posttoday

ผ่าระบบเลือกตั้งใหม่ พรรคการเมืองปาดเหงื่อ

14 มีนาคม 2558

แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อนับถอยหลังสู่วันเลือกตั้ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อนับถอยหลังสู่วันเลือกตั้ง เพราะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ดูเหมือนว่าพรรคการเมืองใหญ่ถึงสองพรรคอย่าง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาธิปัตย์” ต่างพร้อมใจทยอยกันออกมาวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญเวอร์ชั่น “บวรศักดิ์อุวรรณโณ” อย่างเข้มข้น

หนึ่งในประเด็นที่ร่างรัฐธรรมนูญถูกถล่มมากที่สุด คือ ระบบการเลือกตั้ง โดยฝ่ายการเมืองต่างมองในบริบทเดียวกันว่าระบบเลือกตั้งแบบใหม่ไม่ส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง

การกำหนดกติกาการเลือกตั้งแบบใหม่ของคณะ กมธ.ยกร่างฯ ทำให้ประเทศไทยจะมี สส.จำนวนน้อยลงจากเดิมที่มี 500 คน (แบ่งเขต 375 คน บัญชีรายชื่อ 125 คน) มาเป็น 450-470 คน (แบ่งเขต 250 คน บัญชีรายชื่อ 200-220 คน)

ในเชิงโครงสร้างจำนวนของ สส.แต่ละพื้นที่นั้นสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ได้กำหนดเบื้องต้นแล้วว่าภูมิภาคใดจะมี สส.กี่คน โดยคำนวณจำนวน สส.ของแต่ละพื้นที่จากฐานจำนวนประชากรล่าสุดเมื่อ 31 ธ.ค. 2557 จำนวน 65,124,716 คน ซึ่งอัตราส่วนของประชากรต่อ สส.หนึ่งคนจะอยู่ที่ 260,499 คน

สำหรับสัดส่วนของ สส.บัญชีรายชื่อและระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ทาง กกต.ได้จัดวางเอาไว้เป็น 6 กลุ่มจังหวัด ประกอบด้วย 6 กลุ่มจังหวัดที่มีการแบ่งประกอบด้วย 1.ภาคเหนือ 15 จังหวัด มี สส.เขต 41 คน บัญชีรายชื่อ 18 คน รวม 59 คน 2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 12 จังหวัด มี สส.เขต 42 คน บัญชีรายชื่อ 28 คน รวม 70 คน 3.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 8 จังหวัด สส.เขต 41 คน บัญชีรายชื่อ 46 คน รวม 87 คน

4.ภาคกลางตอนบน 17 จังหวัด สส.เขต 42 คน บัญชีรายชื่อ 50 คน รวม 92 คน 5.ภาคกลางตอนล่าง 9 จังหวัด สส.เขต 44 คน บัญชีรายชื่อ 30 คน รวม 74 คน และ 6.ภาคใต้ 16 จังหวัด สส.เขต 40 คน บัญชีรายชื่อ 33 คน รวม 73 คน

ทั้งนี้ จะมีจังหวัดที่มี สส.เพียงคนเดียวถึง 14 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน มุกดาหาร อำนาจเจริญ อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครนายก สมุทรสงคราม ตราด พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล ส่วน กทม.ก็จะมี สส.เหลือเพียง 22 คน จากเดิมที่มีอยู่ 33 คน

ขณะเดียวกัน การนำระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมมาใช้ยิ่งทำให้พรรคการเมืองใหญ่ได้จำนวน สส.น้อยลงด้วย เพราะการที่พรรคการเมืองใดจะได้ สส.กี่ราย จะยึดจำนวนสัดส่วนเปอร์เซ็นต์คะแนนจากระบบบัญชีรายชื่อเป็นหลัก ไม่ใช่ระบบการให้เพิ่มเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

กล่าวคือ หากพรรคหรือกลุ่มการเมืองใดได้คะแนนของระบบสัดส่วน 10% เท่ากับว่าจะได้จำนวน สส. 45 คน โดยในกรณีถ้าได้ สส.แบ่งเขตไม่ถึง 45 คน ก็จะนำจำนวน สส.ระบบสัดส่วนมาเติมให้ครบ 45 คน แต่ในทางกลับกันหากได้ สส.ระบบแบ่งเขตเกิน 45 คนแล้ว ก็จะไม่เพิ่ม สส.ระบบบัญชีรายชื่อให้อีก

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สส.ทั้งหมดยังไม่ได้รับการทบทวนจากคณะ กมธ.ยกร่างฯ แต่อย่างใด เพราะที่ประชุมยังคงหลักการเดิมไว้ทุกประการ

แต่กระนั้น แม้ประเด็นเกี่่ยวกับการเลือกตั้ง คณะ กมธ.ยกร่างฯ จะยังไม่แสดงท่าทีว่าจะทบทวน แต่ในส่วนของ “วุฒิสภา” ปรากฏว่าคณะ กมธ.ยกร่างฯ ได้ส่งสัญญาณว่าพร้อมจะทบทวนบางเรื่องที่เป็นสาระสำคัญเช่นกัน

อย่างในกรณีที่มาของ สว.จากการเลือกตั้งทางอ้อมของอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา และอดีตประธานศาลฎีกา เลือกกันเองให้ได้ สว.จำนวน 10 คน ภายหลังมีเสียงท้วงติงว่าหากเกิดกรณี
ที่อดีตประธานศาลฎีกาไม่เข้าร่วมกระบวนการเลือกตั้ง สว.ทางอ้อม จะเป็นผลให้อดีตนายกฯ และอดีตประธานรัฐสภา ซึ่งส่วนใหญ่เคยอยู่กับพรรคการเมืองมาก่อนจะสามารถเลือก สว.ได้ฝ่ายละ 5 คน

ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯ จึงได้เขียนลงไปในเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญในทำนองว่าหากเกิดกรณีที่ว่านั้นอดีตนายกฯ และอดีตประธานรัฐสภา สามารถเลือก สว.ได้แค่ฝ่ายละ 3 คนเท่านั้น

เช่นเดียวกับกระบวนการการเลือกตั้ง สว.ตามช่องทางอื่นๆ ทั้งจากการเลือกกันเองของตัวแทนภาคประชาชน ควรจะต้องมีลักษณะกระจายไปตามพื้นที่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระจุกตัวเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ยังรวมไปถึงการให้ผู้สมัคร สว.มีสิทธิเลือกกระบวนการเข้าสู่การเลือกตั้งทางอ้อมได้เพียงช่องทางเดียวเท่านั้นจากทั้งหมด 5 ช่องทาง

คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ในระยะนี้การประชุมจะเป็นการพิจารณาทบทวนในเบื้องต้นพร้อมกับเขียนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยการทบทวนเนื้อหาอย่างเป็นทางการทั้งหมด จะอยู่ในระหว่างวันที่ 25 พ.ค.-23 ก.ค. ซึ่งเป็นช่วง 60 วันสุดท้ายก่อนส่งร่างรัฐธรรมนูญให้กับ สปช.ลงมติให้ความเห็นชอบ