posttoday

1เดือน รัฐบาลคสช. สะบักสะบอม

10 ตุลาคม 2557

สัญญาณไม่สู้ดี!!! เมื่อคะแนนนิยมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ หลังจากรัฐประหารมาจนเข้าครบ 4 เดือน และครบหนึ่งเดือนของ รัฐบาล คสช.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สัญญาณไม่สู้ดี!!! เมื่อคะแนนนิยมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ หลังจากรัฐประหารมาจนเข้าครบ 4 เดือน และครบหนึ่งเดือนของ รัฐบาล คสช.

แม้ความพึงพอใจจะยังอยู่ในในเกณฑ์ดี เป็นที่น่าพอใจ แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงหลังรัฐประหารใหม่จะพบว่าคะแนนเริ่มตกลงอย่างต่อเนื่อง

ยืนยันด้วยผลสำรวจจากสวนดุสิตโพลล่าสุดคะแนนความพึงพอใจของประชาชนตกลงมาอยู่ที่ 8.57 จากคะแนนเต็ม 10 ลดลงจากเดือนที่ 3 ได้ 8.80 เดือนที่ 2 ได้ 8.87 และเดือนแรก 8.82

ส่องดูรายละเอียดจะพบว่าจุดเด่นของ คสช.ในสายตาประชาชนอยู่ที่การทำงานที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ มีความเด็ดขาด ชัดเจน ขณะที่ปัญหาและอุปสรรคของ คสช.คือ ถูกมองว่าเป็นการบริหารงานแบบรวบอำนาจ ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย อำนาจในมือของรัฐบาล คสช.จึงเป็นเหมือน “ดาบสองคม” ที่มีทั้งจุดเด่น จุดด้อยในตัวเอง และเป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องบริหารจัดการให้สมดุล เพื่อประคับประคองรัฐนาวาลำนี้ที่เริ่มถูกสั่นคลอนอย่างหนัก

ที่สำคัญทุกอย่างกำลังชี้ชัดว่าช่วงฮันนีมูนได้ผ่านพ้นไปแล้ว

อุปสรรคปัญหาในการบริหารงานที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกวันนับจากนี้ย่อมเป็นปัจจัยกัดกร่อน “ต้นทุนเดิม” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่สั่งสมมา

ยังไม่รวมกับ “โอกาส” ที่ประชาชนหยิบยื่นฝากความหวังเอาไว้ ที่หากยังไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจนโอกาสที่ว่านี้ย่อมหมดลงไป และกลายเป็นวิกฤตที่จะย้อนกลับมาทำลายรัฐบาล คสช.

เดิมพันของรัฐบาล คสช.จึงมีเวลาค่อนข้างจำกัด สวนทางกับภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปหรือสร้างความสมานฉันท์ปรองดองที่ล้วนแต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ยังไม่รวมกับการบริหารราชการที่เต็มไปด้วยแรงเสียดทานทั้งจากภายใน ภายนอก แม้การประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.)คสช.นัดแรกที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเป็นประธานเพื่อให้รัฐบาลรายงานผลการทำงานทั้ง 5 ด้าน ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายสังคมจิตวิทยา ฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และฝ่ายกิจการพิเศษ หลังรัฐบาลเข้าบริหารราชการแผ่นดินครบ 1 เดือน จะเป็นไปอย่างชื่นมื่น

ทว่าลึกๆ แล้วปัญหาที่ปรากฏเป็นที่รับรู้ชัดเจน ถึงขั้นทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งไปทาง วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้หารือกับกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อเปิดเกมรุกเร่งสื่อสารทำความเข้าใจโปรโมทผลงาน ชี้แจงปมปัญหาที่ถูกโจมตีต่างๆ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาคาราคาซังที่จะย้อนกลับมาซ้ำเติมรัฐบาล

ตอกย้ำว่ารัฐบาลเห็นปัญหาและกำลังเร่งหาทางแก้ไข เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมารัฐบาล และ คสช.ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานอยู่หลายเรื่อง

โดยเฉพาะเรื่องใหญ่อย่าง “ไมค์ทองคำ” ที่เงื่อนงำความไม่โปร่งใส ความฟุ้งเฟ้อ ส่งผลต่อความน่าเชื่อของรัฐบาลถึงขั้นทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรีบสั่งตัดตอนยุติการจัดซื้อ ป้องกันปัญหาจะบานปลาย และฉุดให้กระบวนการปฏิรูปต้องพังลงไปทั้งยวง

