posttoday

ปชป.ร้าว เสี่ยงเสียฐานคนกรุง

27 ตุลาคม 2558

ปัญหาอยู่ตรงที่รอยร้าวระหว่าง​ กปปส.​ ปชป.​และ กทม.​ ที่กำลังระหองระแหงเวลานี้

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ศึกในประชาธิปัตย์กลับมาระอุอีกรอบ เมื่อ​ วิลาศ​ จันทร์พิทักษ์ และ วัชระ เพชรทอง อดีต สส.กทม. เปิดหน้าถล่มการบริหารงานของกรุงเทพมหานคร จนส่งผลสั่นคลอนเสถียรภาพของเก้าอี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. อย่างรุนแรง

รอยร้าวในอดีตจึงย้อนกลับมาเป็นปัญหารอบใหม่ที่ร้อนจนถึงขั้น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ต้องออกโรงเคลียร์ทั้งสองฝ่าย ป้องกันทุกอย่างพังหนักไปกว่าที่เป็นอยู่ เพราะ “ศึกใน” ที่เข้าทำนอง “หยิกเล็บเจ็บเนื้อ” เวลานี้ไม่ว่าสุดท้ายผลจะออกมาอย่างไร ย่อมไม่เป็นผลดีต่อทั้งฝั่ง กทม.​หรือฝั่งประชาธิปัตย์

แถมหากปล่อยให้บานปลายนานไป ย่อมสะเทือนไปถึงฐานเสียงคนกรุง ที่เป็นพื้นที่หัวใจสำคัญของประชาธิปัตย์ หรืออาจส่งผลให้ประชาธิปัตย์ไม่อาจรักษาแชมป์สมัยที่ 5 สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

เมื่อหลายเรื่องที่เปิดออกมาเวลานี้พัวพันไปถึงเรื่องทุจริต ซึ่งมีแต่จะยิ่งซ้ำเติมความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานของ กทม.ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่อง “น้ำท่วม” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะหลังหลุดปากไล่คนกรุงไปอยู่ดอย

ทั้งเรื่องกล้องซีซีทีวี ที่ถูกวัชระไล่บี้หนัก หลังเกิดเหตุโจรกรรมย่านบางแค เจ้าทุกข์ติดต่อขอภาพกล้องวงจรปิด กทม. จาก 26 ตัว ใช้ได้เพียงแค่ 5 ตัว จนนำมาสู่การขอดูสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง 

ต่อเนื่องด้วยการขุดคุ้ยข้อมูลจากวิลาศ อดีตประธาน กมธ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) ของสภาผู้แทนราษฎร ที่ขนข้อมูลหลายเรื่องออกมาเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็น รองผู้ว่าฯ กทม. คนหนึ่ง ที่บินเฟิสต์คลาสไปต่างประเทศทุกเดือน ซึ่งถูกเชื่อมโยงว่าจะเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อรถดูดเลน รถดูดไขมัน รถคีบขยะ หรือไม่ เมื่อพบว่ามีการทำหนังสือเวียนถึงเขตต่างๆ ขอให้ตรวจสอบและทำเรื่องมาถึง กทม.เพื่อขอให้ซื้อรถเหล่านี้

ยังไม่รวมกับปมการจัดซื้อจัดจ้าง การใช้งบประมาณอีกหลายเรื่อง ที่วิลาศเตรียมนำเรื่องส่งต่อให้ ป.ป.ช. ​และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบ อีกทั้งยังพบว่าจากเงินสะสม 3 หมื่นล้านบาทของ กทม.​ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 2,000 ล้านบาท

ตัวละครสำคัญ อย่าง อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ โดยหวังว่าจะมารับหน้าที่เป็น “กาวใจ” สงบศึกทั้งสองฝั่ง ก็ถูกถล่มไม่ต่างกัน

