posttoday

1ปีเศรษฐกิจไทย ใต้ปีก คสช.

23 พฤษภาคม 2558

ทว่า ในช่วง 1 ปีของการบริหารเศรษฐกิจของ คสช.และ ครม. แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ขยายตัวตามที่หวังไว้ แต่ก็เห็นสัญญาณเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นชัดเจน

วันที่ 22 พ.ค. 2558 เป็นวันครบรอบ 1 ปีการเข้า “ควบคุม” อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 22 พ.ค. 2557 ก่อนที่อีก 3 เดือนถัดมามีการจัดตั้งรัฐบาลที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งหัวหน้า คสช.

ทั้งนี้ ในช่วงต้นการบริหารประเทศของ คสช.พบว่าเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยดับทุกตัว ทั้งการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐ การใช้จ่ายครัวเรือนและลงทุนเอกชน และการท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกเติบโตต่ำ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ตลอดจนสินค้าเกษตรหลักทั้งข้าว ยาง และน้ำตาลที่อยู่ในภาวะราคาตกต่ำ

สะท้อนได้จากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 2557 ที่ขยายตัวเพียง 0.4% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปี 2557 ที่เศรษฐกิจหดตัว 0.5% การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัว 0.2% จากที่หดตัว 3% ในไตรมาสแรกปี 2557 ขณะที่การลงทุนรวมหดตัว 6.9% โดยการลงทุนภาครัฐหดตัว 6.7% และการลงทุนเอกชนหดตัว 7% ส่วนการส่งออกขยายตัวเพียง 0.4%

ทว่า ในช่วง 1 ปีของการบริหารเศรษฐกิจของ คสช.และ ครม. แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ขยายตัวตามที่หวังไว้ แต่ก็เห็นสัญญาณเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นชัดเจน

ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดในไตรมาสแรกปี 2558 พบว่า ผลจากการเร่งกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ คือ งบประมาณ ปรากฏว่า ณ วันที่ 15 พ.ค. 2558 การเบิกจ่ายงบปี 2558 อยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท สูงเป็นประวัติการณ์

โดยเฉพาะงบลงทุนที่มีการเบิกจ่ายแล้ว 36% หรือ 1.6 แสนล้านบาท และหนุนส่งให้การลงทุนภาครัฐไตรมาสแรกพุ่งแบบก้าวกระโดด โดยขยายตัวสูงถึง 37%

ขณะที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่นๆ ปรับตัวดีขึ้น เช่น การลงทุนเอกชนขยายตัว 3.6% การบริโภคเอกชนขยายตัวได้ 2.4% จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัว 23.5% หนุนส่งให้ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคารเติบโต 13.5% และผลักดันให้จีดีพีเติบโตได้ 3% แม้ว่าการส่งออกไตรมาสแรกจะติดลบ 4.3% และรายได้เกษตรกรหดตัว 7.2%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยกลับมาเป็นขยายตัวในระดับที่ คสช.น่าจะพอใจ แต่ในเดือน เม.ย. 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องและแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน สวนทางกับการลงทุนภาครัฐที่เร่งตัว

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยอมรับว่า ขณะนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นจริง แต่ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังลงไปไม่ถึงเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง

แต่ในมุมมองของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี มองเศรษฐกิจไทยในทิศทางบวก โดยหยิบยกตัวเลขการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ในช่วง 4 เดือนแรกที่ขยายตัว 10.2% ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าการใช้จ่ายประชาชนดีขึ้นจริง ขณะที่การขับเคลื่อนภาคส่งออกให้กลับมาเป็นบวก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุว่า ในระยะเฉพาะหน้านี้ รัฐบาลคงไม่ได้มีมาตรการด้านการส่งออก เพราะภาคการส่งออกได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้

แต่กระนั้นเมื่อมองย้อนหลังกลับไป 1 ปี จะพบว่าสิ่งที่รัฐบาล คสช.ให้ความสำคัญ คือ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม และการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาวนั้น ยังไม่ชัดเจน ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลส่งเสริมการลงทุนอุตสาห กรรมเทคโนโลยีสูง แต่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี เพราะการลงทุนต้องใช้เวลา  

เช่นเดียวกันกับการปรับโครงสร้างภาคเกษตร แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายผลักดันในเรื่องนี้ แต่หลังจากที่รัฐบาลเข้าไปแก้ปัญหาราคาข้าวและยางพาราตกต่ำ ผ่านการชดเชยเงิน 1,000 บาท/ไร่ ตลอดจนจ่ายเงินจำนำข้าวที่ค้างอยู่ 9.2 หมื่นล้านบาท ก็ยังไม่ปรากฏผลงานที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่เรียกมีแผนงานชัดเจน แต่ยังไม่มีความเข้มข้นในทางปฏิบัตินัก

“สภาพัฒน์รายงานว่าไตรมาสแรกปีนี้เศรษฐกิจขยายตัว 3% แต่ทั้งปีจะมากหรือน้อยกว่า 3% ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของเราเองด้วย ซึ่งรัฐก็พยายามเต็มที่ และปัจจัยภายนอกที่จะเข้ามาอีก เราก็บังคับไม่ได้ แต่ต้องเตรียมความพร้อมไว้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในวันครบรอบ 1 ปี คสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558

พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับว่า ไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างอีกมาก ซึ่งต้องใช้เวลาแก้ไขอีกนาน เช่น เศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออก 73% ของจีดีพี ธุรกิจเอสเอ็มอียังไม่เข้มแข็งเพียงพอ ที่สำคัญภาคการเกษตรที่เป็นอาชีพหลักคนไทย 23 ล้านคน หรือ 37% ของประชากร มีผลผลิตคิดเป็น 8% ของจีดีพี

“ปัญหาสำคัญที่เรากังวลมากคือปากท้องประชาชน” พล.อ. ประยุทธ์ ย้ำ

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า การบริหารประเทศของ คสช.ในช่วง 1 ปี มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถสะสางปัญหาเศรษฐกิจที่สะสมมานานได้ เช่น การช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน และปัญหาการเมืองภายในที่มีโอกาสกลับมาสร้างความไม่มั่นใจให้ภาคธุรกิจได้ในอนาคต

“หากการเมืองในประเทศมีเสถียรภาพ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่น่าจะมีการลงทุนชัดเจนใน 2-3 ปีนี้ จะทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนฟื้นตัว” สุพันธ์ุ กล่าว