posttoday

ราคาน้ำมันติดจรวดปลุกเพลิงสังคมปะทุ

07 กรกฎาคม 2553

ราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นหมายถึงโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรจะกลายเป็นเรื่องลำบากยากเย็นตามไปด้วย

ราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นหมายถึงโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรจะกลายเป็นเรื่องลำบากยากเย็นตามไปด้วย

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

สงครามและความโกลาหลในสังคมที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงอนาคต ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการแย่งชิงทรัพยากรไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ในอนาคตสงครามแย่งชิงทรัพยากรจะขยายวงจนครอบคลุมถึงทรัพยากรที่เคยมีอยู่อย่างเหลือเฟือ แต่จะร่อยหรอลงทุกวันตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในอัตราทวีคูณ

หนึ่งในทรัพยากรที่จะเหลืออยู่เพียงน้อยนิดในอนาคตนั้น รวมถึงของเหลวมีค่า 2 ชนิดที่เคยมีอยู่อย่างล้นเหลือ นั่นคือ น้ำและน้ำมัน

ราคาน้ำมันติดจรวดปลุกเพลิงสังคมปะทุ

ในปีนี้มีวี่แววที่ความขัดแย้งเกือบจะปะทุขึ้นจากภาวะแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในหลายประเทศ โดยเฉพาะในจีน ซึ่งระยะหลังต้องเผชิญกับการลุกฮือของประชาชนที่ไม่พอใจการ บริหารความมั่งคั่งและสวัสดิการจากภาครัฐอยู่บ่อยครั้ง

หรือแม้แต่ไทยเองก็หมิ่นเหม่กับสงครามแย่งชิงน้ำเช่นกันในปีนี้ แต่ในปีต่อๆ ไปหากพระพิรุณยังยั้งมือไม่ยอมโปรยสายฝนจนเลยฤดูกาลไปมากกว่านี้ เห็นทีชาวไทยจะตกอยู่ในภาวะจลาจลแย่งชิงน้ำขนาดย่อยๆ ได้เช่นกัน

สงครามแย่งชิงน้ำยังไม่ชัดเจนเท่ากับไฟความโกรธเคืองของมวลชน ต่อภาวะความขาดแคลนพลังงานและราคาน้ำมันที่สูงลิ่ว สถานการณ์เช่นนี้เริ่มเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้นตั้งแต่ 2 ปีก่อน ที่บางประเทศยุติมาตรการอุ้มราคาน้ำมัน ดังเช่นกรณีของมาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นประเทศ “เศรษฐีน้ำมัน” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผลของการยุติการอุ้มราคาน้ำมันและปล่อยให้ราคาลอยตัว คือ เหตุจลาจลไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ไม่เพียงบั่นทอนสถานะของรัฐบาลเท่านั้น (ในฐานะที่นโยบายอุ้มราคาน้ำมันในเชิงประชานิยม คือ การเรียกคะแนนเสียงอย่างหนึ่ง) แต่ยังกระทบต่อเสถียรภาพของประเทศโดยรวม

ล่าสุดสถานการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำรอยในอินเดีย

เมื่อราว 10 วันที่แล้ว รัฐบาลกลางอินเดียประกาศขึ้นราคาน้ำมันถึง 6.7% ซึ่งถือว่าสูงมากในประเทศที่ราคาน้ำมันค่อนข้างแพงอยู่แล้ว อีกทั้งผู้บริโภคน้ำมันส่วนใหญ่มีความจำเป็นจริงๆ หาใช่กลุ่มคนที่ใช้รถใช้ถนนเพียงเพื่อผลาญน้ำมันเล่นไม่

เพราะผู้ที่ได้รับกระทบจากการขึ้นราคาน้ำมันครั้งนี้ คือ เกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้น้ำมันสำหรับเครื่องสูบน้ำและรถไถนาสำหรับเกษตรกรเหล่านี้ การขึ้นราคาน้ำมันจะไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านมากขึ้น หากผลผลิตในปีที่แล้วได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่เมื่อปีที่แล้วอินเดียประสบกับภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรง บวกกับฤดูมรสุมที่มาล่าช้าในปีนี้ ภาวะกดดันยิ่งหล่นทับลงบนบ่าของเกษตรกรเป็นทวีคูณ

และภาระยิ่งมากขึ้นอีกหลายทบทวีคูณ เมื่อจู่ๆ รัฐบาลประกาศขึ้นราคาน้ำมัน!

