posttoday

8ปี มหากาพย์ ไล่เช็กบิล ‘เอไอเอส’

18 กันยายน 2558

มติครม. วันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ให้ ไอซีที เร่งรัดให้บริษัท ทีโอทีเรียกเงินชดใช้ค่าเสียประโยชน์จาก เอไอเอส

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐ โพสต์ทูเดย์

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ให้ อุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เร่งรัดให้บริษัท ทีโอที เรียกเงินชดใช้ค่าเสียประโยชน์จากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ตามคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งชี้ว่าการแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งที่ 6 และ 7 ในอดีต เอื้อประโยชน์แก่เอไอเอสนับเป็นวิบากกรรมครั้งใหญ่ที่ยักษ์มือถือรายนี้ต้องเผชิญอีกรอบ

แม้ปัจจุบันเอไอเอสและ ทักษิณ ชินวัตร จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันแล้ว เพราะขายหุ้นให้แก่กลุ่มเทมาเซกไปตั้งแต่ปี 2549 แต่เนื่องจากถูกก่อตั้งโดยทักษิณ และเป็นธุรกิจหลักที่สร้างความแข็งแกร่งแก่กลุ่มชินวัตร ทำให้เอไอเอสกลายเป็นสัญลักษณ์อันเด่นชัดของอดีตนายกรัฐมนตรีรายนี้ และต้องเผชิญกับการไล่ล่าเอาผิดทุกครั้งที่ฝ่ายต้านทักษิณขึ้นครองอำนาจ

ชนักปักหลังที่ถูกหยิบมาเล่นงานทุกครั้ง คือเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานกับทีโอทีครั้งที่ 6 และ 7 ซึ่งสาระสำคัญคือ ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จาก 25-30% ของรายได้ เหลือ 20% ตลอดอายุสัมปทาน และให้หักค่าใช้จ่ายในการโรมมิ่งโครงข่ายกับค่ายมือถืออื่นออกจากรายการที่นำมาคำนวณเป็นค่าส่วนแบ่งรายได้

การ “จัดหนัก” ครั้งแรกเกิดขึ้นปี 2550 หลังการยึดอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) สิทธิชัย โภไคยอุดม เจ้ากระทรวงไอซีทีในขณะนั้น ทำหนังสือสอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการแก้ไขรายละเอียดสัญญาสัมปทาน ซึ่งในส่วนของเอไอเอส คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า การแก้ไขสัญญาครั้งที่ 2-7 มีการลงนามโดยไม่ได้เสนอต่อคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงานและไม่ได้เสนอ ครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบ จึงถือว่าการแก้ไขสัญญาไม่ถูกต้อง

ครั้งนั้นมีการตั้งคณะกรรมการประสานการแก้ไขสัญญาให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่จนแล้วจนรอดก็ได้แต่เจรจา เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นรัฐบาล เรื่องก็เงียบไป...

การไล่บี้เรียกค่าชดเชยจากเอไอเอสกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งในปี 2552 เมื่อ กรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ในขณะนั้นเสนอ ครม.พิจารณาความเสียหายของรัฐที่เกิดจากการแก้ไขสัญญาสัมปทานว่ามีมูลค่าสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท ซึ่ง ครม.ก็มีมติให้กระทรวงการคลังและไอซีทีไปตรวจสอบการแก้ไขสัญญาสัมปทานทั้งหมด แล้วเรื่องก็เงียบไปอีกเช่นเคย...

กระทั่งในปี 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายึดทรัพย์ทักษิณ ซึ่งในคำวินิจฉัยบางส่วนได้ระบุว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งที่ 6 และ 7 ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน

คำตัดสินดังกล่าวเป็นจุดอ้างอิงของการตรวจสอบสัญญาสัมปทานเอไอเอสอีกครั้ง โดยกระทรวงไอซีทีได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ขณะที่เอไอเอสก็ออกมาแถลงยืนยันจะสู้คดีเต็มที่หากถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย

การตรวจสอบดำเนินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเปลี่ยนตัวเจ้ากระทรวงจาก ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี มาเป็น จุติ ไกรฤกษ์ ก็มีการสั่งการให้ทีโอทีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเอไอเอสอีกครั้ง โดยบอร์ดทีโอทีชุดที่มี อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม เป็นประธาน ได้ส่งหนังสือทวงหนี้เอไอเอสเป็นเงิน 7.2 หมื่นล้านบาท พร้อมอัตราดอกเบี้ย 7.5% และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ภายในวันที่ 15 ก.พ. 2554 แต่สุดท้ายก็ไม่มีการฟ้องเกิดขึ้น โดยมีการตั้งคณะกรรมการเจรจาขึ้นมา แล้วเรื่องก็เงียบไป...

ผ่านมาถึงปลายปี 2557 ป.ป.ช.ก็มีมติชี้มูลการแก้ไขสัญญาสัมปทานทำให้รัฐเสียประโยชน์ พรชัย รุจิประภา รมว.ไอซีที คนก่อนหน้านี้ก็สั่งการทีโอทีไปสรุปผลกระทบที่เกิดขึ้น กระทั่งอุตตมเข้ารับตำแหน่ง จึงเสนอ ครม.เพื่อทราบและมีมติให้เรียกค่าชดเชยจากเอไอเอสอีกครั้ง

คงต้องรอดูท่าทีของทีโอที เพราะขาหนึ่งก็เตรียมเจรจาใช้เสามือถือร่วมกับเอไอเอสเพื่อให้บริการโทรศัพท์มือถือ 4จี หลังหมดสัญญาสัมปทาน แต่อีกขากลับโดน ครม.บีบให้เรียกเงินชดเชยจากคู่เจรจาที่หวังฝากผีฝากไข้ในอนาคต...