posttoday

‘วิษณุ’ยกม.44 ย้อนทูต เทียบเคียงม.16ฝรั่งเศส

08 เมษายน 2558

“คสช.เห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องใช้ช่องทางมาตรา 44 เป็นเครื่องมือเสริมพิเศษในการใช้ดูแลชีวิตและทรัพย์สินช่วงเวลาไม่ปกติ และยืนยันว่ามาตรานี้จะกระทบต่อคนทำผิดกฎหมายเท่านั้น”

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

พลันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก แล้วนำมาตรา 44 มาใช้ควบคุมความสงบเรียบร้อยในประเทศไทย นับว่าสร้างความสนใจจากนานาชาติไม่น้อย ซึ่ง “วิษณุเครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงเนื้อหาและรายละเอียดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 ให้เอกอัครราชทูต 16 ประเทศ และผู้แทนสถานทูตในประเทศไทย ตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศที่มีสำนักงานในประเทศไทย และสำนักข่าวต่างประเทศ รวมกว่า 60 แห่ง ณ กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา 

วิษณุ อธิบายว่า มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีอยู่ตั้งแต่เดือน ก.ค.ปีที่แล้ว และเคยใช้อำนาจนี้เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อยืดวาระผู้บริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในอนาคตจะใช้มาตรา 44 อีกในการแก้ปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหากรมการบินพลเรือน ปัญหาการเกษตร หรือการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากการใช้อำนาจปกติจะใช้เวลามากและไม่ทันการณ์

ทั้งนี้ มาตรา 44 ถือเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาที่ไม่สามารถทำได้ตามช่องทางปกติ แต่ไม่ใช่อาวุธกำจัดฝ่ายใด ซึ่งฝ่ายความมั่นคงมีรายงานว่า ผู้สร้างสถานการณ์มี 5 กลุ่ม คือ ผู้สูญเสียอำนาจทางการเมืองในอดีต กลุ่มทุนทางเศรษฐกิจหรือผู้มีอิทธิพลที่เสียประโยชน์จากการจัดระเบียบสังคม กลุ่มที่รู้ว่าจะเกิดการเลือกตั้งและประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามโรดแมป จึงต้องการสร้างสถานการณ์ กลุ่มที่ต้องการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความไม่เรียบร้อย และกลุ่มที่อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและสังคม

อย่างไรก็ตาม อำนาจที่คล้ายคลึงกับมาตรา 44 เคยใช้ในรัฐธรรมนูญในสมัยอดีต 5 รัฐบาล และมาใช้รัฐบาลปัจจุบัน รวมเป็น 6 รัฐบาล ซึ่งนำหลักการมาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ปี 1958 ที่ให้อำนาจประธานาธิบดีฝรั่งเศสในการออกคำสั่งหรือกระทำการใดๆ ที่จำเป็น เมื่อมีสถานการณ์กระทบต่อความมั่นคงของชาติ และเหตุผลเลือกใช้มาตรานี้ เนื่องจากการประกาศใช้ (พ.ร.ก) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์

นอกจากนี้ กองทัพยังต้องการอำนาจพิเศษที่มีความชัดเจนกว่ากฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องประกาศใช้โดยอ้างเขตพื้นที่เป็นหลัก ขณะที่ประกาศคำสั่ง คสช.จะอ้างฐานความผิดเป็นหลัก ขณะที่คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2558 เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาสามารถต่อรองไม่ต้องรับความผิดได้ ด้วยการเข้ารับการอบรม เพื่อไม่ต้องถูกฟ้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีในกฎหมายอื่น

สำหรับความแตกต่างการใช้กฎอัยการศึกกับมาตรา 44 คือ 1.ประเทศไม่ได้อยู่ใต้กฎอัยการศึกอีกต่อไป ซึ่งจะเป็นผลดีในเรื่องการท่องเที่ยว และลดความรุนแรงในสายตาประชาคมโลก 2.เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดต่อฐานความผิด 4 กลุ่มเท่านั้น 3.เจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกจับกุม ค้น ยึด เข้าในเคหสถาน ห้ามเผยแพร่ข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคง และกักตัวผู้ต้องหาได้ 7 วันเท่านั้น

4.ห้ามชุมนุมทางการเมือง หากจัดกิจกรรมต้องขออนุญาต คสช. 5.ความผิดของผู้ฝ่าฝืนประกาศ คสช. สามารถยกเลิกได้ด้วยการเข้ารับการอบรม 6.คำสั่งมีความรุนแรงน้อยกว่ากฎอัยการศึก และมีวิธีการไต่สวนที่นำมาจากกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา และ 7.ผู้กระทำผิดตามฐานความผิด 4 ประเภท จะได้รับการไต่สวนโดยศาลทหาร ซึ่งสามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ และบางคดีอาจยกฟ้องได้ ซึ่ง คสช.จะไม่ออกคำสั่งเพิ่ม ยกเว้นจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 อีก การจับกุมผู้กระทำผิดตามประกาศ คสช.จึงเป็นความผิดตามฐานคำสั่งเดิม เช่น การห้ามการชุมนุม

ขณะเดียวกัน ได้มีผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตเบลเยียม สอบถามว่าจะทราบได้อย่างไรว่าใครเป็นเจ้าหน้าที่ในการจับกุม ซึ่ง วิษณุ ระบุว่า “ผู้บริสุทธิ์ทั้งไทยและต่างชาติไม่มีอะไรต้องกลัว หากต้องการรู้ว่าใครเป็นเจ้าหน้าที่ สามารถขอให้แสดงบัตรประจำตัวได้ โดยเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่ง คสช. จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากหัวหน้า คสช.เท่านั้น ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการแต่งตั้ง”

ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ระบุว่า การบริหารงานที่ผ่านมายังมีเสียงสะท้อนจากต่างชาติต่อความไม่เข้าใจสถานการณ์ ซึ่งปัญหาหลัก คือ ความขัดแย้งในสังคมจากการบิดเบือนข่าวสาร ใช้สื่อปลุกระดมจนเกิดความเกลียดชัง มีการใช้อาวุธสงครามรวมถึงหมิ่นสถาบันฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะกระทบต่อความมั่นคงและสังคมรุนแรง จึงต้องมีเครื่องมือพิเศษให้เจ้าหน้าที่ใช้ดำเนินการควบคุม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา คสช.ได้ใช้กฎอัยการศึกเพื่อรักษาความสงบอย่างระมัดระวังและเท่าที่จำเป็นเพียง 2-3 ข้อ จากทั้งหมด 15 ข้อ ร่วมกับการขอความร่วมมือตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักสากล

“คสช.เห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องใช้ช่องทางมาตรา 44 เป็นเครื่องมือเสริมพิเศษในการใช้ดูแลชีวิตและทรัพย์สินช่วงเวลาไม่ปกติ และยืนยันว่ามาตรานี้จะกระทบต่อคนทำผิดกฎหมายเท่านั้น”