posttoday

จับตาสนช.ถอดถอนเกมต่อรองการเมือง

01 สิงหาคม 2557

ใกล้เข้าไปทุกขณะแล้วสำหรับการแต่งตั้ง “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ใกล้เข้าไปทุกขณะแล้วสำหรับการแต่งตั้ง “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” (สนช.) ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกและหัวหน้า คสช. ยืนยันมาตลอดในช่วงปลายเดือน ก.ค.ไม่เกินต้นเดือน ส.ค.จะสามารถดำเนินการจัดให้มี สนช.ได้แล้วเสร็จ

โดยเริ่มปรากฏเค้าโครงของ สนช.ออกมาแล้วว่ากองทัพและตำรวจจะเข้ามาเป็นฝ่ายคุมเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก สนช.ทั้งหมด โดยเฉพาะกองทัพบกซึ่งมีการคาดการณ์ว่านายทหารระดับสูงเตรียมเดินเข้าสภามากที่สุด ส่วนเหล่าทัพอื่นๆ ก็ลดหลั่นลงไปตามลำดับ

ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าการจัดสรรตำแหน่ง สนช.ในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องปกติที่ต้องดำเนินการภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติอยู่แล้ว คสช.มีความจำเป็นที่ต้องคุมเสียงข้างมากในสภาให้ได้ เพื่อให้กฎหมายที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศในอนาคตสามารถผ่านการพิจารณาของ สนช.ได้อย่างรวดเร็วและไม่ขัดต่อกฎหมาย

เมื่อปี 2549 สนช.ในเวลานั้นแม้ส่วนหนึ่งจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ปรากฏว่าต้องมาตกม้าตาย ภายหลังมีร่างพระราชบัญญัติจำนวน 6 ฉบับไม่ผ่านความเห็นชอบจากศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก สนช.พิจารณาร่างกฎหมายด้วยสภาพที่องค์ประชุมไม่ครบ

จากบทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีต พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะเคยเป็นสมาชิก สนช.เมื่อปี 2549 มาก่อน จึงต้องพยายามหาทุกช่องทางเพื่อปิดจุดอ่อนให้กับ สนช. ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 9 (5) ที่กำหนดว่า “สมาชิกสภาพของสมาชิก สนช.สิ้นสุดลงเมื่อไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม”

บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเจตนาที่ คสช.ต้องการให้สมาชิก สนช.ใส่ใจกับการทำงานในสภา มิเช่นนั้นต้องพ้นตำแหน่งได้ จากเดิมที่เมื่อปี 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ไม่ได้กำหนดสภาพบังคับแบบนี้เอาไว้

เมื่อมีแนวโน้มและทิศทางของ สนช.กำลังจะมีความเข้มแข็งและเป็นเอกภาพกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ย่อมเป็นปัจจัยที่สร้างความหวาดผวาให้กับฝ่ายการเมืองไม่น้อย แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะไม่ได้ให้ สนช.มีบทบาทต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของการปฏิรูปประเทศมากนักก็ตาม

อำนาจในมือของ สนช.ที่ฝ่ายการเมืองกำลังจับตาเป็นพิเศษ คือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติและการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมือง

ในส่วนของการพิจารณาร่างกฎหมายนั้นถือเป็นอำนาจหน้าที่พื้นฐานที่ สนช.ทุกยุคสมัยต้องมีเอาไว้ แต่สำหรับบริบทการเมืองในปัจจุบันที่มีเป้าหมายอยู่ที่การลดทอนอำนาจของฝ่ายการเมือง อาจทำให้การออกกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งของ สนช.กระทบต่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองในระยะยาวอยู่ไม่น้อย

ไม่ว่าจะเป็นการเสนอแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ต้องการให้ กกต.มีอำนาจกลั่นกรองนโยบายประชานิยมที่ใช้สำหรับการหาเสียง และลดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการบริหารพรรคเพื่อไม่ให้อยู่ในตำแหน่งติดต่อกันนานจนเกินไป รวมไปถึงการเพิ่มอำนาจให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมือง

ขณะที่ “การถอดถอน” กลายเป็นประเด็นที่เกิดการถกเถียงกันตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวประกาศใช้แล้วว่า สนช.มีอำนาจที่ว่านั้นหรือไม่

