posttoday

ถอดรหัสกรรมการร่างรธน.

11 กันยายน 2558

หลัง สปช. ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ทำให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาใหม่จำนวน 21คน ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2558

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หลังสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ  ทำให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขึ้นมาใหม่จำนวน 21คน ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2558

ทั้งนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ สปช.ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามกำหนดการแล้ว คสช.ต้องดำเนินการแต่งตั้งให้เสร็จก่อนวันที่ 6 ต.ค. แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศจะเลือกให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 ก.ย.นี้

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้กำหนดสเปกคุณสมบัติของกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไว้ 3 ข้อ ด้วยกัน คือ 1.มีความรู้ด้านกฎหมายเป็นหลัก 2.ต้องรู้สถานการณ์ในวันนี้ ทั้งอดีตและวันหน้าจะเกิดอะไรขึ้น คนที่จะมาต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็กลับไปเป็นแบบเดิม 3.ต้องรู้เจตนาของตัวเอง รัฐบาล และ คสช.

สำหรับชื่อผู้ที่จะมากุมบังเหียนประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีโผหลากหลาย อาทิ “มีชัย ฤชุพันธ์” อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  “อมร จันทรสมบูรณ์” อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา “อานันท์ ปันยารชุน” อดีตนายกรัฐมนตรี “พรเพชร  วิชิตชลชัย” ประธาน สนช.

ทว่านาทีนี้ชื่อ  “มีชัย” มาแรงที่สุด โดยมี “อมร” มาเป็นคู่แข่งคนสำคัญ

เหตุผลที่ทำให้มีชัยดูเป็นที่โดดเด่นขึ้นมา ส่วนหนึ่งมาจากท่าทีของ คสช.ที่ไม่ต้องการจะเริ่มต้นเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด แต่จะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “บวรศักดิ์” มาเป็นต้นแบบในการจัดทำ เพียงแต่ปรับปรุงเนื้อหาในส่วนที่เป็นปัญหาเท่านั้น

หาก คสช.ยืนอยู่บนเหตุผลที่ว่านี้ เท่ากับว่ามีชัยเป็นคนที่เหมาะสมที่สุด เพราะมีชัยกับบวรศักดิ์เป็นคนที่ทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน และยิ่งในฐานะอาจารย์กับลูกศิษย์ด้วยแล้วย่อมทำให้มีชัยรู้ดีว่าจุดอ่อนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์อยู่ตรงไหน และน่าจะแก้ไขได้โดยง่าย

แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่มีชัยเป็นคนที่อยู่ในใจของ คสช. คือบารมีที่อยู่ในตัวของมีชัย

ต้องไม่ลืมว่ามีชัยมีดีกรีเป็นถึงผู้นำของฝ่ายนิติบัญญัติมาก่อน ทั้งตำแหน่งประธาน สนช.และประธานวุฒิสภา บารมีตรงนี้ที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญต่อการร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากธรรมชาติของการร่างรัฐธรรมนูญต้องอยู่บนการต่อรองเรื่องผลประโยชน์และการบริหารความขัดแย้งด้วย

ด้วยบารมีของมีชัยอาจมีส่วนช่วยให้มีชัยตบโต๊ะได้เสียงดังและกรรมการร่างฯ อีก 20 คนมีความเกรงใจและยอมรับการตัดสินใจของอดีตประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ

ทั้งหมดเวลานี้ขึ้นอยู่กับมีชัยจะตอบตกลงหรือไม่  แต่ถ้ามีชัยปฏิเสธด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ คสช.ต้องออกแรงหาคนมานั่งหัวโต๊ะใหม่

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ยืนยันว่า “มีชัย” ปฏิเสธ ส่วน “อมร” ก็มีปัญหาสุขภาพ จากนี้ต้องรอดูใครจะอยู่ในใจ คสช.อีก

นอกเหนือไปจากตำแหน่งประธานกรรมการร่างฯ ที่มีความน่าสนใจแล้ว ปรากฏว่าการหาตัวกรรมการร่างฯ อีก 20 คนก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองเช่นกัน

โดยมีการคาดการณ์ว่า คสช.อาจใช้สูตร “10-5-5” หมายความว่า 10 คนจะเป็นโควตาของ คสช. ส่วนที่เหลือจะแบ่งกันระหว่าง “สนช.-อดีต กมธ.ยกร่างฯ”

การคงไว้ซึ่งอดีต กมธ.ยกร่างฯ นั้นเป็นความต้องการของ คสช.ที่อยากแสดงให้เห็นว่าการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ ที่ผ่านมาไร้ความหมายและอยากให้เข้ามาช่วยสานงานต่อ โดยบุคคลที่อยู่ในข่ายที่ คสช.เตรียมเชิญ อาทิ สุจิต บุญบงการ กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ บรรเจิด สิงคะเนติ ปรีชา วัชราภัย เป็นต้น

ด้านโควตาของ สนช. เริ่มปรากฏความเคลื่อนไหวไปที่การทาบทาม “สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย” รองประธาน สนช.คนที่ 1 แต่มีแนวโน้มสุรชัยจะปฏิเสธ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 กำหนดให้กรรมการร่างฯ ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี

ขณะเดียวกัน สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปัจจุบันเป็นสมาชิก สนช. กำลังถูกเทียบเชิญด้วยเช่นกัน แม้ก่อนหน้านี้ จะแจ้งไปว่าส่วนตัวเคยทำหน้าที่นี้มาแล้วเมื่อการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ตาม

ส่วนคนนอกที่ คสช.กำลังเล็งไว้มีอยู่หลายคน เช่น สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลิขิต ธีรเวคิน นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้สิ่งสำคัญเหนืออื่นใด คือ คนที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จักต้องได้รับความเชื่อมั่นเชื่อถือจากประชาชน มิเช่นนั้นก็จะมีเสียงต่อต้านยิ่งกว่าครั้งที่ผ่านมาและจะทำให้ประเทศยิ่งวิกฤต