posttoday

ไทยเข้มแข็งฉาวกลิ่นทุจริต

24 กันยายน 2552

โดย...ทีมข่าวการเงิน

โดย...ทีมข่าวการเงิน

หลังจากที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กดปุ่มเปิดแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ผ่านโครงการลงทุนครั้งประวัติศาสตร์มูลค่า 1.43 ล้านล้านบาท หน่วยงานกรมกองต่างๆ ที่ได้รับการจัดสรรเม็ดเงินจากโครงการไทยเข้มแข็ง ต่างเดินหน้าโครงการเต็มสูบ

โดยเฉพาะ 4 กระทรวงหลัก ที่ได้รับจัดสรรงบไทยเข้มแข็งจำนวนมาก คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข ที่ประเดิมเม็ดเงินลงทุนไทยเข้มแข็ง 2 แสนล้านบาท ไปจำนวนถึง 75%

ซึ่งรัฐบาลได้วาดฝันไว้สวยหรูใน 4 กระทรวงทหารเสือ เป็นหัวหน้าหมู่ทะลวงใช้งบ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนผ่านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีการลงทุนในระบบบริหารจัดการเรื่องน้ำทำให้มีพื้นที่ชลประทานจาก 24.5 ล้านไร่ เป็น 25.6 ล้านไร่ และจำนวนผู้ประสบอุทกภัยต่อปีจะลดลงจาก 4 แสนราย เหลือ 4 หมื่นรายต่อปี

ขณะที่การลงทุนสร้างถนนของกระทรวงคมนาคม ภายใต้การดูแลของกรมทางหลวงชนบท จะกลายเป็นถนนลาดยางทั้งหมดทั้งประเทศ จากปัจจุบันที่มีเพียง 83% ซึ่งจะมีส่วนทำให้ต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ต่อจีดีพีของประเทศไทยลงจาก 19% เหลือ 16% ต่อจีดีพี

สำหรับการลงทุนด้านการศึกษา ประเทศไทยต้องไม่มีนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1.6 แสนคน และต้องไม่มีโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานเหลืออยู่ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3,000 โรงเรียน ขณะที่จำนวนนักเรียนต่อคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ต้องลงมาเหลือ 20 คนต่อ 1 เครื่อง จากปัจจุบันอยู่ที่ 38 คนต่อ 1 เครื่อง

ส่วนการลงทุนด้านสาธารณสุข อัตราผู้ป่วยในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขระดับตำบลเพิ่มเป็น 60% จากปัจจุบันอยู่ที่ 40% โดยเตียงผู้ป่วยทั่วประเทศต้องเพิ่มจาก 6 หมื่นเตียง เป็น 7 หมื่นเตียง

ส่วนประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมีรายได้ต่อครัวเรือนต่อปีเพิ่มขึ้นจาก 6.4 หมื่นบาทต่อปี เป็น 1.2 แสนบาทต่อปี แต่ปรากฏว่า เพียงแค่เริ่มต้นจะประมูลโครงการต่างๆ ในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ก็ดูเหมือนจะเป็นแผนทำให้รัฐบาลอ่อนแอ เพราะปรากฏว่าการประมูลในโครงการต่างๆ เริ่มมีกลิ่นไม่ดีจากการใช้อำนาจการเมืองฮั้วประมูล หรือการทุจริตในการประมูลเพื่อให้ได้โครงการนั้นๆ มาอยู่ในมือ

แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะให้ความสำคัญอุดช่องว่างในจุดนี้ เพราะตระหนักว่าเป็นจุดตายของรัฐบาล หากโครงการนี้ถูกจับได้ว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ ที่มีปลัดกระทรวงการคลังขึ้นมาพิจารณาโครงการก่อนให้มีการเดินหน้าเบิกจ่ายได้ หรือว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการติดตามประเมินผลโครงการ แต่ก็ยังไม่สามารถปิดช่องให้กลุ่มคนหาผลประโยชน์ ซิกแซ็กทำ การทุจริตจากโครงการได้

ดังจะเห็นว่า ตั้งแต่เริ่มประมูลโครงการ ยังไม่ได้มีการก่อสร้าง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็เริ่มประกาศเดินหน้าตรวจสอบการประมูลโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกโครงการ

เหตุผลสำคัญเพราะโครงการประเดิมของกระทรวงนี้ถูกซอยย่อยอย่างมาก อาจเป็นช่องว่างทำให้เกิดการทุจริต โดยโครงการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย การจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 810 โครงการ ประกอบด้วย ก่อสร้างซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ สร้างฝาย สถานีสูบน้ำ และระบบท่อส่งน้ำอาคารบังคับน้ำ

