posttoday

เด้ง"อัยการสูงสุด"หนาวสะท้านถึง"ยิ่งลักษณ์"

13 มิถุนายน 2557

เวลาสามทุ่มของวันที่ 11 มิ.ย. นับเป็นห้วงเวลาที่เกิดฟ้าผ่าครั้งใหญ่อีกครั้ง เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เวลาสามทุ่มของวันที่ 11 มิ.ย. นับเป็นห้วงเวลาที่เกิดฟ้าผ่าครั้งใหญ่อีกครั้ง เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่ง คสช.ที่ 62/2557 โยกย้ายข้าราชการระดับปลัดกระทรวงและเทียบเท่าถึง 3 ตำแหน่ง มาปฏิบัติราชการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

1.“สุวิจักขณ์ นาควัชระชัย” เลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร และให้รองเลขาธิการสภาฯ ซึ่งมีอาวุโสสูงสุด เป็นผู้รักษาราชการแทน

2.“อรรถพล ใหญ่สว่าง” อัยการสูงสุด และให้ “ตระกูล วินิจนัยภาค” รองอัยการสูงสุด มารักษาราชการแทน

3.“สุรชัย ศรีสารคาม” ปลัดกระทรวง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และให้ “เมธินี เทพมณี” ผู้ตรวจราชการกระทรวงไอซีที เป็นผู้รักษาราชการแทน

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ในช่วงแรกของการรัฐประหาร ทาง คสช.ก็ได้ทำการเขย่าระบบราชการทหารและพลเรือนครั้งใหญ่มาแล้วรอบหนึ่ง ผ่านการโยกย้าย “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” ผบ.ตร. “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ “พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก” ปลัดกระทรวงกลาโหม ให้มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี

การโยกย้ายในครั้งนั้นแสดงออกถึงนัยของ คสช.ที่ต้องการจัดโครงสร้างงานด้านความมั่นคงใหม่ทั้งหมด เพราะคนเดิมที่อยู่ในตำแหน่งดังกล่าว ล้วนเป็นขุนพลที่ร่วมกันค้ำเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มาก่อนแทบทั้งสิ้น ซึ่งจะว่าไปก็ไม่แปลกที่ คสช.จะใช้อำนาจล้างบาง

แต่สำหรับการโยกย้ายที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ถือว่ามีความหมายที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะกรณีของ “อรรถพล ใหญ่สว่าง”

ต้องไม่ลืมว่าอัยการสูงสุดถือเป็นส่วนราชการที่มีสถานะประหนึ่งองค์กรอิสระตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 และถูกรับรองให้เป็นหนึ่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะถูกยกเลิกไปแล้วก็ตาม

คำสั่งของ คสช.ที่เกิดขึ้น ย่อมถูกมองได้ด้านหนึ่งว่าเป็นการล้วงลูกองค์กรอิสระ แต่เมื่อ คสช.ยอมแลกกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่จะตามมาแล้ว แน่นอนว่า คสช.ย่อมหวังผลอะไรบางประการจากการเปลี่ยนตัวอัยการสูงสุด

การหวังผลของ คสช.ที่ว่านั้น คือ การเคลียร์เส้นทางเพื่อให้คดีต่างๆ สามารถเข้าสู่ระบบการพิจารณาของศาลได้รวดเร็วมากขึ้น

เป็นไปได้ที่ คสช.อาจมองบทเรียนจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ในบริบทที่ว่า แม้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะสามารถตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ แต่ในระหว่างการทำงาน ปรากฏว่า คตส.ต้องเจอกับอุปสรรคพอสมควร ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการมีดุลพินิจของอัยการสูงสุดในขณะนั้น

ดังจะเห็นได้จากกรณีที่อัยการสูงสุดไม่ยอมฟ้องคดีทุจริตในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายคดี ทำให้ คตส.ต้องส่งมอบให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นธุระนำคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาฯ แทน เช่น คดีโครงการจัดซื้อต้นกล้ายางพารา หรือ คดีการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว (หวยบนดิน) เป็นต้น

เช่นเดียวกับท่าทีของอัยการสูงสุดต่อคดีการชุมนุมทางการเมืองก็เป็นไปอย่างสวนทางกัน กล่าวคือ อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล จากกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 แต่กลับไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ในข้อหาก่อการร้าย

คสช.จึงเห็นว่าหากปล่อยยังไม่เข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในสำนักงานอัยการสูงสุด ย่อมเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยแบบ คตส.ในอดีตอีกครั้ง เพราะขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำลังเร่งตรวจสอบคดีทุจริตในรัฐบาลยิ่งลักษณ์หลายคดี

อย่าง “การทุจริตโครงการรับจำนำข้าว” แม้ ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดยิ่งลักษณ์และส่งให้วุฒิสภาถอดถอนไปแล้ว แต่ในส่วนความผิดทางอาญานั้น ป.ป.ช.ก็ใกล้ที่จะสรุปสำนวนเข้าไปทุกขณะ ภายหลังได้ไต่สวนพยานปากสำคัญจากกระทรวงการคลังและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เสร็จไปแล้ว

เหลือเพียงตัดสินใจว่าจะไต่สวนพยานเพิ่มเติมตามที่ทนายความของยิ่งลักษณ์ร้องขอหรือไม่ ถ้า ป.ป.ช.เห็นว่าไม่จำเป็นก็สามารถพิจารณาต่อได้ทันทีว่าจะชี้มูลความผิดหรือไม่ทันที

การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น อัยการสูงสุดคือคนกลั่นกรองว่าจะส่งฟ้องศาลฎีกาฯ หรือไม่ แม้กฎหมายจะยอมให้ ป.ป.ช.ฟ้องคดีเองได้ในกรณีที่อัยการสูงสุดไม่สั่งฟ้อง แต่หากอัยการในฐานะทนายแผ่นดินได้เป็นผู้ทำหน้าที่ฟ้องคดีเองย่อมเป็นผลดีมากกว่า

ดังนั้น การตัดสินใจเข้าไปมีบทบาทในสำนักงานอัยการสูงสุดของ คสช.ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการส่งสัญญาณเบื้องต้นว่าด้วยการปฏิรูปอัยการ แต่ยังทำให้โอกาสที่ยิ่งลักษณ์ต้องก้าวเท้าเข้าสู่ห้องพิจารณาคดีในศาลฎีกาฯ เริ่มมีความเป็นไปได้มากขึ้น