posttoday

สินเชื่อเพื่อชาติปั๊มหัวใจเอสเอ็มอี

27 พฤษภาคม 2553

งานนี้สินเชื่อต่อลมหายใจเอสเอ็มอีของรัฐบาลน่าจะเป็นมาตรการฝนตกทั่วฟ้าจริงๆต้องวัดใจว่าถ้าวงเงิน 5,000 ล้านบาทแรกไม่พอ รัฐบาลจะมีเงินเพิ่มอีกหรือไม่

งานนี้สินเชื่อต่อลมหายใจเอสเอ็มอีของรัฐบาลน่าจะเป็นมาตรการฝนตกทั่วฟ้าจริงๆต้องวัดใจว่าถ้าวงเงิน 5,000 ล้านบาทแรกไม่พอ รัฐบาลจะมีเงินเพิ่มอีกหรือไม่

โดย...ทีมข่าวการเงิน

มาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลออกมาบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบทางการเมือง

คือให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์|(ธพว.) เป็น “หัวหอก” เร่งปล่อยเงินกู้ 5,000 ล้านบาท

เป็นเงินเติมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการฟื้นชีวิตร้านค้าที่ถูกไฟไหม้ให้มีทุนไว้ซื้อของไปขายในพื้นที่ใหม่ที่หลายหน่วยงานเตรียมจัดไว้ให้

สินเชื่อเพื่อชาติปั๊มหัวใจเอสเอ็มอี

หัวใจสำคัญของมาตรการสินเชื่อนี้ คือ ต้องได้ง่ายและเร็ว นั่นหมายถึง การลดขั้นตอนการยื่นเอกสารที่ยืดเยื้อ ไม่ต้องตรวจสอบเครดิตบูโรให้รำคาญใจ รวมทั้งไม่ตรวจบัญชีย้อนหลัง

ที่สำคัญไม่ต้องใช้ “หลักทรัพย์ค้ำประกัน” แต่ขอให้เป็นคนที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ เท่านั้น

จะเห็นว่ามีผู้ประกอบการหลาย พันราย ที่แห่กันมาต่อคิวลงทะเบียนเพื่อยื่นขอสินเชื่อทั้งที่สยามพารากอน รอยัลพารากอน ฮอล ชั้น 5 และที่เซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่จัดงานเป็นวันแรกเมื่อวันที่ 26พ.ค.

อีกทั้งจะเปิดจุดให้บริการเพิ่มอีก 1 จุด ที่ศูนย์การค้าอัมรินทร์ พลาซ่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการย่านประตูน้ำ ดินแดง และราชประสงค์ มาใช้บริการ

โสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า โครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีนี้เป็นโครงการที่ดอกเบี้ยต่ำมากๆ เพราะกรณีที่ผู้ประกอบการถูกไฟไหม้สามารถยื่นกู้ได้สูงสุด 1 ล้านบาท

แยกเป็น 3 แสนบาทแรก ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่อีก 7 แสนบาทหลัง เสียดอกเบี้ย 3%

ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่ถูกไฟไหม้สามารถกู้ได้สูงสุด 1 ล้านบาท เช่นกัน แต่เสียดอกเบี้ย 3% มีระยะเวลาปลอดเงินต้น 2 ปี ผ่อนได้นาน 6 ปี ไม่ต้องตรวจเครดิตบูโร และสามารถชำระหนี้คืนได้ก่อน 6 ปี โดยไม่เสียค่าปรับ

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการกู้เงินมากกว่า 1 ล้านบาท ธนาคารเตรียมโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีเพาเวอร์ ไทยเข้มแข็ง ไว้รองรับ ปล่อยกู้สูงสุดต่อรายได้มากถึง 5-10 ล้านบาท

โดยปีแรกคิดดอกเบี้ย 5% ปีที่ 2 คิดดอกเบี้ย 5.5% และปีที่ 3 คิดดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำหรือเอ็มแอลอาร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 7%

สุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ ชี้แจงเรื่องหลักเกณฑ์การขอสินเชื่อในโครงการนี้ว่า เอกสารที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมมา คือ 1.สำเนาทะเบียนบ้าน 2.สำเนาบัตรประชาชน 3.สัญญาเช่า หรือหลักฐานที่แสดงให้ทราบได้ว่าเป็นผู้เช่าพื้นที่นั้นจริง 4.ถ้าไฟไหม้ ให้นำเอกสารแจ้งความติดมาด้วย

