่เอาเข้าจริงการตัด คปป.ออกจากร่างรัฐธรรมนูญ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ดังจะเห็นจากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ค่อนข้างชัดเจนว่าต้องการให้มีกลไกอย่าง คปป.ในร่างรัฐธรรมนูญ

หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่อง คปป.ว่า ขออย่ากังวล เพราะ คปป.เป็นเหมือนร่มหนึ่งที่คอยดูแล 3 เรื่องหลัก คือ การปฏิรูป การปรองดอง และลดความขัดแย้ง แต่ขอยืนยันว่าไม่คิดที่จะครอบงำหรือมีอำนาจเหนือรัฐบาลชุดใหม่

“หากไม่มี คปป.แล้วจะเอาอะไรมาเป็นหลักประกันในการแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่วันนี้ยังตอบไม่ได้ว่า คปป.จะอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ มิฉะนั้นในวันหน้าจะมีการเสนอให้นิรโทษกรรม แต่หากไม่มีก็ต้องหากลไกอื่นทำเรื่องเหล่านี้ หรืออาจไม่มีเลย ซึ่งขึ้นอยู่กับ กรธ.”

ตอกย้ำด้วยหนังสือความเห็นของ คสช.ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ส่งถึง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เมื่อวันวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ตามที่ กรธ.ขอความร่วมมือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญไปยังหน่วยงานต่างๆ

โดยจาก 10 ข้อเสนอของ คสช. ข้อ 6 ระบุชัดเจนว่า ปัญหาวิกฤตหรือข้อขัดแย้งทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ รัฐธรรมนูญอาจเกิดภาวะทางตัน ดังนั้นการร่างรัฐธรรมนูญควรบัญญัติช่องทางผ่าทางตัน เพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ด้วย โดยเฉพาะการเกิดปัญหาสุญญากาศ ด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่อง

ในมุมของ คสช.เอง ย่อมไม่ต้องการให้ทุกสิ่งที่สู้อุตส่าห์ทำมาต้อง “เสียของ” จำเป็นต้องวางหลักประกันให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปตามแนวที่ต้องการ และหากรัฐบาลใหม่จะเดินออกนอกลู่นอกทางที่จะนำพาประเทศไปสู่ทางตัน ย่อมจำเป็นต้องมีกลไกสกัดไม่ให้ไปถึงจุดนั้น

อีกด้านหนึ่ง ภายหลัง คสช.ลงจากหลังเสือแล้วย่อมไม่อาจปล่อยให้ตัวเองตกอยู่ในสภา “ขาลอย” จนไร้ที่ยืนในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่สำคัญต้องสร้างหลักประกันให้ตัวเองป้องกันการถูกเช็กบิลในภายหลัง ไม่ให้ซ้ำรอยเหมือนเมื่อครั้งสมัย “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

สัญญาณเหล่านี้ชวนให้นึกย้อนไปถึงสาเหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ บวรศักดิ์ ยังคงต้องกำหนดให้ คปป.ไปต่อทั้งที่เต็มไปด้วยเสียงต้าน พร้อมหาทางออกด้วยการเขียนกำหนดภารกิจที่ชัดเจนของ คปป.

รอบนี้จึงเป็นการวัดใจ มีชัย และ กรธ.ว่าจะกล้าตัด คปป.ออกจากร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่

เมื่อชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียแล้วอาจจะดูขัดใจ คสช.ไปบ้าง แต่อย่างน้อยก็สร้างการยอมรับจากสังคมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางให้การทำประชามติมีโอกาสมากขึ้น แต่ทั้งหมดนี้คงต้องรอดูสถานการณ์และประเมินแนวโน้มกันในอนาคตก่อนที่ กรธ.จะตัดสินใจสุดท้าย