posttoday

คุกคดีกรุงไทย ปิดทาง ‘ทักษิณ’ กลับบ้าน

28 สิงหาคม 2558

คำพิพากษาให้จำคุกอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทยถึง 18 ปีจากกรณีปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร คดีนี้มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 ด้วย

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

คำพิพากษาให้จำคุกอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทยถึง 18 ปี จากกรณีปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มกฤษดามหานครของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2558 ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ เพราะเป็นการจำคุกผู้เกี่ยวข้องถึง 24 คน แล้วยังมีการสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

ในขณะเดียวกัน ยังเป็นคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยด้วย โดยอัยการ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะจำเลยที่ 1 ว่า สั่งการให้ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อแก่กลุ่มกฤษดามหานคร ทั้งๆ ที่กลุ่มบริษัทดังกล่าวมีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร

ศาลฎีกาฯ ยังไม่ได้พิพากษาว่า การกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นความผิดหรือไม่ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ หลบหนีการดำเนินคดี ทำให้ศาลฎีกาฯ ต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราว พร้อมกับออกหมายจับทันที

ทั้งนี้ แม้ในคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ส.ค. ตอนหนึ่ง ระบุว่า “ที่จำเลย 2-5 และ 8-27 ร่วมกันกระทำผิดหรือสนับสนุนจำเลยที่ 1 (พ.ต.ท.ทักษิณ) นั้น ได้ความจากพยานซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาสินเชื่อธนาคารกรุงไทยว่า ก่อนการประชุมอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทจำเลยที่ 18-19 นั้น จำเลยที่ 2 ได้โทรศัพท์มาหาพยานและบอกว่า บิ๊กบอสหรือซูเปอร์บอสได้ดูดีแล้ว ไม่ให้คัดค้านการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทจำเลยที่ 18-19 ซึ่งในชั้นพิจารณากับชั้นไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียแก่รัฐ (คตส.) พยานยังเบิกความไม่ชัดเจนว่าบิ๊กบอสหรือซูเปอร์บอสคือจำเลยที่ 1 หรือภรรยาของจำเลยที่ 1 กันแน่

แม้จะมีการอ้างถึงเงินจากเครือบริษัทจำเลยโอนเข้าบัญชีบุตรของจำเลยที่ 1 และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 แต่ก็พบว่ากลุ่มคนดังกล่าวก็เกี่ยวพันกับภรรยาของจำเลยที่ 1 พยานจึงอาจเข้าใจตามความคิดของพยานเองว่า บิ๊กบอสหรือซูเปอร์บอสคือจำเลยที่ 1 ดังนั้น ชั้นนี้อาจยังฟังไม่ได้ว่าจำเลย 2-5 และ 8-27 ร่วมกับจำเลยที่ 1”

จากคำพิพากษาดังกล่าว ทำให้ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ มองเห็นทางรอดอยู่บ้างในคดีนี้ แต่การที่ยังไม่มีคำพิพากษาออกมา แถมศาลได้ออกหมายจับอีกครั้ง ย่อมส่งผลให้โอกาสที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางกลับประเทศไทยแบบปลอดโปร่งมีความเป็นไปได้น้อยมากขึ้นไปอีก

พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีบัญชีคดีที่ตัวเองตกเป็นจำเลยในชั้นศาลฎีกาฯ อีกหลายคดี ประกอบด้วย

1.คดีโครงการออกสลากเลขท้ายพิเศษ 2 ตัว 3 ตัว หรือหวยบนดิน โดยกรณีศาลฎีกาฯ ได้มีคำพิพากษาให้สั่งรอลงอาญาโทษจำคุกวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง สมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลังและประธานบอร์ดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีตผู้บริหารสำนักงานสลากฯ ไปแล้ว แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ หลบหนีคดีทำให้ศาลฎีกาฯ ต้องชะลอการอ่านคำพิพากษาเฉพาะกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกไปก่อน

2.คดีการปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นคดีที่ถูกขยายผลมาจากคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ที่ให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ไต่สวนและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 263 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 119 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.คดีที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ปล่อยสินเชื่อให้กับรัฐบาลประเทศเมียนมา มูลค่า 4,000 ล้านบาท คดีนี้ คตส.มีความเห็นว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทในกลุ่มของชินคอร์ป และมีความผิดฐานปฏิบัติโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ศาลฎีกาฯ ยังไม่ได้ไต่สวนเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ หลบหนีคดี

3.คดีทุจริตออกพระราชกำหนดแปลงค่าภาษีสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต เป็นอีกคดีที่ คตส.ส่งให้อัยการสั่งฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ซึ่งคดีมีสาระสำคัญ คือ ไม่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการดาวเทียม ทั้งที่เป็นกิจการโทรคมนาคม จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ หลบหนี ทำให้ศาลฎีกาฯ ไม่สามารถไต่สวนคดีได้ รวมถึง คดีการซื้อขายที่ดินรัชดาฯ ซึ่งศาลฎีกาฯ ได้พิพากษาจำคุก 2 ปี

เมื่อกางบัญชีคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องเผชิญแล้ว คงจะเป็นเรื่องยากที่อดีตนายกฯ ทักษิณ จะกลับเมืองไทย แม้ในอนาคตพรรคเพื่อไทยจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกรอบก็ตาม เพราะยิ่งพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ย่อมต้องถูกจับตามองว่าจะมีกลยุทธ์อะไรที่เอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่

ที่สำคัญ พรรคเพื่อไทยได้รับบทเรียนมาจากการเล่นกับไฟเมื่อครั้งผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอยมาแล้ว จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่กล้าเล่นของสูงอีก แต่จะเลือกขอรักษาอำนาจให้อยู่กับตัวไปให้นานที่สุดดีกว่า และจำใจให้ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ต่างประเทศไปก่อน จนกว่าการนิรโทษกรรมแบบสุดซอยให้กับทุกสีบนพื้นฐานของความปรองดองจะเกิดขึ้นในประเทศไทย