ขณะที่แม่น้ำ 5 สาย ตามโรดแมป คสช. กำลังเห็นเป็นรูปเป็นร่าง และจะเป็นกลไกขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูป แต่ทว่าแค่ออกตัวกลับเริ่มเห็นปัญหา มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลายส่วน

เริ่มตั้งแต่ 1.คสช.ซึ่งเวลานี้ปรับปรับทัพเสริมทีมกันใหม่หลังบิ๊ก คสช.เกษียณกันยกแผง จำเป็นต้องดึงมือไม้ในกองทัพมาช่วยอุดช่องโหว่ ลดปัญหา “ขาลอย” สร้างความเข้มแข็งและคล่องตัวให้ คสช.ทำหน้าที่คู่ขนานไปกับรัฐบาล แต่ปัญหาอยู่ตรงที่อำนาจเบ็ดเสร็จที่หลายคนเป็นห่วงจนต้องออกมาดักคอหลายรอบ

2.ครม.แม้จะได้บุคลากรที่มีชื่อเสียงประสบการณ์ เข้ามาลบภาพถูกครอบงำโดยกองทัพ แต่ทว่าผลงานที่ผ่านมาหนึ่งเดือนกลับยังไม่เข้าตาประชาชนยิ่งปัญหาเศรษฐกิจการค้า ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะกับยางพาราที่ถูกถล่มอย่างหนักจนถึงขั้นมีเกษตรกรส่งเสียงเตรียมออกมาเคลื่อนไหว หากยังแก้ปัญหาไม่ได้ แถมยังมีปัญหาเรื่องข้าวที่จ่อรุมเร้าเร็วๆ นี้ ทั้งเรื่องการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ไปจนถึงแนวนโยบายที่จะมาทดแทนโครงการรับจำนำข้าว

3.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกเสาหลักสำคัญที่จะทำหน้าที่แทน สส.สว. แต่การทำงานที่ผ่านมากลับถูกมองว่าเป็นแค่ตรายางคอยรับลูกจาก คสช.ที่สามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้ ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล คสช.อย่างที่ควรจะเป็น และจะยิ่งเป็นปัญหาในระยะยาว 4.สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เวลานี้ผ่านขั้นตอนกระบวนการสรรหาจนได้ครบ 250 คน และอยู่ระหว่างขั้นตอนการรายงานตัว โดยมีคิวประชุมนัดแรกวันที่ 21 ต.ค. ทว่า ปัญหาเริ่มก่อตัวตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่มต้นกระบวนการ “ปฏิรูป” ทั้งที่ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ คสช. เมื่อถูกโจมตีว่าทั้งล็อกสเปกเลือกคน และตั้งธงการปฏิรูปไว้เรียบร้อย

กระบวนการที่ควรจะลงไปรับฟังความคิดความเห็นของประชาชน เพื่อนำมาสรุปเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าจะต้องเดินต่อไปในวันข้างหน้าจึงอาจไม่เป็นเช่นนั้น และสุดท้ายย่อมทำให้กระบวนการปฏิรูปไม่เป็นที่ยอมรับ แถมนำพาทุกอย่างกลับมาสู่วังวนความขัดแย้งเดิมๆ

คล้ายกับ 5.กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จวนจะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือก เพื่อมาทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่จะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสำหรับการปฏิรูป หากได้บุคลากรที่ไม่เป็นที่ยอมรับ หรือมีธงเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งย่อมมีปัญหาตามมา

ดังนั้น จะเห็นว่าสายธาร 5 สายที่ คสช.หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นกลไกขับเคลื่อนการบริหารเดินหน้าปฏิรูปประเทศนับจากนี้ ล้วนแต่ออกตัวแบบไม่ดีเท่าที่ควร เพราะผ่านมาแค่ 1 เดือนหลายกลไกถูกโจมตีจนอาจจะสะเทือนไปถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น

นับจากนี้จึงเป็นงานหนักของรัฐบาล คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะต้องหาทางคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น เร่งกู้ภาพลักษณ์ สร้างผลงานให้ปรากฏ เพื่อประคับประคองให้กลไกต่างๆ เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้