posttoday

ทีดีอาร์ไอจี้รัฐ ดึงธปท.ปลอดการเมือง

25 เมษายน 2558

รัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่รัฐบาลจากพรรคการเมือง ก็ควรสร้างประเพณีปฏิบัติขึ้น โดยไม่ควรตั้งบุคคลที่มีตำแหน่งเกี่ยวพันกับการเมืองโดยตรง

โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

ภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้ คณะกรรมการสรรหาประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกรรมการ ธปท. ที่มี สมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธาน จะต้องสรรหาประธานบอร์ดและกรรมการ ธปท. แทนผู้ที่ครบวาระ 3 ราย ประกอบด้วย อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. อนุสรณ์ ธรรมใจ และ คณิศ แสงสุพรรณ

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้กรรมการแต่ละรายดำรงตำแหน่งได้ 2 วาระ โดยคณิศดำรงตำแหน่งครบ 2 วาระแล้ว จึงต้องสรรหาใหม่ ขณะที่อำพน และอนุสรณ์ เพิ่งได้รับแต่งตั้งมา 1 วาระ สามารถได้รับการต่ออายุอีกวาระหนึ่งได้ 

ทีดีอาร์ไอจี้รัฐ ดึงธปท.ปลอดการเมือง

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตในกรณีของอำพน ที่ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการ ครม.อยู่ โดย นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เห็นว่า แม้ว่าเลขาธิการ ครม.จะเป็นตำแหน่งทางราชการ แต่ในทางปฏิบัติถือว่าเป็นตำแหน่งทางการเมือง เพราะทำงานเกี่ยวข้องกับ ครม.โดยตรง แม้กฎหมายจะไม่ห้าม แต่ก็ไม่ควรแต่งตั้งมาเป็นประธานบอร์ด ธปท. หรือแม้แต่กรรมการ ธปท.

“รัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่รฐบาลจากพรรคการเมือง ก็ควรสร้างประเพณีปฏิบัติขึ้น โดยไม่ควรตั้งบุคคลที่มีตำแหน่งเกี่ยวพันกับการเมืองโดยตรง เพราะกฎหมายแก้ไขทุกอย่างไม่ได้ จึงต้องสร้างเครื่องมือในการแก้ปัญหานี้ขึ้น เพื่อรักษาองค์กรอย่าง ธปท.ไว้” นิพนธ์ ระบุ 

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรา 25 กำหนดอำนาจของบอร์ด ธปท.ที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ธปท. หากให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงผ่านบอร์ด ธปท.ได้ การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ธปท.ก็จะมีปัญหา ขณะเดียวกันบอร์ด ธปท.ยังมีอำนาจกําหนดหลักเกณฑการบริหารจัดการทุนสํารองเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก

อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว นิพนธ์ เห็นว่า ควรแก้ไขกฎหมาย ธปท.ด้วย โดยเฉพาะมาตรา 28 (1) ที่ให้คณะกรรมการสรรหามาจากอดีตปลัดจากกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง พาณิชย์ อุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผูอํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งเป็นข้าราชการทั้งสิ้น นอกจากนี้เมื่อคณะกรรมการสรรบุคคลเป็นประธานบอร์ดและกรรมการ ธปท.แล้วยังต้องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้ ครม.พิจารณาแต่งตั้งด้วย ทำให้การสรรหาประธานบอร์ดและกรรมการ ธปท. ไม่เป็นอิสระจากการแทรกแซงทางการเมือง

แต่นอกจากเรื่องกฎหมายแล้ว รัฐบาลและบุคคลผู้เกี่ยวข้องควรพยายามรักษาความเป็นอิสระให้กับ ธปท.ด้วย ควรสร้างประเพณีหรือธรรมเนียมปฏิบัติในการคัดสรรบอร์ด ธปท.ด้วย

“ที่ผ่านมาจะเห็นกันว่า ภาคราชการมีความอ่อนแอจากการแทรกแซงทางการเมืองมานาน จนเวลานี้จะหาข้าราชการที่มีคุณสมบัติพร้อมมาดำรงตำแหน่งแทนข้าราชการระดับสูงที่เกษียณอายุได้ยากมาก

ธปท.เป็นองค์กรสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายจึงเป็นเงื่อนไขจำเป็นในการรักษาการเติบโต ถ้าสูญเสียความอิสระ ก็กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้”

น่าจับตาว่า รัฐบาลชุดนี้จะสร้างประเพณีปฏิบัติที่ดีในการคัดสรรบอร์ด ธปท.ได้สมกับความตั้งใจในการปฏิรูปประเทศมากน้อยเพียงใด