posttoday

วัดใจ"คสช."ตั้งมาตรา17จุดเสี่ยงรธน.ชั่วคราว

07 กรกฎาคม 2557

ประเด็นที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ อำนาจของ คสช.รวมถึงว่าที่นายกฯ ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตอาจเห็นการปัดฝุ่น “มาตรา 17”

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ใกล้คลอดเต็มทีสำหรับรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2553 ที่เบื้องต้น วิษณุ เครืองาม ยกร่างเสร็จเรียบร้อย 45 มาตรา โดยที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณามีความเห็นให้ปรับแก้เล็กน้อย คาดว่าจะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยได้ไม่เกินเดือน ก.ค.นี้

นอกจากนี้ ต้องติดตามดูกรอบกติกาที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะกำหนดอำนาจหน้าที่ รูปแบบ “กลไก” ที่จะมาดำเนินการ “ปฏิรูป” นับจากนี้ไม่ว่าจะเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

อีกประเด็นที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ อำนาจของ คสช.รวมถึงว่าที่นายกฯ ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตอาจเห็นการปัดฝุ่น “มาตรา 17” ที่เคยปรากฏอยู่ในธรรมนูญปกครองหลายฉบับ ว่าด้วยเรื่องการให้อำนาจผู้นำแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกลับมาใช้ใหม่ รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ เพื่อความคล่องตัวในการเดินหน้า “ปฏิรูป”

จุดเริ่มต้นของมาตรา 17 เกิดขึ้นในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 โดยมี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งเนื้อหาระบุว่า

“ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกฯ เห็นสมควร เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร หรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวน หรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกฯ โดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายกฯ ได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกฯ แจ้งให้สภาทราบ”

บทบัญญัติดังกล่าวถือเป็นการให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้กับฝ่ายบริหาร โดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุล รวมทั้งตัดตอนความผิดที่อาจเกิดขึ้นจากฝ่ายบริหารให้เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีความผิด
ที่สำคัญยังพบว่าเนื้อหาในมาตราดังกล่าวยังคงสืบทอดต่อเนื่องมาถึงในธรรมนูญการปกครองหลายฉบับหลังการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 แม้จะเปลี่ยนมาตราไปเป็นมาตรา 21 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 หรือมาตรา 27 ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520

คำถามที่เกิดขึ้นเวลานี้คือ ณ สภาพการณ์ปัจจุบันยังคงจำเป็นที่จะต้องเปิดช่องให้อำนาจฝ่ายบริหารแบบล้นมืออีกต่อไปหรือไม่ โดยเฉพาะบทเรียนจากการใช้อำนาจผ่านมาตรา 17 ในช่วงเวลาที่ผ่านมาถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ถึงการทำเกินกว่าเหตุ ละเมิดสิทธิมนุษยชน ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล

ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย การสั่งประหารชีวิตบ้านต้นเพลิงที่ตลาดพลู การสั่งยึดทรัพย์ จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม กิตติขจร การสั่งยึดทรัพย์ จอมพลถนอม โดย สัญญา ธรรมศักดิ์

เหตุผลดังกล่าวทำให้รัฐธรรมนูญชั่วคราวหลังการรัฐประหาร 2 ครั้ง ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏเนื้อหาตามมาตรา 17 แต่ด้วยบุคลิกความขึงขังเอาจริงเอาจังและท่าทีแข็งกร้าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ทั้งการประกาศล้างกลุ่มอิทธิพล มาเฟีย ยาเสพติด วินรถตู้ มอเตอร์ไซค์ ตู้ม้า สลากกินแบ่งรัฐบาล ฯลฯ ทำให้มีกระแสว่าอาจต้องเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหารเพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินการเรื่องต่างๆ แม้จะต้องตามมาด้วยแรงเสียดทานอีกมากมาย

ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ว่าสถานการณ์ขณะนี้ไม่จำเป็นต้องให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกับฝ่ายบริหารขนาดนั้น เพราะอำนาจของ คสช.ภายใต้กฎอัยการศึกมีเพียงพออยู่แล้ว และที่ผ่านมามาตรา 17 ให้อำนาจฝ่ายบริหารในอดีตมากเกินไป ทั้งการแทรกแซงการทำงานของศาล การไปลงโทษผู้กระทำผิดแบบเด็ดขาด ซึ่งจะถูกมองได้ว่าไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

เจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการอิสระ ระบุว่า การมีมาตรา 17 คงไม่เหมาะสม หากจำเป็นที่ คสช.ต้องรักษาอำนาจก็ควรไปดูเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ที่ยึดโยงอำนาจคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ผ่านกลไกอื่นๆ ไม่ใช่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือเหมือนรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยจัดการมาเฟีย วินมอเตอร์ไซค์ ยาเสพติด ก็ทำผ่านกลไก ทหาร ตำรวจ ดังนั้นแต่ละเรื่องไม่จำเป็นที่ คสช.จะต้องดำเนินการเองทั้งหมด

นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องการป้องกันการเช็กบิล คสช.ในภายหลังนั้นก็ไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ควรไปดำเนินการในส่วนอื่นๆ ที่ทีมงาน คสช.จะต้องไปหาวิธีต่อไป อย่างการนิรโทษที่จะทำให้จบแล้วจบเลยไม่สามารถฟ้องร้องทั้งทางแพ่ง ทางปกครอง ทางอาญาได้ ไม่เช่นนั้นต่อไปก็จะเป็นปัญหาอีก หากบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วมีคนไปแก้ไข

นับจากนี้ จึงต้องวัดใจว่า คสช.จะตัดสินใจกระชับอำนาจของตัวเองผ่านรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 อย่างไร เนื้อหาตามมาตรา 17 ที่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ในอดีตจะถูกปัดฝุ่นกลับมาอยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้หรือไม่อย่างไร