posttoday

ผ่านกฎหมายประชามติ กรุยทางแก้รัฐธรรมนูญ?

24 กันยายน 2552

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ภายหลังจากยืดเยื้อกันมานาน ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรก็เห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... ด้วยคะแนน 243 เสียงต่อ 23 เสียง ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่วิป 3 ฝ่ายได้มีข้อตกลงร่วมกันในการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 จำนวน 6 ประเด็น ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะเสนอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พิจารณาอีกครั้งหลังจากเดินทางกลับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา

พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติถือว่ามีความสำคัญในทางการเมืองโดยเฉพาะเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเพราะหากรัฐบาลเล็งเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นความจำเป็นเร่งด่วนอย่างสำคัญ แต่ไม่ต้องการดำเนินการโดยลำพัง

ดังนั้น กฎหมายประชามติฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลหากต้องการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนก็สามารถดำเนินการได้ เช่นเดียวกับกรณีที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วรัฐบาลก็สามารถใช้กฎหมายประชามติฉบับนี้ดำเนินการสอบถามประชาชนได้ว่าจะเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเสร็จแล้วหรือไม่เช่นกัน

สำหรับสาระสำคัญของพ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการกำหนดวิธีการจัดทำประชามติว่าจะต้องมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไรบ้าง รวมไปถึงการกำหนดบทลงโทษในกรณีที่มีผู้กระทำอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วย

โดยในเรื่องของการกำหนดขั้นตอนการทำประชามตินั้น ในพ.ร.บ.ฉบับนี้มีการกำหนดใน มาตรา 7 ว่า เมื่อมีการประกาศให้มีการออกเสียงประชามติตามมาตรา 6 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันออกเสียงภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน นับแต่วันประกาศให้มีการออกเสียงในราชกิจจานุเบกษา

ภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันประกาศให้มีการออกเสียงใดแล้ว ถ้ามีผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นว่าการออกเสียงนั้นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายที่บัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ หรือเจตนารมณ์ของมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ สามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำวินิจฉัยโดยเร็ว

สอดคล้องกับมาตรา 36 ที่กำหนดให้ ผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วยออกเสียงใด เห็นว่าการออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นเป็นไปโดยไม่สุจริตเที่ยงธรรม มีสิทธิยื่นคำคัดค้านโดยมีรายละเอียดแห่งพฤติการณ์หรือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการออกเสียงนั้นไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่การลงคะแนนเสียงสิ้นสุดลง

โดยมาตรา 37 ขีดเส้นการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งในเรื่องดังกล่าวเอาไว้ว่า เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับคำคัดค้านแล้วให้พิจารณาสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงโดยพลัน ถ้าเห็นว่าการออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นไม่สุจริตเที่ยงธรรม ให้มีคำสั่งให้ดำเนินการออกเสียงใหม่ในหน่วยออกเสียงนั้น ทั้งนี้ต้องไม่ชักช้ากว่า 30 วัน นับแต่วันออกเสียง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด

ขณะที่การออกเสียงเพื่อให้มีข้อยุติ หรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี บทบัญญัติมาตรา 10 บัญญัติว่า หากมีจำนวนเสียงเห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนของผู้มาออกเสียง ให้ถือว่าประชาชนโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น หากปรากฏว่ามีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ถือว่าเรื่องที่จัดทำประชามตินั้นเป็นอันตกไป

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้มาตรา 10/1 วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติต้องดำเนินการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จัดทำประชามติแก่ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับทราบอย่างเพียงพอเกี่ยวกับประโยชน์ได้เสียที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศชาติ ซึ่งต้องประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาภายใน 15 วัน นับแต่วันประกาศให้มีการออกเสียง และต้องทำเอกสารเผยแพร่ข้อมูลส่งให้เจ้าบ้านไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันออกเสียง

สำหรับขอบเขตในการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาตรา 38 กำหนดข้อห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี

ส่วนการกำหนดโทษสำหรับบุคคลทั่วไปที่กระทำการอันไม่สุจริตในการออกเสียงประชามติ โดยในมาตรา 43 ได้มีการระวางโทษเอาไว้เป็น 3 รูปแบบด้วยกัน

1.โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท สำหรับผู้ใดที่กระทำความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เสนอหรือสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงทำการออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

2.โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้ สำหรับผู้ใดที่จะให้มีการเล่นพนันและเรียกทรัพย์เพื่อจะให้ไปออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

3.โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ใดที่ขาย จำหน่าย หรือจ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราในเขตออกเสียงระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันออกเสียงจนสิ้นสุดวันออกเสียง

ทั้งหมดคือสาระสำคัญของกฎหมายประชามติ แต่ที่สุดแล้วรัฐบาลจะได้แก้ไขรัฐธรรมนูญท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบันนี้หรือไม่