วิธีการคำนวณค่าผ่อนจะแยกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่ถูกเผา กรณีที่กู้ 3 แสนบาท ปีแรกไม่ต้องจ่ายทั้งต้นและดอกเบี้ย พอเข้าเดือนที่ 13 หรือปีที่ 2 ผ่อนชำระเดือนละ 750 บาท ปีที่ 3-6 (ต้องจ่ายดอกเบี้ย 3%) ผ่อนชำระเดือนละ 6,640 บาท

กรณีที่กู้ 1 ล้านบาท ปีแรกผ่อนเดือนละ1,750 บาท ปีที่ 2 ผ่อนเดือนละ 2,500 บาท และปีที่ 3-6 ผ่อนเดือนละ 2.22 หมื่นบาท

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ไม่ถูกเผา กรณีที่กู้ได้สูงสุด 1 ล้านบาท โดยไม่มีหลักประกัน ใน 2 ปีแรกจะผ่อนชำระค่างวดเดือนละ 2,500 บาท ปีที่ 3-6 ผ่อนค่างวดเดือนละ 2.22 หมื่นบาท

สำหรับวิธีการอนุมัติสินเชื่อจะดูจาก 2 กรณี คือ 1.รายได้เฉลี่ยต่อเดือน ซึ่งจะดูจากเอกสารการเงิน บัญชีเข้าออก หรือการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี สามารถนำมาเป็นหลักฐานการขอสินเชื่อได้

โดยธนาคารจะปล่อยกู้ให้ได้สูงสุด 4 เท่าของรายได้ เช่น รายได้เดือนละ 2 แสนบาท จะกู้ได้ 8 แสนบาท หรือกรณีที่รายได้ 3 แสนบาท คูณ 4 เท่ากับ 1.2 ล้านบาท แต่จะอนุมัติให้ได้แค่ 1 ล้านบาทเท่านั้น

กับวิธีที่ 2 คำนวณจากฐานค่าเช่า สามารถปล่อยกู้ได้สูงสุดถึง 25 เท่า ของค่าเช่ารายเดือน

ทั้งนี้ จะไม่มีการตรวจเครดิตบูโร แต่จะต้องตรวจเรื่องคดีล้มละลาย หรือคดีพิทักษ์ทรัพย์อื่น ถ้าตรวจแล้วไม่ผ่านถือว่าไม่ได้รับสินเชื่อ
งานนี้เอสเอ็มอีแบงก์ยืนยันว่าจะพิจารณาช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนทุกราย เพียงผู้กู้เตรียมเอกสารมาให้ครบภายใน 7 วัน อนุมัติสินเชื่อได้ทันที ซึ่งในการเปิดให้ลงทะเบียนวันแรกเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้วหลังการเปิดให้ยื่นเรื่องเพียงไม่ถึง 2 ชั่วโมง เป็นผู้ประกอบการทำร้านถักผมอยู่บนชั้น 2 ของโรงหนังสยาม

ส่วนอารมณ์ความรู้สึกของผู้สูญเสียนั้น ...

สัมฤทธิ์ เคนสุวรรณ เคยเปิดร้านขายรองเท้า Lady 2000 ในห้างเซ็นเตอร์วัน กล่าวด้วยเสียงที่สั่นเครือว่า ความรู้สึกเหมือนฟ้าผ่า แม้วันนี้ร้านและห้างทั้งห้างจะถูกเผาไปหมดแล้ว แต่พี่ยังคิดว่ายังมีร้านอยู่ ยังหลอกตัวเองอยู่เพื่อให้เกิดกำลังใจ

เมื่อร้านนี้คือร้านเดียว คือชีวิตของเรา ที่ทำมาค้าขายที่นี่มานานถึง 10 ปี รายได้ที่หาได้ก็ต้องเอามาไว้เลี้ยงครอบครัว คือ แม่และหลาน รวมถึงตัวเอง

“สถานการณ์ตอนนี้ชีวิตไม่เหลืออะไรแล้ว ทุกอย่างอยู่ในสภาพติดลบศูนย์ ไม่ใช่แค่ศูนย์ เพราะเธอยังมีหนี้สินที่เกิดจากการสั่งซื้อสินค้าไว้อีก” สัมฤทธิ์ กล่าว

