posttoday

ช่องว่าง "สองสี" จุดอ่อนล่าบึ้มป่วนเมือง

15 เมษายน 2558

ปัญหาสำคัญที่ทำให้แต่ละคดีไม่คืบหน้า ว่ากันว่าเป็นเพราะ “ช่องว่าง” ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ล่วงเลยมา 5 วัน หลังเหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่ห้างสรรพสินค้ากลางเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี แต่ทว่ากลับยังไร้วี่แววไม่สามารถสืบสาวไปถึงตัวคนผิด หรือเบื้องหลังความรุนแรงที่เกิดขึ้น

แม้ก่อนหน้านี้จะพบหลักฐานเชื่อมโยง “ชายชุดน้ำเงิน” ที่คาดว่าเป็นมือมืดที่ก่อเหตุ แต่สุดท้ายจากการสอบสวนพบว่าเป็นเพียงชาวบ้านใน ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย

กุญแจสำคัญที่เหลืออยู่ในเวลานี้ คือ พนักงานรักษาความปลอดภัย 3 คนที่อยู่ในการดูแลของทหาร และคาดว่า 1 ใน 3 คนอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง

ปัญหาอยู่ตรงที่หากยิ่งปล่อยให้เวลาทอดนอนออกไปเรื่อยๆ โดยเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถจับมือใครดมหรือหาตัวคนผิดมาดำเนินคดี

นอกจากจะเป็นการกัดกร่อนทำลายความเชื่อมั่นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แล้ว

อีกด้านหนึ่งยังอาจปลุกให้ฝักฝ่ายต่างๆ ที่จ้องจะก่อเหตุ ฉกฉวยสถานการณ์ในจังหวะนี้เข้ามาผสมโรงก่อเหตุการณ์ความไม่สงบเพิ่มเติม ซึ่งจะยิ่งทำให้ความรุนแรงขยายวงและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่ต้องทำเวลานี้คือการรีบเร่งติดตามคนร้ายมาดำเนินคดี คู่ขนานไปกับการเฝ้าระวังที่เข้มงวดไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยเดิมที่จะซ้ำเติมปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ คสช.จะมีอำนาจมากกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วไป เพราะคนที่จ้องก่อเหตุมีความชำนาญ ทั้งเรื่องระเบิดและวิธีการดำเนินการที่เป็นระบบจนยากที่เจ้าหน้าที่จะสืบสาวไปถึงต้นตอ

ดังจะเห็นจากระเบิดเย้ยกฎอัยการศึกลูกแรกเมื่อวันที่ 1 ก.พ. บริเวณทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยามพารากอน ซึ่งจนถึงวันนี้ผ่านมาสองเดือนครึ่งยังไม่สามารถสืบหาตัวคนผิดมาดำเนินคดี

จะมีก็เพียงคดีระเบิดที่ศาลอาญาที่สามารถจับกุมตัวผู้ก่อเหตุได้ทันที แต่สุดท้ายจากการสืบสวนสอบสวนก็ยังไม่อาจสาวไปถึงคนบงการที่แท้จริง

ดังนั้น ในคดีคาร์บอมบ์ที่เกาะสมุย ที่ประเมินแล้วไม่น่าใช่เรื่องง่าย ความคืบหน้าที่พอจะจับต้องได้เวลานี้อยู่ที่การควบคุมตัว นรินทร์ อ่ำหนองบัว หรือ “เอ็ม เสื้อแดง” ที่ีโพสต์ข้อความ “คืนนี้จัดหนักที่สุราษฎร์” ก่อนเกิดเหตุ ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ครั้งแรกหลังประกาศใช้

ทว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้แต่ละคดีไม่คืบหน้าไปถึงไหน ว่ากันว่าเป็นเพราะ “ช่องว่าง” ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่ยังมีอำนาจหน้าที่ทับซ้อนกันอยู่บางส่วน และเริ่มตั้งเค้าจะกลายเป็นความขัดแย้ง

