posttoday

ดีเอสไอ ยกฟ้องทีพีไอ ปชป.ได้-รัฐบบาลเสื่อม

21 กรกฎาคม 2553

ในระยะนี้จะเห็นได้ว่า “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” หรือดีเอสไอ ภายใต้การกุมบังเหียนของ ธาริต เพ็งดิษฐ์ ได้เข้ามามีบทบาทในทางการเมืองเป็นระยะๆ เนื่องมาจากเป็นองค์กรสำคัญของรัฐบาลในการเข้ามาสอบสวนคดีความเกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประมาณว่าทำงานสอบสวนแบบสากกะเบือยันเรือรบ

ในระยะนี้จะเห็นได้ว่า “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” หรือดีเอสไอ ภายใต้การกุมบังเหียนของ ธาริต เพ็งดิษฐ์ ได้เข้ามามีบทบาทในทางการเมืองเป็นระยะๆ เนื่องมาจากเป็นองค์กรสำคัญของรัฐบาลในการเข้ามาสอบสวนคดีความเกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประมาณว่าทำงานสอบสวนแบบสากกะเบือยันเรือรบ

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ดีเอสไอ ยกฟ้องทีพีไอ ปชป.ได้-รัฐบบาลเสื่อม

ส่งผลให้ชื่อของดีเอสไอได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้านหนึ่งเป็นเพราะการทำงานของดีเอสไอในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีภาระสำคัญหนักไปทางการตรวจสอบเครือข่ายคนเสื้อแดงเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเป็นองค์กรหลักสำคัญในการตรวจสอบการทำธุรกรรมของบุคคลที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยว่าให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในคดีก่อการร้าย ซึ่งล้วนแล้วเป็นกลุ่มทุนของพรรคเพื่อไทยแทบทั้งสิ้น


บทบาทของดีเอสไอเหล่านี้ทำให้เป็นข้อสงสัยให้กับบรรดาสมาชิกคนเสื้อแดงว่าดีเอสไอมีหลักการทำงานอย่างไร เพราะในสายตาของคนเสื้อแดงกำลังมองดีเอสไอว่าใช้มาตรฐานลักษณะใดในการทำงาน เนื่องจากคดีของเสื้อแดงดูเหมือนว่าดีเอสไอจะแข็งขันเป็นพิเศษ ตรงกันข้ามกับคดีของคนเสื้อเหลืองยังไม่มีการนำเข้ามาเป็นคดีพิเศษอย่างเป็นกระบวนการ

ด้านหนึ่งแล้วท่าทีของดีเอสไอต่อคดีความของคนเสื้อแดงยังพอทำเนาได้ว่าเป็นการทำตามหน้าที่ในฐานะเป็นหนึ่งในกรรมการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

แต่กับแนวทางของดีเอสไอที่เกี่ยวข้องกับคดีทางการเมืองอย่างคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงเป็นที่เคลือบแคลงอยู่ว่าฝ่ายการเมืองเข้ามาเล่นบทเป็นผู้กำกับหรือไม่

ขณะเดียวกันตัว “ธาริต” ถูกจับจ้องเป็นอย่างมากทันทีที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมดีเอสไอในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์หลังจากต้องไปนั่งตบยุงเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดยโยกอธิบดีคนเก่าที่ชื่อ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” ไปเฝ้าเก้าอี้รองปลัดกระทรวงยุติธรรม

ประเด็นที่มีการพุ่งเป้า คือ การเข้ามาเป็นอธิบดีนั้น “ธาริต” กลายเป็นที่จับตามากว่าจะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในคดีเงินบริจาคพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 258 ล้านบาทให้กับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ ในส่วนคดีที่เกี่ยวกับความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หลังจากที่คดีในส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองคณะทำงานของ พ.ต.อ.ทวีเมื่อครั้งเป็นอธิบดีได้ทำเสร็จและส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณา ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

แม้ว่า “ธาริต” จะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับคดีในส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่มีผลต่อการยุบพรรคประชาธิปัตย์ เพราะสำนวนดังกล่าวได้ส่งไปให้ กกต. พิจารณาแล้วตั้งแต่ที่ยังไม่ได้เข้ามาเป็นอธิบดี แต่ก็ไม่วายที่ดีเอสไอต้องถูกตั้งคำถามจากสังคม

เป็นเพราะคดีที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปรากฏว่าทีมพนักงานสอบสวนนำโดย พ.ต.ท.วรชัย อารักรัฐ ขอถอนตัวจากการทำหน้าที่แบบยกทีม

การลาออกของทีมพนักงานสอบสวนที่ตั้งในยุคอธิบดี “ทวี” ทำให้ “ธาริต” ถึงกับลมออกหูจนต้องตั้งโต๊ะแถลงชี้แจงต่อสังคมผ่านสื่อมวลชนหลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าปล่อยให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงการดำเนินคดีกับพรรครัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์

