posttoday

ปลดล็อก111-109 เกมยาวรัฐบาลแห่งชาติ

23 มิถุนายน 2558

​การปลดล็อกดึงคนเหล่านี้ให้เข้าสู่สนามการเมือง จึงถือเป็นการสร้างบรรยากาศความปรองดองให้เกิดขึ้น

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับเป็นอีกสัญญาณสมานฉันท์การปลดล็อกปรับแก้คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะผูกพันถึงตำแหน่งรัฐมนตรี ในร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 จากเดิมที่กำหนดว่า “ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” เป็น “ไม่อยู่ระหว่างการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง”

สอดรับกับที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี​ ชี้แจงในที่ประชุม สนช. ว่า ถือว่าเป็นการให้เกียรติต่อกลุ่มคนดังกล่าว แต่จะเอาคนเหล่านั้นมาทำงานหรือไม่ เป็นสิทธิของ คสช.ที่ตัดสินใจและเป็นการปลดล็อกเพื่อให้เกิดความปรองดองและความเป็นธรรม

แม้จะถูกดักคอว่าการกำหนดประเด็นนี้พ่วงมากับประเด็นเรื่องการจัดทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นความจงใจจะปูทางให้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช. เข้ามานั่งใน ครม. เพื่อจะได้มีอำนาจสั่งการบริหารได้แบบเต็มตัว แต่เอาเข้าจริง ทั้งแรงกดดันจากสังคมและรัฐมนตรีปัจจุบัน คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่สมคิดจะฝ่าด่านเข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีได้ ​

ลำพังแค่ยกแรกเสียงทักท้วงในเวที สนช. ระหว่างการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ สะท้อนให้เห็นความไม่พอใจ และคงยากที่รัฐบาล คสช.จะกล้าเสี่ยงดึงสมคิดเข้ามานั่งใน ครม.​ และปิดประตูตายสำหรับบุคคลอื่นๆ ที่จะได้เข้ามาร่วมงานกับ คสช.ในช่วงเวลานี้นับจากนี้จนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า

ยังไม่รวมกับกระแสสังคมโดยเฉพาะกลุ่มที่ประกาศตัวอยู่ตรงข้ามกับขั้วอำนาจเก่า ที่ไม่เห็นด้วยและออกมาตีกันกับการลดระดับความ “เข้มข้น” จากที่ คสช.​ได้วางมาตรการโหดกันบุคคลที่เคยถูกโทษแบนพ้นสนามการเมืองแบบถาวร ขับไล่ “น้ำเสีย” เปิดทางให้นักการเมืองน้ำดีได้เข้ามามีบทบาทในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิรูปการเมือง

​การฉีกกฎดังกล่าว นอกจากจะถูกมองว่าสุดท้ายการปฏิรูปการเมืองคงยากจะเกิดขึ้นได้จริง อีกด้านยังถูกมอง​ว่าเกิดการฮั้วหรือมีซูเปอร์ดีลระหว่าง คสช.กับขั้วอำนาจเก่าเรียบร้อย

ในทางปฏิบัติการเปิดช่องให้สมาชิก 111 และ 109 กลับเข้ามาสู่สนามการเมืองได้อีกครั้ง แม้จะเป็นหลังช่วงเลือกตั้งรอบใหม่ ซึ่งสอดรับกับเจตนารมณ์กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าไม่ตัดสิทธิกลุ่มคนเหล่านี้ ถือเป็นการยืนยันถึงภารกิจสร้างความปรองดองที่รัฐบาล คสช.พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น

ต้องยอมรับว่าสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 ถือเป็นนักการเมืองระดับแถวหนึ่งและแถวสองของพรรคใหญ่และพรรคขนาดกลาง ที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองหากถูกกีดกัน อาจบานปลายให้ไปเคลื่อนไหวอยู่นอกสนามการเมือง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีในระยะยาว

ยังไม่รวมกับอดีต สส.ล็อตใหม่ 248 คน ที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาถอดถอนของ สนช. และจะเริ่มแถลงเปิดสำนวนคดีในวันที่ 25-26 มิ.ย.นี้ จากความผิดกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา สว. ​

หากกรณีกลุ่มนี้ถูกถอดถอนและตัดสิทธิการเมือง ย่อมกลายเป็นแรงกดดันที่จะย้อนกลับมาสร้างปัญหาต่อ คสช.ในอนาคต เพราะคำนวณแล้วนักการเมืองสองกลุ่มนี้รวมแล้วกว่า 400 คน ย่อมมีฐานเสียงที่สนับสนุนจำนวนมากอยู่ทั่วประเทศ

ลำพังแค่ผนึกกำลังมวลชนเคลื่อนไหวในพื้นที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยากที่รัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติได้ และหากยังปล่อยให้เห็นเช่นนี้ โรดแมปที่ คสช. วางไว้คงยากจะเดินหน้าต่อไปได้ ทุกอย่างย่ำอยู่กับที่

แม้จะทำให้ คสช.​อยู่ในอำนาจนานขึ้น แต่หากยังอยู่ด้วยสภาพบรรยากาศการเมืองที่มีแรงกระเพื่อมทั่วทุกพื้นที่เช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดีกับ คสช.

การดึง “ศัตรู” มาเป็น “มิตร” ย่อมดีกว่าปล่อยให้เป็นหอกข้างแคร่ ที่มีแต่จะต้องคอยระวังว่าวันใดวันหนึ่งข้างหน้าอาจย้อนกลับมาทิ่มแทง

การเปิดช่องให้บุคคลเหล่านี้สามารถหวนคืนสนามการเมือง อีกด้านหนึ่งยังถือเป็นการสร้างแนวร่วมหวังดึงขั้วคนจากอำนาจเก่าให้เข้ามายืนอยู่ฝั่งเดียวกับ คสช. ​

สอดรับไปกับการเคลื่อนไหวของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป หรือ ศปป. ที่ออกตัวเชิญตัวแทนนักการเมืองจากแต่ละพรรค กลุ่มการเมือง และกลุ่มสีเสื้อต่างๆ เพื่อหาทางเดินหน้าสลายความขัดแย้ง และสร้างการปรองดองให้เกิดขึ้น ป้องกันไม่ให้ทุกอย่างกลับมาสู่จุดเดิมหลังคืนอำนาจเดินหน้าเลือกตั้ง

เมื่อรู้อยู่แล้วว่าหลังเลือกตั้งไม่ว่าอย่างไรบุคคลเหล่านี้ก็ต้องเข้ามามีบทบาททางการเมือง แม้จะถูกกีดกันก็เป็นเพียงแค่การบีบให้อยู่เบื้องหลัง และหานอมินีมารับหน้าที่แทนอย่างที่เคยเห็นมาแล้วในอดีต

​การปลดล็อกดึงคนเหล่านี้ให้เข้าสู่สนามการเมือง จึงถือเป็นการสร้างบรรยากาศความปรองดองให้เกิดขึ้น

ยิ่งในสถานการณ์ที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ตรงกันว่าด้วยเงื่อนไขของกฎกติกาใหม่ที่กำลังทำอยู่เวลานี้ จะไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง จนมองข้ามช็อตไปถึงการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ที่จะเป็นอีกทางเลือกซึ่งจะช่วยสลายความขัดแย้งระหว่างกลุ่มระหว่างฝ่ายให้หมดไป