posttoday

อำนาจเบ็ดเสร็จดาบสองคม"บิ๊กตู่"

25 กรกฎาคม 2557

แม้แต่ วิษณุ เครืองาม หัวหน้าทีมร่างรธน.ชั่วคราว 2557 ยังออกอาการเป็นห่วง “อำนาจพิเศษ” ของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ว่าเข้าข่าย “ดาบสองคม”

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

แม้แต่ วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝ่ายกฎหมาย ในฐานะหัวหน้าทีมร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว 2557 ยังออกอาการเป็นห่วง “อำนาจพิเศษ” ของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ว่าเข้าข่าย “ดาบสองคม”

“อนาคตต้องติดตามว่า คสช.จะใช้ประกาศิตนี้ในทางสร้างสรรค์หรือทำลาย ส่งเสริมหรือกำราบ เป็นเหมือนดาบที่มีสองคม เพราะ คสช.อยู่ภายใต้การจับตาของทุกฝ่ายอยู่แล้ว วิธีใช้อำนาจในมาตรา 44 คงไม่ใช่อำนาจประจำวัน หรือนึกจะใช้ก็ใช้ได้ หากไม่เขียนไว้ก็ไม่ได้ เพราะบางเรื่องกฎหมายที่มีอยู่ไม่เพียงพอ แต่มีแล้วจะใช้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง”

สอดรับกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์เทียบเคียงมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ เป็นการปัดฝุ่นมาตรา 17 จากธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ กลับมาใช้ใหม่โดยคงประเด็นเรื่อง “อำนาจพิเศษ” เอาไว้ชัดเจน

คำถามตามมาคือ อำนาจพิเศษนี้มี“เป้าหมาย” เพื่อที่จะไปทำเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ถึงขั้นต้องเปิดช่องให้อำนาจกับหัวหน้า คสช.แบบเบ็ดเสร็จปราศจากการถ่วงดุล รวมถึงการนิรโทษความผิดที่จะเกิดจากการกระทำนั้นๆ ล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่ได้กระทำหรือไม่

ยิ่งหากดูรายละเอียดมาตรา 44 จะเห็นว่าได้เปิดเงื่อนไขสำหรับการใช้อำนาจอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกันระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร

เมื่อรวมกับการให้อำนาจ หัวหน้ากับ คสช.โดยความเห็นชอบของ คสช. สั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำรวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้เป็นที่สุด ยิ่งทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงการกุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ

แม้คำชี้แจงของวิษณุ ที่มองว่าการใช้อำนาจพิเศษเป็นผลที่ตามมาจากการคงไว้ซึ่ง คสช. หาก คสช.ไม่มีแล้วก็ไม่มีความจำเป็น การที่ให้มี คสช.อยู่ก็เพื่อให้ทำหน้าที่บางอย่างที่คณะรัฐมนตรีอาจจะกระทำได้ลำบาก และการที่องค์กรยึดอำนาจยังคงต้องอยู่ต่อ แล้วไม่มีอำนาจพิเศษไว้ในมือ ในบางสถานการณ์ก็ไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ ลงท้ายก็ต้องเกิดการยึดอำนาจซ้อนขึ้นมาอีก

แต่ทว่าไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. จะใช้อำนาจพิเศษได้ถูกอกถูกใจทุกฝ่าย หรือเป็นที่ยอมรับของสังคมได้ทุกกรณี เพราะอำนาจเบ็ดเสร็จนี้ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายต่างๆ

ที่สำคัญจากบทเรียนที่ผ่านมามีตัวอย่างของการใช้อำนาจที่ดูจะเกินกรอบกว่าที่ควรจะเป็น อย่างเช่น ประกาศฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การขอความร่วมมือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ จนเกิดกระแสต่อต้านคัดค้านไม่เห็นด้วยกับคำสั่งเซ็นเซอร์สื่อมวลชน จนสุดท้าย คสช.ต้องยอมปรับเปลี่ยนเนื้อหารายละเอียด

ประกาศครั้งนั้น ระบุถึงขั้นให้งดเว้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. เจ้าหน้าที่ของ คสช. และบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีบทลงโทษถึงขั้นให้ระงับการจำหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งการออกอากาศของรายการดังกล่าวโดยทันที

ถัดมาที่กรณีล่าสุด คำสั่ง คสช. 93/2557 ยกโทษปลดออกจากราชการให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. ตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ซึ่งแม้จะเป็นการกระทำในอำนาจนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังเป็นที่เคลือบแคลงจากหลายฝ่ายว่า เหตุใดถึงให้ความสำคัญหยิบเรื่องนี้ที่ค้างคาอยู่มาออกเป็นประกาศคำสั่ง ทั้งที่ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่มีลักษณะใกล้เคียงกันนี้

ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า การออกคำสั่งครั้งนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร หรือมีใบสั่งจากใครที่ไหนให้รีบดำเนินการหรือไม่ เพราะประเด็นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมาย “ปฏิรูป” หรือเชื่อมโยงกับโรดแมปที่ได้ประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้

ที่สำคัญอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 นี้ กำลังถูกจับจ้องว่าจะเชื่อมโยงไปถึงประเด็น “นิรโทษกรรม” ที่ทาง คสช.ยังอุบไต๋ ไม่ประกาศออกมาว่ามีแนวทางต่อเรื่องการล้างผิดให้กับฝ่ายต่างๆ ในช่วงวิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานมานับ สิบปีนี้อย่างไร

เพราะอย่าลืมว่าประเด็นนิรโทษกรรมนี้เอง ที่ทำให้อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องตัดสินใจยุบสภา เพื่อลดแรงเสียดทานจากกระแสต่อต้านการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง จนปลุกให้ประชาชนเรือนล้านออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน นี่จึงยิ่งทำให้หลายคนสงสัยว่า อำนาจเบ็ดเสร็จที่ปัดฝุ่นกลับมาใส่ไว้ในมาตรา 44 นี้ จะเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมหรือไม่

สอดรับกับก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ เองเคยส่งสัญญาณกลางรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ถึง “คนแดนไกล” ให้เลิกต่อสู้ หันกลับมาร่วมมือปฏิรูปนำพาประเทศชาติไปสู่อนาคตที่ดีในวันข้างหน้า โดยเชื่อว่าคนไทยจะให้อภัย

ทำให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาดักคอ คสช. ก่อนหน้าประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ให้ดูบทเรียนจากอดีตรัฐบาล หากจะเดินหน้านิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง กระทั่งเมื่อมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว ยังได้ออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงความชัดเจนของมาตรา 44ว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลัง หรือเป้าหมายอย่างไร

อีกด้านหนึ่งยังมีการจับตาไปถึงบรรดาคดีความต่างๆ ที่ค้างคาอยู่ในกระบวนการพิจารณาหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ยังมีผลบังคับใช้ ย่อมเปิดช่องให้หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจพิเศษเข้าไปดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด หากเข้าเงื่อนไขที่เปิดกว้างเอาไว้ได้

ปัญหาของ “อำนาจพิเศษ” ตามมาตรา44 นี้ จึงอยู่ที่ “ดุลพินิจ” ของหัวหน้า คสช. ว่าจะตัดสินใจใช้อำนาจ “เบ็ดเสร็จ” อย่างไร และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เปราะบางนับจากนี้ต่อไป รวมทั้งต้องไม่ลืมคำพูดของตัวเองว่า ยิ่งมีอำนาจ ยิ่งต้องทำตัวให้เล็กลง