“เป็นเพราะบริษัท ทีพีไอ ได้ร้องขอให้เปลี่ยนทีมพนักงานสอบสวน เพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ทีมพนักงานสอบสวนจึงลาออกเพื่อเปิดทางให้ตั้งทีมพนักงานสอบสวนชุดใหม่ที่มี พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีดีเอสไอ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมพนักงานสอบสวน” ส่วนหนึ่งของคำชี้แจงของอธิบดีดีเอสไอ

ยิ่งล่าสุดดีเอสไอเพิ่งมีความเห็นว่าไม่ส่งฟ้องบริษัท ทีพีไอ เรื่องทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในการจ้างบริษัท เมซไซอะ บิซิเนส ทำสื่อโฆษณาและที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ 263 ล้านบาท ให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งของประชาธิปัตย์ เพราะการกล่าวหาเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงจากการบอกเล่ามาอีกทอดหนึ่ง และผู้กล่าวหาไม่สามารถให้รายละเอียดได้ชัดเจนเพียงพอ พนักงานสอบสวนจึงเห็นควรสั่งไม่ฟ้องบริษัท ทีพีไอ และในส่วนพนักงานสอบสวนชุดแรกซึ่งถูกร้องเรียนว่าปั้นพยานนั้น จะตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงถึงที่สุด

ผลที่ออกมา ดีเอสไอกลายเป็นเป้าทางการเมืองไปโดยปริยาย โดยเฉพาะกับท่าทีของพรรคเพื่อไทยถึงกับประกาศว่าหากได้กลับมาเป็นรัฐบาลเมื่อไหร่ อธิบดีดีเอสไอที่ชื่อ “ธาริต เพ็งดิษฐ์” โดนเด้งเป็นรายแรกอย่างแน่นอน เพราะความเห็นของดีเอสไอในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้ประชาธิปัตย์รอดจากการยุบพรรคไม่มากก็น้อย

ดังนั้นท่าทีล่าสุดเกี่ยวกับการไม่สั่งฟ้องคดีไซฟอนเงินของทีพีไอ จะทำให้ทุกคดีที่อยู่ภายใต้การดำเนินการของดีเอสไอ ถูกลากโยงเข้าสู่ประเด็นทางการเมืองทั้งสิ้น

ฉะนั้น ไม่ว่าผลการสอบสวนของดีเอสไอ ไม่ว่าคดีอะไร จะออกมาเช่นไร ก็ยากที่ฝ่ายตรงกันข้ามจะยอมรับได้ และยิ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย ผลเสียก็เกิดขึ้นกับรัฐบาล ที่อาจถูกมองว่าเข้าไปแทรกแซงใช้ดีเอสไอเป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงกันข้าม สร้างความชอบธรรมให้ตนเอง

แม้นายกรัฐมนตรี หรือคนในรัฐบาล จะออกมาปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องในการสั่งการดีเอสไอ แต่ในทางการเมือง ยากที่จะสลัดภาพดังกล่าวได้

อย่างไรก็ดี หากมองในเชิงโครงสร้างของดีเอสไอแล้ว คงเป็นการยากที่จะทำให้องค์กรนี้เป็นเขตปลอดการเมืองไปได้ เนื่องจากดีเอสไอไม่ได้เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเหมือนกับ กกต. ป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญ แต่ดีเอสไอเป็นองค์กรตาม พ.ร.บ.กรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รักษาการตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงและระเบียบเพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้

นั่นหมายถึงการมีอำนาจในการแต่งตั้งตัวอธิบดีด้วย

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ใช่ว่าดีเอสไอเพิ่งมาถูกสังคมข้องใจในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาล แต่ดีเอสไอในยุครัฐบาลของพรรคพลังประชาชนก็ทำให้ดีเอสไอกลายเป็นที่กล่าวขานในแง่ลบของสังคมมาแล้วเช่นกัน

ปี 2551 “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” รมว.ยุติธรรม ได้มีคำสั่งโยกย้าย “สุนัย มโนมัยอุดม” อธิบดีดีเอสไอ ให้ไปรักษาการเลขาธิการ ป.ป.ท. ซึ่งเป็นบุคคลทำคดีเกี่ยวกับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลายคดี
โดยคดีสำคัญ ได้แก่ คดีเจ้าหน้าที่รัฐอุ้มตัวทนายสมชาย นีละไพจิตร คดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น บริษัท เอส ซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และเครือญาติ เป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ และดีเอสไอได้สรุปสำนวนสั่งฟ้องไปยังอัยการแล้ว ตามมาด้วยการสั่งย้ายข้าราชการดีเอสไอที่ใกล้ชิดสุนัยแบบยกแผงให้ไปอยู่ ป.ป.ท. ถึง 31 ราย

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษไม่ว่าจะเข้ามาทำหน้าที่ภายใต้รัฐบาลชุดใด ก็ยังไม่สามารถทำให้สังคมคลายข้อข้องใจได้ว่าจะเป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งหวังของใครกันแน่ระหว่างประชาชนหรือฝ่ายการเมือง คงเป็นการยากที่จะทำให้การทำงานของดีเอสไอเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายในสังคม ถ้าตราบใดยังไม่มีกระบวนการที่ช่วยยกระดับให้ดีเอสไอเป็นเขตปลอดการเมือง