posttoday

แก้รธน. ซ่อนเงื่อน สร้างปมอยู่ยาว

15 มิถุนายน 2558

คสช.จะมีอายุการทำงานรวมทั้งหมดตั้งแต่วันที่ สปช.ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญจนถึงวันเลือกตั้งจำนวน 465 วัน

โดย....ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

18 มิ.ย.นี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอเข้ามา ตามตัวร่างแก้ไขดังกล่าวมีทั้งหมด 9 มาตรา

ขั้นตอนของ สนช.ตามที่ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช.ได้วางเอาไว้คือ จะพิจารณาให้เสร็จภายในเพียงวันเดียว โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่าง สนช.กับรัฐบาล จากนั้นนำมาเสนอสภาอีกครั้ง เพื่อลงมติเหมือนกับเวลาพิจารณาร่างกฎหมายอื่นตามปกติ

ที่สำคัญรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 กำหนดให้ สนช.มีเวลาพิจารณาเพียง 15 วัน แถมไม่สามารถแก้ไขเนื้อหาใดๆ ได้นอกจากจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล จึงไม่มีความจำเป็นที่ สนช.จะนำกระบวนการพิจารณากฎหมายปกติมาใช้กับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องทำให้รวดเร็ว

ส่วนมติที่ สนช.ต้องใช้ในการเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต้องมีไม่ต่ำกว่า 110 เสียง จากสมาชิก สนช.ทั้งหมด 220 คน หากน้อยกว่านั้นเท่ากับว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ซึ่งในทางปฏิบัติไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า สนช.เป็นเนื้อเดียวกับรัฐบาลอยู่แล้ว

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ออกมาทำให้ปฏิทินการเมือง โดยเฉพาะของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (คณะ กมธ.ยกร่างฯ) ต้องถูกขยับออกไปพอสมควร จากเดิมที่ต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายให้กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่เกินวันที่ 23 ก.ค. และ สปช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบไม่เกินวันที่ 6 ส.ค. ต้องเปลี่ยนเป็นส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช.ภายในวันที่ 21 ส.ค. และ สปช.ต้องลงมติตัดสินไม่เกินวันที่ 4 ก.ย.

แต่นั่นอาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับการกำหนดเงื่อนไขบางประการที่จะมีผลให้รัฐบาลได้อยู่ต่อไปเกินกว่าโรดแมปที่ตัวเองกำหนดไว้ (เดิมรัฐบาลประกาศว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้ง สส.ได้ในช่วงเดือน ก.ย. 2559 หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการโหวตของ สปช.และการประชามติ)

เงื่อนไขที่ 1 การโหวตไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หากเกิดเหตุการณ์ที่ว่านั้นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดให้ยุบคณะ กมธ.ยกร่างฯ ของ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ทิ้ง และให้ คสช.ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 21 คน ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ สปช.มีมติในวันที่ 4 ก.ย. โดยคณะกรรมการร่างฯ มีเวลาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 180 วัน และส่งทำประชามติไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 45 วันอีกครั้ง

รวมเวลาการเขียนรัฐธรรมนูญ การทำประชามติใหม่และกระบวนการทำให้ร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้หลังจากผ่านการทำประชามติแล้วคิดเป็น 285 วัน

อย่างไรก็ตาม หากบวกจำนวนวันที่ สนช.ต้องพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสำหรับจัดการเลือกตั้ง 60 วัน การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบของร่างกฎหมายดังกล่าว 30 วัน และระยะเวลาการจัดเลือกตั้ง 90 วัน (ตัวเลข 60 วัน 30 วัน และ 90 วัน เป็นตัวเลขที่คณะ กมธ.ยกร่างฯ กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก) เท่ากับว่า คสช.จะมีอายุการทำงานรวมทั้งหมดตั้งแต่วันที่ สปช.ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญจนถึงวันเลือกตั้งจำนวน 465 วัน หรือคิดเป็น 1 ปี 3 เดือน โดยประมาณ

เท่ากับว่าการเลือกตั้งน่าจะมีขึ้นราวเดือน ธ.ค. 2559 เลื่อนจากโรดแมปเดิมจากเดือน ก.ย. 2559 นิดหน่อย

แต่ถ้าว่ากันในทางปฏิบัติ คสช.จะพ้นจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการก็ต่อเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งการสถาปนารัฐบาลชุดใหม่ต้องใช้ 60 วัน แบ่งเป็นการเปิดประชุมรัฐสภานัดแรกภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง และการเลือกนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับจากวันประชุมรัฐสภาครั้งแรก แบบนี้ คสช.จะได้เวลาทำงานเพิ่มขึ้นรวมเป็น 525 วัน นับตั้งแต่ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ หรือเรียกได้ว่า คสช.ได้อยู่ในอำนาจไปถึงประมาณเดือน ม.ค. หรือ ก.พ. 2560

เงื่อนไขที่ 2 ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันการทำประชามติไว้ที่วันที่ 10 ม.ค. 2559 หากประชาชนมีเสียงข้างมากไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการตามลำดับเหมือนกับเงื่อนไขแรก ตั้งแต่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ทำประชามติ กรณีถ้าผ่านการทำประชามติ สนช.ต้องจัดทำกฎหมายเลือกตั้ง ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายเลือกตั้ง และจัดการเลือกตั้งเหมือนกับสถานการณ์ตามเงื่อนไขที่ 1

เพียงแต่วันเลือกตั้งตามเงื่อนไขที่ 2 นี้จะไม่ได้อยู่ในช่วงราวเดือน ธ.ค. 2559 แบบเดียวกับสถานการณ์ของเงื่อนไขที่ 1 เพราะวันเลือกตั้งจะเกิดขึ้นราวเดือน มี.ค. หรือ เม.ย. 2560 และที่สำคัญ คสช.จะมีโอกาสถืออำนาจยาวไปถึงวันที่มีรัฐบาลชุดใหม่ประมาณกลางปีหรือช่วงรอยต่อระหว่างเดือน พ.ค. และ มิ.ย. 2560

ทั้งหมดนี้ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตจะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขแบบใด คิดง่ายๆ แบบตัวเลขกลมๆ คสช.จะอยู่ในอำนาจรัฐตั้งแต่การรัฐประหาร พ.ค. 2557 จนถึงวันมีรัฐบาลใหม่รวมเป็นเวลาประมาณ 3 ปี กันเลยทีเดียว

แต่กระนั้น คสช.อาจได้โอกาสทำงานมากกว่านี้ หากการร่างรัฐธรรมนูญรอบที่สองไม่ผ่านการทำประชามติ เพราะนั่นเท่ากับการต้องกลับไปสู่จุดเริ่มอีกครั้ง ซึ่งหมายความว่า คสช.ก็จะอยู่ในอำนาจได้นานต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าร่างรัฐธรรมนูญจะได้รับความเห็นชอบ