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหตุประท้วงราคาน้ำมันที่รุนแรงที่สุดจะเกิดขึ้นในรัฐพิหารและรัฐอานธรประเทศ ซึ่งเป็นรัฐที่พึ่งพาเกษตรกรรมเป็นหลัก อีกทั้งยังเป็นรัฐที่ยากจนที่สุดในอินเดีย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียยังพยายามไม่ให้ความไม่พอใจขยายวงลงไปสู่ระดับรากหญ้ามากไปกว่านี้ ด้วยการอุ้มราคาน้ำมันก๊าด ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับการปรุงอาหารและให้แสงสว่างสำหรับชาวอินเดียนับร้อยล้านคน

สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับการประท้วงราคาน้ำมันในหลายประเทศรวมถึงในอินเดียก็คือ แนวโน้มที่แรงงานจะนัดหยุดประท้วง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในอินเดีย ดังกรณีที่พนักงานในภาคขนส่งทุกแขนงร่วมใจกันหยุดการเดินรถและเดินอากาศพร้อมๆ กัน ไม่เพียงเท่านั้นภาคธุรกิจและภาคบริการสังคมยังต้องพลอยหยุดงานไปด้วย เนื่องจากการขนส่งเป็นอัมพาต บวกกับเหตุรุนแรงจาการประท้วงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่

ภาพเช่นนี้เคยปรากฏพร้อมกันทั่วโลกเมื่อปี 2551 ไม่ว่าจะเป็นการนัดหยุดเดินรถของพนักงานขับรถบรรทุกทั่วประเทศอังกฤษ เมื่อเดือน พ.ค. 2551 ไปจนถึงการนัดหยุดเดินเรือของชาวประมงทั่วประเทศญี่ปุ่น ในเดือน มิ.ย.ปีเดียวกัน

ภาพการประท้วงเช่นนี้ถือเป็นเรื่องไม่ผิดปกตินักในประเทศที่มีความอดทนสูงเรื่องสิทธิพลเมือง แต่กับประเทศที่ไยดีกับสิทธิพลเมืองมากนัก

ประเทศที่กังวลกับการลุกฮือของประชาชนมากที่สุดคือจีน เพราะจีนรับทราบดีถึงช่องว่างด้านความมั่งคั่งที่ค่อนข้างกว้างระหว่างประชาชนในเขตเมืองและในชนบท ดังนั้นการโยนภาระให้ประชาชนแบกรับเท่าๆ กัน จึงอาจเป็นเหตุให้เกิดความไม่พอใจอย่างรุนแรงของประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในเขตชนบทได้

ไม่เพียงเท่านั้นในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา จีนต้องเผชิญกับการท้าทายของประชาชนระดับรากหญ้ามากขึ้นทุกขณะ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มิหนำซ้ำยังตกเป็นเหยื่อของการขูดรีดแรงงานโดยนายทุน ขณะที่ชนชั้นกลางในเมืองกำลังรับอานิสงส์จากความคึกคักทางเศรษฐกิจอย่างเป็นกอบเป็นกำ

ภาพที่ปรากฏในระยะหลัง คือ การนัดหยุดงานประท้วงและการเผชิญหน้าระหว่างชาวจีนระดับรากหญ้ากับเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากความไม่พอใจกับเงื่อนไขการทำงานและสวัสดิการชีวิต ซึ่งเป็นภาพที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่เลยก็ว่าด้วย

ไม่น่าแปลกใจที่ราคาน้ำมันในจีนจะชะลอตัวลงมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว ด้วยเหตุและปัจจัยหลายประการ แต่ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจประการหนึ่งก็คือ รัฐบาลจีนจะไม่ต้องกังวลว่าประชาชนจะลุกฮือเพราะปัญหาราคาน้ำมันแพง

วันนี้ราคาน้ำมันโลกยังไม่ถือว่าสาหัสสากรรจ์นัก เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันเมื่อปี 2551 ความโกลาหลทางสังคมที่เกิดขึ้นในบางประเทศ จึงจะยังคงอยู่ในขอบข่ายของประเทศนั้นๆ กระนั้นก็ตาม ก็ใช่ว่าสถานการณ์จะปราศจากเชื้อพันธุ์ของความรุนแรงไปเสียทีเดียว

เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ราคาน้ำมันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรอันเป็นปัจจัยหลักของชีวิต และราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นหมายถึงโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรจะกลายเป็นเรื่องลำบากยากเย็นตามไปด้วย

แต่ไม่ยากนักที่ประชาชนจะมองว่า รัฐกำลังเบียดเบียนตนและทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาตอบโต้ ซึ่งอาจติดตามมาด้วยความรุนแรงในสังคม