posttoday

"กรีซ" ยื้อไปก็ไม่รอด พื้นฐานศก.แย่-จ่อหนี้เน่า

30 มิถุนายน 2558

สถานการณ์การเจรจาหนี้กรีซในปัจจุบันได้ฉายภาพให้เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายได้ทิ้งไพ่จนหมดหน้าตักแล้วอย่างแท้จริง

โดย...ก้องภพ เทอดสุวรรณ

พัฒนาการของวิกฤตหนี้กรีซดำเนินมาถึงขั้นระส่ำระสายสุดขีด รัฐบาลนำโดยนายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ไซปราส พยายามยื้อการเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้ให้เลยเส้นตายในวันที่ 30 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ออกไป โดยให้เหตุผลว่าจะนำข้อเสนอการปฏิรูปของกรีซไปให้ทำประชามติ ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในวันที่ 5 ก.ค.นี้

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นการฉายอย่างชัดเจนว่า กรีซได้ทิ้ง “ไพ่ใบสุดท้าย” เรียบร้อยแล้ว และพร้อมจะเดิมพันทุกอย่างกับไพ่ใบนี้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มเจ้าหนี้ทรอยก้ายืนยันเสียงแข็งว่าจะไม่ยอมผ่อนผันการเจรจาอีกต่อไป

เท่ากับว่ากรีซเหลือเวลาอีกไม่ถึง 24 ชั่วโมงเท่านั้น ก็จะเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กว่า 1,600 ล้านยูโร (ราว 6.03 หมื่นล้านบาท) นอกจากนี้ วันดังกล่าวยังเป็นวันสิ้นสุดโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากกลุ่มเจ้าหนี้ทรอยก้าอีกด้วย

พูดอีกนัยหนึ่งคือ หากกรีซยังไม่สามารถบรรลุการเจรจาได้ภายใน 24 ชั่วโมง ก็เท่ากับกรีซจะกลายเป็นประเทศล้มละลาย มิหนำซ้ำยังขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรง เนื่องจากไม่ได้รับเงินกู้งวดสุดท้ายอีกด้วย

กรณีดังกล่าวทำให้ประตูทางออกจากการเป็นสมาชิกยูโรโซนเปิดกว้างและสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความผันผวนทางการเงินอย่างยิ่ง โดยล่าสุดกรีซประกาศให้สัปดาห์นี้ทั้งสัปดาห์เป็นวันหยุดธนาคาร และจำกัดการถอนเงินออกจากตู้เอทีเอ็มเพียง 60 ยูโร (ราว 2,246.54 บาท) เท่านั้น เพื่อป้องกันภาวะสภาพคล่องไหลออก

ในวันเดียวกัน วิกฤตหนี้กรีซยังทำให้เกิดความระส่ำระสายไปทั่วโลก โดยตลาดหุ้นทั่วเอเชียเปิดตัวในแดนลบ ขณะที่สกุลเงินยูโรดิ่งตัวลงอย่างรุนแรง ทั้งโลกจึงกำลังจับจ้องไปที่วิกฤตหนี้กรีซครั้งนี้อย่างไม่คลาดสายตา และตั้งความหวังว่ากรีซกับเจ้าหนี้จะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อคืนเสถียรภาพให้กับตลาดการเงินโลกอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ตามทัศนะของ สัตยาจิต ดาส ชาวออสเตรเลียเชื้อสายอินเดีย อดีตผู้บริหารวาณิชธนกิจข้ามชาติหลายแห่ง แสดงทัศนะผ่าน มาร์เก็ตวอช ว่า ถึงแม้กรีซกับเจ้าหนี้จะสามารถบรรลุการเจรจาได้ภายในสัปดาห์นี้ แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจกลับบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า “กรีซไม่สามารถชำระหนี้ได้”

สภาพปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของกรีซยังอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่อย่างมาก และไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ก็แทบไม่มีทางที่กรีซจะสามารถชำระหนี้ได้หมด โดยขณะนี้กรีซเป็นหนี้ทั้งหมดราว 3.17 แสนล้านยูโร หรือเทียบเท่ากับ 175% ของผล นอกจากนี้ คลังกรีซยังร่อยหรอลงอย่างมากนับตั้งแต่การเข้ามาบริหารประเทศของพรรคไซรีซาเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา แน่นอนว่าหากกรีซไม่ได้รับเงินกู้จากกลุ่มเจ้าหนี้ ไม่เพียงแต่กรีซจะไม่สามารถชำระหนี้ได้เท่านั้น แม้แต่เงินเพื่อเป็นรายจ่ายของรัฐบาลถือว่าฝืดเคืองอย่างยิ่ง เนื่องจากรัฐบาลกรีซไม่สามารถออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินกู้จากนานาชาติได้เอง

ในทำนองเดียวกัน นอกจากไอเอ็มเอฟแล้ว กรีซมีกำหนดต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือพันธบัตรกรีซระยะสั้น มูลค่า 1.5 หมื่นล้านยูโร ซึ่งเท่ากับว่ากรีซต้องหาเงินเพื่อนำมาจ่ายดอกเบี้ยให้ได้ 5,000-1 หมื่นล้านยูโร ทุกปี อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพเศรษฐกิจกรีซในปัจจุบันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลกรีซจะหาทางเพิ่มเงินในคลังได้เพียงพอสำหรับการจ่ายดอกเบี้ยดังกล่าว

ทั้งนี้ กรีซยังเผชิญกับสภาพความย่ำแย่ทางเศรษฐกิจ รวมถึงความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ทุนไหลออก และความอ่อนแอในภาคการเงิน ซึ่งส่งผลให้เกิดความชะลอตัวทางเศรษฐกิจ สัดส่วนธุรกิจล้มละลายเพิ่มสูงขึ้น มีคนตกงานเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อรายได้จากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลเช่นกัน

ดาส ระบุว่า ในทางเทคนิคแล้ว มาตรการรัดเข็มขัดของทางเจ้าหนี้ทำให้เศรษฐกิจกรีซถดถอย ส่งผลต่อรายได้ของรัฐบาล จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่กรีซจะสามารถทำงานประเมินเกินดุลได้ เพื่อสำรองเงินสำหรับจ่ายหนี้ตามที่กลุ่มเจ้าหนี้ต้องการ

มองในมุมกลับ การคงอยู่ในโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของกลุ่มเจ้าหนี้ต่อไปเหมือนเป็นดาบสองคมที่กรีซปฏิเสธไม่ได้ ในแง่ดีกรีซได้มีทุนจำนวนมหาศาลในทันทีสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในทางกลับกัน กรีซกลับต้องเผชิญข้อบังคับที่เข้มงวดที่ทำให้กรีซไม่สามารถออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้

เช่นเดียวกับการอยู่ในยูโรโซนต่อไป ที่ครั้งหนึ่งเคยส่งผลดีให้ประเทศเล็กๆ อย่างกรีซ สามารถออกพันธบัตรได้มากเท่าที่ต้องการเนื่องจากสกุลเงินยูโรเป็นสกุลเงินที่น่าเชื่อถือ แต่ขณะเดียวกัน กรีซสูญเสียความสามารภในการกำหนดนโยบายทางการเงินด้วยตนเอง ซึ่งหมายความว่ากรีซไม่สามารถใช้มาตรการปรับลดค่าเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ หากกรีซสามารถใช้มาตรการดังกล่าวได้จริงจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของกรีซ

ประการต่อมา แม้จะมีการยื่นข้อเสนอเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจไปแล้วหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ลดการทำงานล่วงเวลา รวมถึงการปรับลดการจ่ายเงินบำนาญและเพิ่มการเก็บภาษี แต่ปรากฏว่ารัฐบาลกรีซนำมาตรการดังกล่าวมาปฏิบัติจริงน้อยมาก อีกทั้งยังไม่มีความแน่ชัดเรื่องเวลาอีกด้วย

