posttoday

รัฐบาลบูมบ้านคนจน สวรรค์หรือแค่ฝันลอยลม

17 ตุลาคม 2558

เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลพยายามใช้ภาคอสังหาฯเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ หลังจากคลอด 3 มาตรการ "นายกฯ"ยังเล็งผุดบ้านคนจน ขายให้ผู้มีรายได้น้อยในราคาถูก

รัฐบาลพยายามใช้ภาคอสังหาฯเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ หลังจากคลอด 3 มาตรการ "นายกฯ"ยังเล็งผุดบ้านคนจน ขายให้ผู้มีรายได้น้อยในราคาถูก

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลพยายามใช้ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ หลังจากคลอด 3 มาตรการ ลดค่าธรรมเนียมการโอน ค่าจดจำนอง ผ่อนเกณฑ์การกู้เงินรายได้เดือนละ 3 หมื่นบาท กู้ได้ถึง 3 ล้านบาท และให้หักลดหย่อนภาษี 20% ทยอย 5 ปีภาษี มากระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.นี้ 

ไม่เพียงเท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาโครงการที่อยู่อาศัยของบริษัทเอกชนที่ประสบปัญหาทางการเงิน แต่มีความเหมาะสมเพื่อนำมาปรับปรุงเป็นที่อยู่อาศัย และให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย แล้วนำมาจำหน่ายให้แก่คนจนหรือผู้มีรายได้น้อยในราคาถูก และให้ขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่รัฐชั้นผู้น้อย เช่น ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และครู

ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาฯ เข้าพบเพื่อหาแนวทางสร้างบ้านต้นทุนต่ำให้ผู้มีรายได้น้อยเช่าระยะยาว 99 ปี บนที่ดินของกรมธนารักษ์ และที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย กำชับให้ส่งแผนภายใน 1 เดือน โดยได้สั่งการให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ เร่งหารือกันเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย เพื่อคนมีรายได้น้อย ทั้งทหาร ตำรวจ ประชาชน รวมไปถึงผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้

เบื้องต้นได้ให้ผู้ประกอบการรวมกลุ่ม ตั้งธุรกิจเพื่อสังคม หรือโซเชียลเอนเตอร์ไพรส์ (เอสอี) เพื่อสร้างบ้านราคาถูกให้ผู้มีรายได้น้อยเช่าระยะยาว โดยพื้นที่ที่จะสร้างนั้นอาจเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ หรือที่ดินของการรถไฟฯ

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีเครื่องมือให้ผู้มีรายได้น้อยมีบ้านผ่านการเคหะแห่งชาติ (กคช.) โดยเฉพาะบ้านมั่นคง แต่ยังมีค่อนข้างจำกัด ล่าสุดจึงต้องการสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มอีก 2.5 ล้านยูนิตในอีก 2 ปีข้างหน้า ส่วนแนวทางเพิ่มเติม คือ ให้เอกชนรวมกลุ่มสร้างบ้านราคาต่ำหลังละ 5-6 แสนบาท ให้ผู้ที่มีรายได้น้อยเช่าระยะยาว 99 ปี ซึ่งประชาชนที่มีเงินเดือนประมาณ 1 หมื่นบาท จะพอผ่อนส่งไหว

“แนวทางดังกล่าวได้สั่งการให้เอกชนไปหารือกันในกลุ่มย่อย จะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไรออกมาบ้าง ซึ่งคาดว่าจะได้ความชัดเจนภายใน 1 เดือน”อภิศักดิ์ กล่าว

ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า การทำโซเชียลเอนเตอร์ไพรส์ หรือธุรกิจเพื่อสังคมนั้น จะรับโจทย์เพื่อไปทำการบ้านต่อไป ซึ่งถือเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่ไม่มุ่งหวังกำไร จึงมีในเรื่องของข้อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องมีการหารือกันอีกครั้ง โดยยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการลงขันกัน เพื่อวัตถุประสงค์ช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อยโดยเฉพาะ และต้องมีการประชุมร่วมอีกหลายครั้งกว่าจะได้ข้อสรุป

ธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า เวลานี้ผู้ประกอบการต้องการความชัดเจน จากการที่รัฐบาลต้องการจัดทำที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย จะให้ภาคเอกชนเป็นผู้ก่อสร้าง ภาครัฐบาลสนับสนุนเฉพาะที่ดิน ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นที่มีต้นทุนสูง งบส่วนนี้จะมาจากไหน ทางที่ดีควรต้องสำรวจความต้องการของประชาชนให้ดี ก่อนที่จะลงมือก่อสร้าง เพราะหากก่อสร้างเป็นบ้านราคาถูก แต่อยู่ในทำเลที่ห่างออกไปอยู่นอกเมือง ห่างไกลจากแหล่งงาน อาจจะไม่มีความต้องการเช่า เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

กฤษดา รักษากุล ผู้ว่าการ กคช. กล่าวว่า กคช.อยู่ระหว่างพิจารณาที่ดินบริเวณจุดจอดรถไฟฟ้า (ดีโป้) 4 สาย เพื่อก่อสร้างเป็นอาคารชุดสำหรับผู้มีรายได้น้อย คือ 1.สายสีม่วง บริเวณคลองบางไผ่ 2.สายสีเขียว บริเวณบางปิ้ง 3.สายสีชมพู และ 4.สายสีส้ม ซึ่งเป็นจุดจอดเดียวกันบริเวณมีนบุรี รวม 7 โครงการ แบ่งเป็นโครงการอยู่บนที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 3 โครงการ และของ กคช. 4 โครงการ ซึ่งเป็นรูปแบบการเช่า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนการดำเนินงานก่อนนำเสนอ ครม. ส่วนการที่เรียกภาคเอกชนที่พัฒนาอสังหาฯ ไปหารือนั้น คงจะเป็นการขอความร่วมมือ แต่โมเดลการพัฒนาอาจจะต้องปรับเปลี่ยนใหม่ให้เหมาะสม

งานนี้ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า “บ้านเพื่อคนจน” จะเกิดได้แค่ไหน