เห็นได้ชัดเจนจากคดีล่าสุดคาร์บอมบ์ที่เกาะสมุย เมื่อ “สัญญาณ” จากฝั่งรัฐบาล คสช. ผ่าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อ้างรายงานการสืบสวนเชิงลึกของฝ่ายความมั่นคง ยืนยันว่าหลักฐานทั้งหมดที่พบในขณะนี้เชื่อมโยงไปยังกลุ่มผู้ก่อเหตุกลุ่มเดิมที่เคยสร้างสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ

แถมยัง “มั่นใจ” ว่าเป็นกลุ่มผู้ที่เกี่ยวโยงกับ “กลุ่มอำนาจเก่า” ส่วนรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มาก่อเหตุ เพื่อหวังสร้างภาพให้เกิดความวิตกว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับสถานการณ์ชายแดนใต้เป็นวิธีการเบี่ยงเบนประเด็นของผู้ก่อเหตุ

การ “ตั้งธง” เช่นนี้ย่อมสร้างความอึดอัดใจให้กับฝ่ายตำรวจและชุดสอบสวน ดังจะเริ่มเห็นอาการที่ออกมาระบายความไม่สบายใจเสมือนถูกบีบให้อยู่ในวงจำกัด และเป็นเรื่องยากที่ผลสรุปคดีจะออกมานอกธงที่วางไว้

“ขณะนี้ได้เกิดความเห็นไม่ลงรอยระหว่างทหารและตำรวจ โดยตำรวจเห็นว่าการชี้นำของฝ่ายทหารเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนอย่างมาก” สัญญาณจากเจ้าหน้าที่เหล่านี้ล้วนไม่เป็นผลดี

อีกทั้งไม่ว่าผลการสืบสวนจะออกมาอย่างไรย่อมไม่เป็นผลดี เพราะหากผลออกมาต่างจากธงที่ตั้งไว้ก็จะกระทบความเชื่อมั่นของรัฐบาล คสช.ที่ประเมินสถานการณ์ผิด หรือหากรูปคดีไม่เป็นไปอย่างที่ชี้นำย่อมทำให้ชุดสืบสวนไม่กล้าดำเนินการอย่างเต็มที่ หรือแม้แต่หากผลสุดท้ายออกมาตามที่ คสช.ระบุก็จะถูกวิจารณ์ว่าเป็นการทำงานตามใบสั่้งของรัฐบาลทันที

ปัญหาตรงนี้หากยังไม่ได้รับการสะสางนับวันย่อมมีแต่จะทำให้ “ช่องว่าง” ระหว่างตำรวจและทหารห่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ และย่อมพานจะกระทบต่อเนื่องไปถึงประสิทธิภาพการทำงานร่วมกัน

ยิ่งภายหลังมีการประกาศใช้มาตรา 44 ได้เพิ่มช่องทางให้ทหารเข้าไปมีส่วนร่วมในการติดตามสืบสวนดำเนินคดีมากขึ้น “ช่องว่าง” ระหว่างสีกากีและสีเขียวนับวันมีแต่จะเป็นปัญหาหนักขึ้น และนั่นย่อมทำให้อิสระในการทำงานของตำรวจถูกจำกัดและส่งผลในทางปฏิบัติอย่างแน่นอน

ดังนั้น หากรัฐบาล คสช.ที่ได้แต่ออกมาดักคอว่าทุกความปั่นป่วนรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือเชื่อมโยง “กลุ่มอำนาจเก่า” แต่ไม่อาจติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้ย่อมกลายเป็นแรงกดดันที่จะสะท้อนกลับมายังรัฐบาล คสช.เอง

สุดท้าย แรงกดดันต่างๆ ย่อมย้อนกลับมากัดกร่อนความเชื่อมั่นในตัว พล.อ.ประยุทธ์ และกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปยังการบริหารงาน การปฏิรูป และร่างรัฐธรรมนูญ