ปัญหาด้านความอ่อนแอของภาคธนาคารกรีซยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลเสียต่อสภาพเศรษฐกิจกรีซ โดยก่อนหน้านี้มีการถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากกว่าครึ่งและเกิดภาวะทุนไหลออกจากกรีซ โดยธนาคารกรีซเองมีพื้นฐานที่ย่ำแย่นับตั้งแต่วิกฤตหนี้กรีซเมื่อปี 2009 โดยธนาคารต้องอาศัยกองทุนเงินช่วยเหลือสภาพคล่องฉุกเฉิน (อีแอลเอ) ของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งใช้ไปแล้วกว่าครึ่งของวงเงินที่กำหนดสำหรับเหตุการณ์การแห่ถอนเงินของชาวกรีซ

ขณะเดียวกัน หนี้เสียยังเพิ่มสูงขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจกรีซที่ชะลอตัว นอกจากนี้ ธนาคารในกรีซยังถือเป็นผู้ถือพันบัตรรัฐบาลกรีซรายใหญ่อีกด้วย เท่ากับว่าหากรัฐบาลไม่สามารถชำระดอกเบี้ยได้ทันตามกำหนด ธนาคารในกรีซจะเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 

ในปัจจุบันต้องยอมรับว่ารัฐบาลพรรคไซรีซา ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีไซปราสมีท่าทีผ่อนคลายอย่างมากจากในช่วงเดือน ม.ค. ที่ยืนยันอย่างแข็งกร้าวว่าจะนำพากรีซออกจากโครงการเงินช่วยเหลือของเจ้าหนี้โดยที่กรีซจะไม่ใช้เงินคืน กลับกลายเป็นการยื่นข้อเสนอเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อให้กลุ่มเจ้าหนี้ปล่อยเงินกู้งวดสุดท้าย

สถานะของรัฐบาลพรรคไซรีซาจึงอยู่ในช่วงกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างยิ่ง ในทางหนึ่งรัฐบาลก็ไม่มีเงินมากพอสำหรับการใช้จ่าย ทั้งการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ รวมถึงการจ่ายบำนาญ ในทางกลับกัน รัฐบาลกรีซก็ไม่สามารถปรับลดการจ่ายบำนาญตามที่เจ้าหนี้ต้องการได้ เพราะจะทำให้รัฐบาลพรรคไซรีซาได้รับการต่อต้านจากประชาชนอย่างแน่นอน

และหากกรีซต้องเผชิญกับภาวะชะงักงัน ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็เท่ากับเข้าเงื่อนไขว่ากรีซจะต้องออกจากยูโรโซนที่สุด และจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินยูโรจนสร้างความระส่ำระสายทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าทางฝ่ายเจ้าหนี้ยูโรโซนไม่ต้องการให้กรีซออกจากการเป็นสมาชิกยูโรโซนเช่นกัน เนื่องจากกระทบต่อความเป็นเอกภาพของกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ออกเงินในโครงการให้เงินช่วยเหลือกรีซมากที่สุด กังวลอย่างยิ่งว่ากรีซจะกลายเป็นชนวนเหตุประเทศอื่นๆ ที่เข้ารับโครงการเงินช่วยเหลือเช่นกันออกจากยูโรโซนตามไปด้วย จนระบบยูโรโซนล่มสลาย

แต่กระนั้นหากกลุ่มเจ้าหนี้ยอมอ่อนข้อให้กรีซในครั้งนี้ ก็จะกลายเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นที่รับโครงการเงินช่วยเหลือไปด้วย ซึ่งยากที่จะทำให้เจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้จากภาษีของประชาชนได้รับเงินคืน

สถานการณ์การเจรจาหนี้กรีซในปัจจุบันได้ฉายภาพให้เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายได้ทิ้งไพ่จนหมดหน้าตักแล้วอย่างแท้จริง และได้เดิมพันทุกอย่างลงไปแล้ว อย่างไรก็ตาม อีกฝ่ายกลับไม่ยอมรับข้อเสนอของกันและกัน จนทำให้การเจรจาอยู่ในภาวะชะงักงันจนเฉียดเส้นตายอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กรีซกับกลุ่มเจ้าหนี้จะสามารถผ่านเงื่อนไขบางประการได้ในวินาทีสุดท้าย เพื่อต่อลมหายใจให้กรีซอยู่ในโครงการให้เงินช่วยเหลือต่อไป แต่คำถามที่ว่ากรีซจะสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ ยังคงเป็นคำถามที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตอบได้อยู่ดี