posttoday

แปลงคปป.ไปอยู่ศาลรธน. เดินเกมลดกระแสต้าน

04 ธันวาคม 2558

การร่างรัฐธรรมนูญในเวลานี้ เริ่มพิจารณาเรื่องร้อนๆ เป็นระยะ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่สร้างประเด็นความขัดแย้งได้พอสมควร

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การร่างรัฐธรรมนูญในเวลานี้ เริ่มพิจารณาเรื่องร้อนๆ เป็นระยะ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่สร้างประเด็นความขัดแย้งได้พอสมควร

ไล่มาตั้งแต่ระบบเลือกตั้ง สส.ที่กำหนดให้ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ภายใต้หลักการที่ต้องการให้ทุกคะแนนของประชาชนทั้งหมดมีความหมาย เรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ซึ่งขีดเส้นให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.ต้องเปิดเผยรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีจำนวน 5 คน ก่อน โดยสภาผู้แทนราษฎรยังต้องเป็นฝ่ายลงมติเห็นชอบว่าจะให้บุคคลที่เป็นหรือไม่ได้เป็น สส.ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่อีกประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยังคงถกเถียงและไม่อาจหาข้อสรุปได้ คือ กระบวนการได้มาซึ่ง สว. แม้ กรธ.จะมีความเห็นร่วมกันว่าควรใช้ระบบเลือกตั้งทางอ้อม แต่กลับไม่สามารถหาจุดที่ลงตัวได้ว่าควรกำหนดกลุ่มสังคมในฐานะผู้มีสิทธิเสนอรายชื่อมาชิงตำแหน่ง สว.อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนหลักๆ ของการเลือกตั้ง สว.นั้น เริ่มมีการพูดถึงโมเดลบางส่วนแล้ว โดยดำเนินการคัดสรร สว.เป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.ให้คัดเลือกกันในระดับอำเภอ 2.เมื่อได้รายชื่อจากระดับอำเภอแล้วจะต้องมาดำเนินการเลือกกันเองในระดับจังหวัด 3.นำรายชื่อที่ได้จากทุกจังหวัดมาทำการเลือกกันที่ส่วนกลาง

การเลือก สว.ในขั้นตอนสุดท้ายที่ส่วนกลางจะให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทำการเลือกกันเองว่าจะให้ใครเป็น สว. แต่ผู้สมัครที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันจะเลือกกันเองไม่ได้ เช่น ผู้สมัคร สว.ในกลุ่มสตรีไม่สามารถเลือกผู้สมัคร สว.ในกลุ่มสตรีเป็น สว.ได้ เพื่อให้เกิด สว.ที่มีพื้นฐานจากกลุ่มสังคมที่หลากหลายมากที่สุด และป้องกันการฮั้วคะแนนระหว่างผู้สมัครกันเอง

ทั้งนี้ หากจะบอกว่าประเด็นไหนของการร่างรัฐธรรมนูญในช่วงที่ผ่านมาน่าสนใจและถูกจับตามองมากที่สุด คงต้องยกให้กับการพยายามสร้างกลไกพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ

เดิมทีเรื่องดังกล่าวได้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมเป็นอย่างมาก ภายหลังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรน.) ชุดก่อนหน้านี้ได้บัญญัติให้รัฐธรรมนูญมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่มีอำนาจในการระงับความขัดแย้งหรือความรุนแรง ซึ่งนำไปสู่การตีความ คปป.มีอำนาจปลดนายกรัฐมนตรีระหว่างเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองหรือไม่ ก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

เมื่อคณะกมธ.ยกร่างฯ ชุดเก่าต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน จนนำมาสู่การตั้ง กรธ.ที่มี “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน ประเด็นที่ว่าด้วยการสร้างองค์กรที่มีอำนาจพิเศษก็ยังคงเป็นที่จับตาของทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง

ท่าทีของมีชัยต่อเรื่องนี้ในช่วงแรกๆ พยายามสื่อสารกับสังคมในทำนองว่า กรธ.ยังพิจารณาไปไม่ถึงเรื่องนั้น จนกระทั่งไม่นานมานี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ส่งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญมาให้ กรธ.จำนวน 10 ข้อ หนึ่งในข้อเสนอของ คสช.ระบุว่า "เนื่องจากปัญหาวิกฤตหรือข้อขัดแย้งทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และรัฐธรรมนูญอาจเกิดภาวะทางตัน ดังนั้น ควรบัญญัติช่องทางเผื่อกาลในอนาคตในการผ่าทางตัน เพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ด้วย โดยเฉพาะการเกิดปัญหาสุญญากาศทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง"

ข้อเสนอที่ออกมาจาก คสช. ส่งผลให้หลายฝ่ายจับตามองว่า กรธ.จะตามใจ คสช.ในฐานะผู้ให้กำเนิด กรธ.หรือไม่ ด้วยการให้ร่างรัฐธรรมนูญมีองค์กรที่มีอำนาจพิเศษเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ไม่มีความปกติ

ทว่า กรธ.แสดงความประนีประนอมผ่านการให้ศาลรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ไม่ปกติแทนการตั้งองค์กรที่มีลักษณะเหมือนกับ คปป.

โดย กรธ.บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่ากรณีใดบ้างที่ต้องดำเนินการตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 หากเกิดสถานการณ์ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการเอาไว้

เรียกได้ว่าเป็นการยกระดับให้ศาลรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่แก้วิกฤตแทน คปป.

"เดิมมาตรา 7 ที่ถูกเสนอให้ใช้เมื่อเกิดวิกฤตการเมือง มักจะเป็นปัญหาเรื่องการตีความ กรธ.ส่วนใหญ่เห็นว่า อำนาจนี้ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย" อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.ระบุ

จังหวะก้าวครั้งนี้ของ กรธ.น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะ กรธ.มีแต่ได้กับได้

กรธ.ได้ประโยชน์จากการลดแรงต้านที่มาจากการร่างรัฐธรรมนูญที่ไปกระทบประโยชน์ของฝ่ายการเมือง เพราะหาก กรธ.ไปกำหนดแนวทางแก้ไขวิกฤตภายใต้รูปแบบองค์กรพิเศษอย่าง คปป. ย่อมมีผลให้กระแสต่อต้านยังคงมีอยู่ต่อไป อีกทั้งไม่ต้องผิดใจกับ คสช.ด้วยที่ต้องการให้มีกลไกพิเศษแก้วิกฤตการเมือง

ทั้งหมดนี้แน่นอนว่าเป็นหมากสำคัญของ กรธ.เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือ การให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ เพราะทุกคนใน กรธ.ย่อมรู้ดีว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้เกิดไม่ไปถึงฝั่งขึ้นมา จะมีผลในทางการเมืองอะไรตามมาบ้าง