นอกจากนี้ ยังมีการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทาน 771 โครงการ ขยายคูน้ำและอาคารประกอบ ก่อสร้างคันกั้นน้ำ คลองส่งน้ำ พร้อมอาคารประกอบอ่างเก็บน้ำ ก่อสร้างถนนและระบบระบายน้ำ ท่อลอดคลองส่งน้ำ สร้างบ้านพักข้าราชการ บานระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ก่อสร้างสะพานข้ามคลอง

ซึ่งมองดูแล้วแต่ละโครงการถูกซอยย่อย เอื้อกับกลุ่มนายทุนก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหัวคะแนนฐานเสียงฐานการเมือง และจำนวนไม่น้อยเป็นของนักการเมืองหาผลประโยชน์เสียเอง
ขณะโครงการประมูลของกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่น้อยหน้า เริ่มมีหมอสวมหัวใจเสือโปรยใบปลิวว่า โครงการไทยเข้มแข็งเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชน 235 แห่ง ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ

การจัดครุภัณฑ์ ได้แก่ รถยนต์ และเครื่องพ่นติดรถยนต์ 370 คัน เริ่มมีใบสั่งล็อกสเปกกันอย่างหนัก ชนิดกำลังภายในทางการเมืองมาก่อนคุณภาพ ซึ่งหากตรวจสอบไม่ดีอาจจะมีรถโรงพยาบาลภาค 2 พ่นพิษเหมือนที่เกิดขึ้นมาแล้ว

ด้านไทยเข้มแข็งกระทรวงคมนาคม กลุ่มผู้ประกอบการก่อสร้างยื่นหนังสือถึงนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เพื่อให้ยกเลิกการประมูลแบบอีออกชัน โดยให้โครงการไทยเข้มแข็งทั้งหมดประมูลด้วยระบบยื่นซองประมูลแบบเก่า ซึ่งหากได้ดังที่ผู้ประกอบการขอโครงการไทยเข้มแข็งไม่สามารถหาความโปร่งใสได้อีกต่อไป

ที่สำคัญ ผู้รับเหมาสร้างถนนที่มีความสัมพันธ์ทางการเมือง หรือเป็นบริษัทของนักการเมือง คงสนุกสนานกับการประมูลก่อสร้างถนนไร้ฝุ่น 900 โครงการ รวม 3,246 กิโลเมตร และงานบำรุง 1,120 โครงการ รวม 19,827 กิโลเมตร กันอย่างเมามัน

ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ แม้จะเป็นกระทรวงเด็กก็ยังไม่สามารถรอดมือผู้ใหญ่ที่จ้องหาผลประโยชน์ไปได้ โดยการลาออกของ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา จากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ส่วนหนึ่งมาจากแหล่งกดดันการประมูลโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวง

เพราะแค่เพิ่มเริ่มประเดิมในส่วนแรกที่มีโครงการสนับสนุนด้านการศึกษา 9,500 โรงเรียน ได้รับจัดสรรคอมพิวเตอร์เพื่อลดอัตรานักเรียนต่อคอมพิวเตอร์ภายใน 1 ปีลง จากนักเรียน 40 คนต่อคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง เหลือ 38 คนต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง และโครงการพัฒนาครูทั้งระบบ จำนวนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับการพัฒนา 417,899 คน

เพียงแค่ 2 โครงการนี้ก็มีการวิ่งนอกวิ่งในผ่านเลขาธิการกพฐ. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการจนไม่สามารถทนความสุ่มเสี่ยงของการดำเนินโครงการนี้ต่อไปได้

จะเห็นว่า เพียงแค่ชิมลางงบไทยเข้มแข็ง 2 แสนล้านบาทแรก ก็เต็มไปด้วยกลิ่นไม่ดีในการประมูลโครงการต่างๆ ซึ่งหากรัฐบาลไม่เร่งดำเนินการสร้างระบบตรวจ สอบให้เข้มแข็งรวดเร็วกว่านี้

เห็นทีโครงการไทยเข้มแข็งที่จะเป็นจุดแข็งเป็นเสาหลักเมืองค้ำรัฐบาลให้มีอายุข้ามปีไปได้ อาจจะเป็นจุดตายทำให้รัฐบาลตายน้ำตื้นอย่างที่ไม่คาดคิด เพราะแค่เริ่มต้นวงเงินแค่ 2 แสนล้านบาท ยังเริ่มเหม็นให้เห็นทุกกระทรวง และปีหน้า 2553 คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายงบไทยเข้มแข็งกันสนั่น 80% หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท

เห็นทีรัฐบาลจะปิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในโครงการไทยเข้มแข็งไม่อยู่อีกต่อไป และถึงเวลานั้นก็สายไปแล้วที่รัฐบาลจะแก้ไข หรือขอบริหารประเทศต่อไป