จากปมก่อนหน้านี้ อรรถวิชช์ออกมาป้องผู้ว่าฯ พร้อมเรียกร้องให้วิลาศเปิดหลักฐานให้ชัดเจนนั้น กลับถูกวัชระสวนกลับว่าให้ไปช่วยคดีความของมารดาจะดีกว่า แถมมองว่านี่อาจเป็นเหตุให้อรรถวิชช์ได้รับการตั้งแต่งให้เป็นที่ปรึกษาฯ

ทว่าหากสืบสาวราวเรื่องย้อนไปในอดีต จะพบว่า ปัญหารอยร้าวระหว่าง กทม.​และประชาธิปัตย์นั้นมีมานาน ตั้งแต่ช่วงคัดตัวผู้สมัครลงรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่หลายเสียงเวลานั้นเห็นว่าผลงานที่ไม่เข้าตาในสมัยแรกอาจทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เสียแชมป์หากลงต่ออีกสมัย

ยิ่งปรากฏการณ์ที่ทำตัวห่างเหินพรรคในช่วงรับตำแหน่ง ​ไม่ฟังเสียงสะท้อนจากคนในพรรคยิ่งทำให้หลายคนต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดการประสานงานระหว่างพรรคและ กทม.มากกว่านี้

สุดท้าย แรงหนุนจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค ทำให้คุณชายหมูได้ลงรักษาแชมป์อีกสมัย ที่ตกเป็นรองคู่แข่งอย่าง พล.ต.อ.พงศพัศ ​พงษ์เจริญ จากเพื่อไทยตั้งแต่ยังไม่ออกตัวก่อนจะได้กระแส “ไม่เลือกเราเขามาแน่” ช่วยไว้ได้แบบฉิวเฉียด

สะท้อนให้เห็นสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และสุเทพที่ชัดเจนขึ้นเมื่อ กทม.ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงที่ออกมาอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.

หลายปีที่ผ่านมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ถูกถล่มว่าบริหารงานแบบเป็น “เอกเทศ” ไม่ได้สอดรับ หรือเกื้อหนุนไปกับพรรคประชาธิปัตย์อย่างที่ควรจะเป็น 

หากส่องดูตำแหน่งรองผู้ว่าฯ 4 คน ที่เป็นโควตาของพรรค 2 ตำแหน่ง ทั้ง ผุสดี ตามไท และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง​ ชัดเจนว่า พล.ต.อ.อัศวินก็เป็นสายตรงของสุเทพ ส่วนอีก​ตำแหน่งทั้ง จุมพล สำเภาพล ​​และ อมร กิจเชวงกุล ก็เป็นสายตรงของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์

สอดรับไปกับตำแหน่งที่ปรึกษาฯ ล่าสุดของอรรถวิชช์ ที่มองว่ามาจากแรงหนุนฝั่ง กปปส.​ไม่ใช่ของประชาธิปัตย์ สะท้อนให้เห็นขั้วอำนาจระหว่าง ​กปปส​.​-กทม.-ปชป.

ปัญหาอยู่ตรงที่รอยร้าวระหว่าง​ กปปส.​ ปชป.​และ กทม.​ ที่กำลังระหองระแหงเวลานี้ หากยังไม่สามารถสมานรอยร้าวให้กลับมาแนบแน่น หรือดีขึ้นได้ ย่อมทำให้ทุกฝ่ายอ่อนแรงและส่งผลในการเลือกตั้งรอบหน้า ทั้งสนามใหญ่ และสนามเลือกตั้ง กทม.

อีกทั้งยังอาจเป็นจุดอ่อนให้คู่แข่งใช้โอกาสนี้ เข้ามาเจาะพื้นที่ชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อพื้นที่นี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่หลายพรรคต้องการช่วงชิง

แม้พื้นที่ กทม.เป็นฐานเสียงที่เหนียวแน่นของประชาธิปัตย์มานาน แต่ผลคะแนนที่สูสีมากขึ้นในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ย่อมทำให้ประชาธิปัตย์ไม่อาจนิ่งนอนใจ 

ยิ่งในช่วงเวลาที่ปัญหาภายในยังร้าวหนักและผลงานที่ยังไม่เข้าตาคนกรุง