สัมฤทธิ์ บอกว่า บิลค่าไฟฟ้าเดือนที่ผ่านมามียอดเงินที่ต้องจ่ายให้การไฟฟ้ากว่า 500 บาท ยังไม่กล้าควักเงินจ่าย เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ตอนนี้มีค่าต่อตัวเองและครอบครัว

โดยขณะนี้ต้องการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล คือ อาจให้รัฐบาลช่วยเจรจากับบริษัทประกันภัยให้ เพราะบริษัท ทิพยประกันภัย เป็นบริษัทที่เธอทำประกันอัคคีภัยเอาไว้ ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินชดเชย

“กว่าห้างจะเสร็จก็อีกปีครึ่ง คงรอให้ถึงวันนั้นไม่ได้ หรือไม่ก็อยากได้เงินชดเชยของที่ไหม้จากรัฐบาล ส่วนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำก็อยากได้ แต่ชีวิตนี้ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากเป็นหนี้ใคร” สัมฤทธิ์ กล่าว

ชุตินธร ศักดิ์พลาดิศัย ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท โฟร์.พี.โคลทติ้ง ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายเสื้อผ้าเด็กในห้างสรรพสินค้าชื่อดังหลายแห่ง ยอมรับว่ากิจการบริษัทได้รับผลกระทบมาก เพราะมีร้านในห้างเซนของเซ็นทรัลเวิลด์ ที่นำสินค้าไปฝากขาย ถูกเผาทำให้สินค้าในสต๊อกกว่า 9 แสนบาท และของตกแต่งร้านทั้งหมดได้รับความเสียหาย 100%

นอกจากนี้ ยังมีเคาน์เตอร์ที่ขายสินค้าของบริษัทในห้างอิเซตันอีก 4 จุด ในสยามพารากอนอีก 5 จุด ก็ถูกปิดกิจการ รวมทั้งที่เซ็นทรัลสาขาชิดลมยอดขายก็ตกไปกว่า 70-80% รวมแล้วผลกระทบที่เกิดจากยอดขายลดลงต่อเดือนน่าจะไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท

ยังไม่นับรวมค่าจ่ายเงินเดือนของพนักงานขาย ซึ่งทางบริษัทยังจ่ายเต็มเดือน!!

สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วย คือ เงินชดเชยกรณีร้านที่ถูกไฟไหม้ และสภาพคล่อง คือ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นทุนหมุนเวียน รวมทั้งต้องการให้รัฐผ่อนผันเรื่องการชำระภาษีให้ด้วย

ด้าน ตุ้ย เปิดร้านจำหน่ายเสื้อสำเร็จรูปที่ห้างแพลทินัม ได้รับผลกระทบยอดขายตกไปกว่า 70% ของยอดขายเฉลี่ยที่ 5 แสนบาทต่อเดือน ขณะที่มีภาระเรื่องค่าเช่าเดือนละแสนบาท ค่าซื้อผ้า ค่าจ้างตัดเย็บที่ยังค้างไว้ จึงต้องการขอให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้ รวมถึงต้องการเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำมาเป็นทุนหมุนเวียน เพราะเชื่อว่าแม้สถานการณ์จะสงบลง แต่ลูกค้าหลักของร้านคือชาวต่างชาติ ยังไม่กล้าเข้ามาเลือกซื้อสินค้า เพราะยังไม่เชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัย

“ยอดขายลดลงฮวบๆ จากที่เคยขายได้ 2-3 หมื่นบาทต่อวัน เหลือแค่ 600-700 บาทต่อวัน รายได้แทบไม่พอจ่ายเงินให้ลูกจ้างอีก 2 คน จึงอยากให้รัฐบาลมีสินชื่อดอกเบี้ยต่ำไว้ช่วยประชาชน” ตุ้ย กล่าว

ดูแล้วว่างานนี้สินเชื่อต่อลมหายใจเอสเอ็มอีของรัฐบาลน่าจะเป็นมาตรการฝนตกทั่วฟ้าจริงๆ

ต้องวัดใจว่า ถ้าวงเงิน 5,000 ล้านบาทแรกไม่พอ รัฐบาลจะมีเงินเพิ่มอีกหรือไม่!!!