ฝ่ายหนึ่งตีความว่าในเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทบัญญัติที่ว่าด้วยการให้อำนาจ สนช.พิจารณาถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมือง เท่ากับว่า สนช.ไม่อาจดำเนินการถอดถอนได้ ซึ่งแม้แต่ ป.ป.ช.เองก็กำลังตั้งข้อสงสัยเช่นกันจนต้องชะลอการวินิจฉัยคดีถอดถอนนักการเมืองที่อยู่ในสารบบเอาไว้ก่อน

ตรงกันข้ามกับอีกฝ่ายที่เห็นว่า สนช.มีอำนาจดังกล่าวโดยสมบูรณ์ เพราะมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญให้ สนช.มีสถานะเทียบเท่าสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา บวกกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่มีบทบัญญัติการถอดถอนบุคคลยังมีผลบังคับใช้อยู่ และที่สำคัญ สนช.ชุดปี 2549 เคยลงมติถอดถอน “จรัล ดิษฐาอภิชัย” ออกจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาแล้ว ทั้งหมดจึงเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้ สนช.สามารถใช้อำนาจถอดถอนที่เป็นของวุฒิสภาได้

ถึงที่สุดแล้วถ้า สนช.ลงมติและมีความเห็นว่าตัวเองสามารถถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งได้ จะส่งผลให้ฝ่ายการเมืองต้องตกอยู่ในอาการเสียวสันหลัง เพราะคดีถอดถอนที่ ป.ป.ช.พิจารณาเสร็จแล้วจะเข้าสู่กระบวนการถอดถอนใน สนช.ทันที โดยมีอยู่ด้วยกัน 2 กรณี ได้แก่ 1.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีจำนำข้าว และ 2.กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ สว.โดยมิชอบ ซึ่งมีบุคคลที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดหลายราย ได้แก่ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และอดีต สว. 36 ราย

ไม่เพียงเท่านี้ ป.ป.ช.ก็สามารถนำเอาการยืนยันในอำนาจถอดถอนบุคคลของ สนช.มารองรับเพื่อให้ ป.ป.ช.พิจารณาวินิจฉัยคดีการถอดถอนบุคคลที่ค้างอยู่ใน ป.ป.ช.ได้ด้วย

คดีที่ ป.ป.ช.พิจารณาใกล้เสร็จ คือ การถอดถอนอดีต สส.พรรคร่วมรัฐบาล 255 คน จากคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ สว. โดยผู้ถูกกล่าวหาได้ทยอยเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไปเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงที่ ป.ป.ช.จะมาพิจารณาต่อว่าจะชี้มูลความผิดหรือไม่ ตามมาด้วยคดีถอดถอน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี จากกรณีการระบายข้าวและการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ซึ่ง ป.ป.ช.กำลังเร่งสรุปสำนวนการพิจารณาคดีเช่นกัน

สิ่งสำคัญต้องจับตามองประเด็นการ “ถอดถอน” ดังกล่าวว่า จะเป็นเครื่องมือการต่อรองทางการเมือง ระหว่าง คสช.กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือคนในพรรคไทยรักไทย หรือไม่ เพราะกระแสข่าวหนาหู มีการต่อรองให้นักการเมืองย้ายพรรคเพื่อแลกกับการไม่ถูกถอดถอน

ทั้งนี้ เพราะหาก คสช.ต้องการขจัดนักการเมืองโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยให้สิ้นซากจริง คงระบุชัดในรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ สนช.รับเรื่องจาก ป.ป.ช.ไปถอนได้ทันที ซึ่งจะทำให้อดีต สส.ถูกเพิกสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี และอาจต้องเลิกการเมืองตลอดชีวิต เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะบัญญัติห้ามไม่ให้ผู้ที่ถูกถอดถอนกลับเข้ามาสู่ตำแหน่งทางการเมืองในทุกตำแหน่งได้อีก

เมื่อยังมีความคลุมเครือถึงอำนาจของ สนช.ว่าจะถอดถอนได้หรือไม่ จากนี้จึงต้องจับตามองการทำงานของ สนช.อย่างไม่กะพริบ เพราะทุกอย่างมีการพลิกผันได้ตลอดเวลา